อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 2 ปี พุ่งขึ้นเหนือศูนย์เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2015 หลังธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ตัดสินใจขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว เป็นการปูทางไปสู่การใช้นโยบายตึงตัว ส่งผลให้พันธบัตรที่มีผลตอบแทนต่ำกว่าศูนย์ทั่วโลกลดลงอย่างมาก
วันนี้ (21 ธันวาคม) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 2 ปี เพิ่มขึ้นมากถึง 0.02% (2 Basis Points) แตะ 0.01% ตามข้อมูลจาก Japan Bond Trading Co. ขณะที่พันธบัตรที่มีอัตราผลตอบแทนต่ำกว่าศูนย์ทั่วโลกหดตัวเหลือ 6.86 แสนล้านดอลลาร์ จากกว่า 11 ล้านล้านดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2021 เนื่องจากทั่วโลกหันมาใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นในปีนี้ ส่งผลให้พันธบัตรเข้าสู่ตลาดหมีเป็นครั้งแรกในชั่วอายุคน
การตัดสินใจที่สร้างความประหลาดใจให้ตลาดของ BOJ ในการขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวเป็น -0.5 ถึง +0.5% ส่งผลให้ราคาพันธบัตรร่วงลงทั่วโลก เนื่องจากนักลงทุนมองว่า ธนาคารกลางรายใหญ่แห่งสุดท้ายของโลกที่จะยึดติดกับนโยบายผ่อนคลายการเงินพิเศษในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาหรือมากกว่านั้น ในที่สุดก็มีแนวโน้มจะใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวแล้ว
อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นับเป็นการเพิ่มความกังขาเกี่ยวกับความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเงินเยนอ่อนค่าจนแตะระดับอ่อนค่าที่สุดในรอบกว่า 30 ปี จนสร้างความไม่พอใจไปทั่วประเทศ
นักวิเคราะห์ของ Goldman Sachs Group รวมถึง นาโอฮิโกะ บาบะ ระบุว่า เราเชื่อว่าการตัดสินใจเชิงนโยบายครั้งต่อไปของ BOJ น่าจะเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญ เช่น การเปลี่ยนเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะยาวหรือระยะสั้น หรือการยกเลิกการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve Control)
สำหรับตอนนี้ BOJ ยังคงกำลังปกป้องนโยบาย Yield Curve Control โดยธนาคารกลางได้ประกาศซื้อพันธบัตรรัฐบาลอายุ 3-10 ปี แบบไม่ได้วางแผนไว้ รวมมูลค่า 2 แสนล้านเยน หลังจากที่อัตราผลตอบแทนอายุ 10 ปีเพิ่มขึ้นแตะเพดาน 0.5%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ทำความรู้จัก บอนด์ยีลด์ Bond Yield ผลตอบแทนพันธบัตร เกี่ยวข้องกับตลาดหุ้นอย่างไร
- จีนถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่มครั้งแรกในรอบ 8 เดือน สวนทางญี่ปุ่นถือลดลง
- ปริมาณการถือครองพันธบัตรรัฐบาลของ BOJ พุ่งทำสถิติทะลุ 50%
อ้างอิง: