×

‘แบงก์ชาติเกาหลี’ เลิกขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบกว่า 1 ปีครึ่ง ประกาศ ‘คง’ ดอกเบี้ยอ้างอิงไว้ที่ 3.5% หลังเศรษฐกิจชะลอตัว

23.02.2023
  • LOADING...
แบงก์ชาติเกาหลี

‘แบงก์ชาติเกาหลี’ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงไว้ที่ 3.5% เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 1 ปีครึ่ง ท่ามกลางแรงกดดันเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจ แต่ยังเปิดประตูไว้สำหรับการขึ้นดอกเบี้ยอีกในอนาคต หากเงินเฟ้อกดดันอีก

 

วันนี้ (23 กุมภาพันธ์) ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3.5% นับเป็นการยุติการขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 1 ปีครึ่ง โดยกล่าวว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวในอัตราที่ช้ากว่าประเทศอื่น

 

ย้อนกลับไปตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2021 ธนาคารกลางเกาหลีใต้ก็เป็นธนาคารกลางแรกๆ ของโลกที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 7 ครั้งติดต่อกัน เพื่อชะลอการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ท่ามกลางการฟื้นตัวของการระบาดใหญ่ 

 

การตัดสินใจของ BOK ครั้งนี้เป็นไปตามการคาดการณ์ของตลาด ซึ่งประเมินว่า BOK จะยุติวงจรการขึ้นดอกเบี้ย เมื่อพิจารณาว่าเศรษฐกิจอยู่ในขาลง อัตราเงินเฟ้อกำลังชะลอตัว ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน ตลอดจนผลกระทบของนโยบายการเงินที่ตึงตัวในประเทศและต่างประเทศ

 

Ahn Yea Ha นักวิเคราะห์จาก Kiwoom Securities Co กล่าวว่า สำหรับตอนนี้ BOK มีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ ก่อนจะปรับลดในไตรมาสที่ 4 สอดคล้องกับนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ซึ่งมองว่า 3.5% คือ Terminal Rate สำหรับรอบการรัดเข็มขัดครั้งปัจจุบัน แต่ BOK ยังคงเปิดทางไว้สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง โดยมุ่งเน้นไปที่การควบคุมอัตราเงินเฟ้อ

 

แถลงการณ์ระบุว่า “อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงเหนือระดับเป้าหมาย แม้ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจภายในประเทศจะชะลอตัวลง โดยคณะกรรมการนโยบายการเงินจะรักษาจุดยืนนโยบายที่ตึงตัวต่อไป โดยมุ่งไปที่การสร้างเสถียรภาพด้านราคา”

 

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจของ BOK ยังสวนทางกับธนาคารกลางแห่งอื่นๆ ของโลก รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) ซึ่งได้ส่งสัญญาณว่าจะคงนโยบายการเงินที่ตึงตัวต่อไป เพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ

 

โดยการเคลื่อนไหวของ BOK ในวันนี้ ทำให้ช่องว่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐฯ อยู่ที่ 1.75% ซึ่งนับว่าสูงจากสถิติเดิมที่ 1.5% เมื่อปี 2000 ท่ามกลางความกังวลว่าช่องว่างที่กว้างขึ้นจะนำไปสู่การไหลออกของเงินทุนต่างประเทศ และการอ่อนค่าของเงินวอนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

 

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวในอนาคตของ Fed อาจส่งผลต่อความคิดของ BOK ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เนื่องจากบางฝ่ายมองว่าการอ่อนค่าของเงินวอนคือตัวขับเคลื่อนสำคัญในการตัดสินใจของ BOK ในฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้ว เนื่องจากการอ่อนค่าทำให้ต้นทุนการนำเข้าอาหารและพลังงานสูงขึ้น โดยจนถึงปีนี้เงินวอนกลายเป็นหนึ่งในสกุลเงินเอเชียที่แข็งแกร่งที่สุด

 

BOK ยังได้จัดทำประมาณการเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อล่าสุด ซึ่งแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยจากประมาณการของเดือนพฤศจิกายน โดยการเติบโต GDP ในปีนี้ถูกเขยิบลงมาที่ 1.6% จาก 1.7% และอัตราเงินเฟ้อก็ปรับลดลงเป็น 3.5% จาก 3.6%


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising