×

บีโอไอจีบ 10 บิ๊กคอร์ปไต้หวัน-จีน ตั้งฐานผลิตแผงวงจร PCB ทุ่มสร้างศูนย์ทดสอบ จ้างนักวิจัย 500 คน สร้างโรงงานผลิต ‘ชิป’ ต้นน้ำ

29.03.2024
  • LOADING...
แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์

บอร์ดบีโอไอไฟเขียวปรับปรุงกิจการในกลุ่มแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board: PCB) ป้อนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เว้นภาษี 8 ปี เจาะ10 บิ๊กคอร์ปจีน-ไต้หวัน ตั้งฐานผลิตในไทยเพิ่ม พร้อมลุยเป้าหมายการลงทุนปี 2567 โรงงานเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำ ทุ่มสร้างศูนย์ทดสอบชิปขั้นสูงมูลค่าลงทุน 20,000 ล้านบาท จ้างนักวิจัย 500 คน  

 

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวหลังการประชุมที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งมี ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน ว่าด้วยกระแสการโยกย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่จากแรงกดดันของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ของโลก เป็นโอกาสของไทยที่จะได้รับอานิสงส์โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอย่างอิเล็กทรอนิกส์ โดยที่ผ่านมาเห็นได้จากมีคำรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม PCB แล้วประมาณ 40 บริษัท ทั้งจากประเทศจีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น มีมูลค่าลงทุนรวมกันกว่า 1 แสนล้านบาท กระทั่งมีบริษัทชั้นนำจาก 20 อันดับโลกเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรม PCB ในไทยแล้วประมาณ 10 บริษัท ดังนั้นยังมีอีก 10 บริษัทที่เหลือที่บีโอไอมองว่าจะต้องดึงดูดการลงทุนเร็วๆ นี้ โดยหลักๆ จะมองไปที่บริษัทจากจีนและไต้หวัน และญี่ปุ่นบางส่วน โดยคาดว่าแต่ละบริษัทจะลงทุนอย่างน้อยรายละไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท

 

 

“หลายคนอาจไม่ทราบว่าจริงๆ แล้วอุตสาหกรรม PCB สำคัญมาก มีมูลค่าสูงและ ครอบคลุมตลอดซัพพลายเชน เราต้องการสร้างคลัสเตอร์ PCB ให้เป็นคลัสเตอร์อุตสาหกรรมใหม่ และที่สำคัญ PBC เป็นแผงวงจรที่รวบรวมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) เข้าด้วยกัน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวมาเป็นฐานการผลิต PCB อันดับ 1 ของอาเซียน” นฤตม์กล่าว 

 

ดังนั้น จากนี้นักลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบที่นำมาผลิตเพื่อส่งออก และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี โดยจำแนกตามความสำคัญของวัตถุดิบ เทคโนโลยี และขนาดการลงทุน

 

ทั้งนี้ นฤตม์กล่าวก่อนหน้านี้ในการสรุปผลการดำเนินงานด้านการลงทุนของรัฐบาลว่า การลงทุนในประเทศครั้งนี้เป็นคลื่นการลงทุนลูกใหม่ ‘New Wave’ ในรอบ 30 ปี ด้วยปัจจัยเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ และปัจจัยต่างๆ ปี 2566 บีโอไอได้รับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนมูลค่ารวม 8.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 9 ปี เมื่อพิจารณาเฉพาะมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีการเติบโตสูงถึง 72% จากปีก่อน  

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในการลงทุนที่จะเห็นชัดเจนในปีนี้คือ โรงงานเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำเพื่อผลิตแผ่นเวเฟอร์ส่วนประกอบสำคัญของชิปต้นน้ำ ที่เบื้องต้นคาดว่าจะมีการลงทุนโดยบริษัท Hana Electronic จะช่วยทำให้ไทยเริ่มมีการลงทุนอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง    

 

นฤตม์มองว่า “เรื่องชิปต้นน้ำในแต่ละประเทศมีจุดแข็งที่ต่างกัน ซึ่งการลงทุนอุตสาหกรรมนี้แน่นอนว่าต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ทักษะแรงงานสูง อีกทั้งอุตสาหกรรมนี้ต้องการใช้น้ำค่อนข้างสูง โดยโรงงานประเภทนี้ในอาเซียนมีเฉพาะที่สิงคโปร์ มาเลเซีย ยังไม่มีในเวียดนาม ฉะนั้นยืนยันว่าไทยมีความพร้อมมากเช่นกัน”

 

 

ดังนั้นวันนี้จึงเป็นจังหวะและโอกาสที่ดีของไทย บีโอไอจึงวางแผนการลงทุนในศูนย์ทดสอบชิปขั้นสูงมูลค่าลงทุน 20,000 ล้านบาท เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมให้มีมูลค่าสูง เตรียมจ้างนักวิจัย 500 คน โฟกัสไปที่กลุ่มคลัสเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ และคาดหวังว่าจะมีการจ้างงานหลายพันตำแหน่ง 

 

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการลงทุนใน ‘กิจการจัดงานมหกรรมดนตรี กีฬา และเทศกาลนานาชาติ’ เพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางในการจัดงานระดับโลก (World Class Events) และเป็นศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยวของภูมิภาค (Tourism Hub)

“หากลงทุน 100 ล้านบาทขึ้นไป ไทยจะเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร-อุปกรณ์ วีซ่า และใบอนุญาตทำงานสำหรับศิลปิน” นฤตม์กล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X