×

มรสุมวิกฤตโบอิ้งสู่แรงสั่นสะเทือนอุตสาหกรรมการบินสหรัฐฯ ใครต้องรับผิดชอบกรณี Boeing 737 MAX 8

20.03.2019
  • LOADING...
boeing737max8

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • โบอิ้งเผชิญวิกฤตครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบกว่า 50 ปี หลังเครื่องบิน Boeing 737 MAX 8 ของสองสายการบินประสบอุบัติเหตุตกในเวลาห่างกันเพียง 5 เดือน โดยรายงานเบื้องต้นบ่งชี้ว่าปัญหาอาจเกิดจากซอฟต์แวร์ที่ทำให้ระบบเซนเซอร์บนเครื่องบินทำงานผิดปกติ
  • การตรวจสอบสาเหตุการตกของเครื่องบินไลอ้อนแอร์และเอธิโอเปียนแอร์ไลน์ส ทำให้พบความบกพร่องตั้งแต่กระบวนการรับรองความปลอดภัยและการออกใบอนุญาตของสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA) ขณะที่กระทรวงยุติธรรมและกระทรวงคมนาคมของสหรัฐฯ ได้เปิดฉากตรวจสอบ FAA ท่ามกลางกระแสข่าวว่าหน่วยงานดังกล่าวอาจรวบรัดขั้นตอนการประเมินความปลอดภัยของเครื่องบินดังกล่าว

งานเปิดตัว Boeing 777X เครื่องบินโดยสารที่ยาวที่สุดในโลกและเป็นไพ่เด็ดของโบอิ้งในการต่อกรกับแอร์บัสดูกร่อยไปไม่น้อย ท่ามกลางมรสุมระลอกใหญ่ที่กำลังถาโถมเข้าใส่ผู้ผลิตเครื่องบินพาณิชย์รายใหญ่ของโลก สืบเนื่องจากอุบัติเหตุการตกของเครื่องบิน Boeing 737 MAX 8 รุ่นใหม่เอี่ยม 2 ลำภายในเวลาห่างกันเพียง 5 เดือน ซึ่งทำให้เกิดข้อกังขาต่างๆ นานาถึงความปลอดภัยของเครื่องบินขนาดกลางที่ได้ชื่อว่าทรงประสิทธิภาพที่สุดรุ่นหนึ่งของโลก

 

อันที่จริงโบอิ้งเองก็ไม่ต้องการให้งานเปิดตัว Boeing 777X ที่โรงงานใกล้กับซีแอตเทิลเอิกเกริกนัก เพราะส่วนหนึ่งก็เพื่อให้เกียรติเหยื่อเคราะห์ร้าย 157 คนที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินตกในเอธิโอเปียเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

ข้อมูลเบื้องต้นที่กู้ได้จากกล่องดำของเครื่องบินสายการบินเอธิโอเปียนแอร์ไลน์ส เที่ยวบิน 302 ทั้งอุปกรณ์บันทึกข้อมูลการบินและเสียงในห้องนักบิน บ่งชี้ว่านักบินตรวจพบปัญหาหลังนำเครื่องเทกออฟออกจากสนามบินในกรุงอาดดิสอาบาบาได้ไม่กี่นาที ซึ่งต่อมานักบินพยายามนำเครื่องบินวกกลับสนามบิน แต่ก็สูญเสียการควบคุมและตกในที่สุด  

 

รัฐบาลเอธิโอเปียตั้งข้อสังเกตว่าโศกนาฏกรรมทางอากาศของเอธิโอเปียมีความคล้ายคลึงกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับสายการบินไลอ้อนแอร์ เที่ยวบิน 610 ที่ตกในทะเลชวา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เพราะเกิดขึ้นกับเครื่องบินรุ่นเดียวกันคือ Boeing 737 MAX 8

 

นอกจากนี้เครื่องบินทั้งสองลำยังประสบอุบัติเหตุตกหลังจากที่เทกออฟไม่นานเช่นกัน ขณะที่กัปตันบนเครื่องบินก็ล้วนแต่เปี่ยมด้วยประสบการณ์ โดยที่เก็บชั่วโมงบินมาแล้วหลายพันชั่วโมงทั้งคู่

 

ข้อมูลจากไลอ้อนแอร์ระบุว่ากัปตันเที่ยวบิน 610 มีประสบการณ์การบินมากว่า 6,000 ชั่วโมง ขณะที่กัปตันเที่ยวบิน 302 ของเอธิโอเปียนแอร์ไลน์สมีประสบการณ์การบินกว่า 8,100 ชั่วโมง นอกจากนี้นักบินผู้ช่วยของทั้งสองลำก็เก็บชั่วโมงบินมามากถึง 5,000 และ 350 ชั่วโมงตามลำดับ ขณะที่เกณฑ์ที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ของสหประชาชาติแนะนำคือนักบินเครื่องบินพาณิชย์ควรมีประสบการณ์การบินอย่างน้อย 150 ชั่วโมง ขณะที่สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหรัฐฯ (FAA) กำหนดไว้สูงถึง 1,500 ชั่วโมงเลยทีเดียว

 

อีกสิ่งหนึ่งที่คล้ายกันของอุบัติเหตุทั้งสองกรณีนี้คือนักบินทั้งสองเที่ยวบินต่างก็รายงานถึงปัญหาผิดปกติที่เกิดขึ้น และขอนำเครื่องบินกลับสนามบินก่อนที่เครื่องบินจะตกเหมือนกัน

 

แม้การตรวจสอบสาเหตุการตกของเครื่องบิน Boeing 737 MAX 8 อาจต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนจึงจะได้ข้อสรุป แต่โบอิ้งก็ยอมรับว่าเครื่องบินรุ่นนี้อาจมีปัญหาที่ตัวซอฟต์แวร์ ด้วยเหตุนี้จึงได้พัฒนา Patch ออกมาแก้จุดบกพร่องของซอฟต์แวร์เพื่ออัปเกรดระบบควบคุมการบินที่เรียกว่า Maneuvering Characteristics Augmentation System หรือ MCAS เพื่อช่วยให้เครื่องบินสามารถตอบสนองได้ดีขึ้นหากเกิดกรณีที่ระบบเซนเซอร์ทำงานผิดพลาด

 

เพราะรายงานเบื้องต้นจากคณะกรรมการสอบสวนของอินโดนีเซียระบุว่า สาเหตุที่เครื่องบินไลอ้อนแอร์ตกอาจเกิดจากระบบเซนเซอร์ที่รายงานผิดพลาดว่าเครื่องบินกำลังสูญเสียแรงยก ส่งผลให้ระบบ MCAS ที่มีฟีเจอร์ป้องกันการสูญเสียการทรงตัวเข้าใจผิด และพยายามจะกดส่วนหัวของเครื่องบินต่ำลงเพื่อลดมุมปะทะ (Angle of Attack) เพื่อให้เครื่องบินเกิดแรงยกและพยุงตัวด้วยความเร็วที่เพียงพอในการบินต่อไปได้อย่างปลอดภัย

 

ตรงนี้อธิบายเพิ่มเติมได้ว่าระบบ MCAS ของ Boeing 737 MAX จะทำงานอัตโนมัติเมื่อพบว่าเครื่องบินเปิดมุมปะทะมากเกินไปโดยที่ไม่สัมพันธ์กับความเร็วลมและระดับความสูง ซึ่งพอระบบเข้าใจว่าเครื่องบินกำลังเชิดหัวมากเกินไปหรือบินช้าไปจนเสี่ยงสูญเสียแรงยกและร่วงหล่น หางหลังแนวระดับของเครื่องบิน (Horizontal Stabilizer) จะกระดกขึ้นเพื่อบังคับส่วนหัวเครื่องบินให้ต่ำลง แต่ในกรณีของไลอ้อนแอร์ (และอาจรวมถึงเอธิโอเปียนแอร์ไลน์สด้วยนั้น) เมื่อมุมปะทะปกติดี แต่เซนเซอร์ทำงานขัดข้อง จึงทำให้เครื่องบินปักหัวลงจนสูญเสียการควบคุมและนำไปสู่โศกนาฏกรรมในที่สุด

 

จากอุบัติเหตุที่อินโดนีเซียเมื่อปลายปีที่แล้วทำให้สายการบินหลายแห่งรวมถึงเซาท์เวสต์ของสหรัฐฯ ตัดสินใจขอติดตั้งตัวบอกค่ามุมปะทะไว้ที่หน้าจอใหญ่สำหรับฝูงบิน Boeing 737 MAX ที่เซาท์เวสต์เตรียมรับมอบจากโบอิ้งด้วย

 

นอกจากซอฟต์แวร์แล้ว โบอิ้งยังได้ปรับปรุงหลักสูตรการฝึกนักบินสำหรับเครื่องบินรุ่นนี้เพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ หากระบบเกิดปัญหาขัดข้อง

 

Boeing 737 Max 8

 

หุ้นร่วง

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ Boeing 737 MAX 8 ทำให้เกิดวิกฤตความเชื่อมั่นในบริษัทโบอิ้งจนส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นในตลาด โดยมูลค่าหุ้นของโบอิ้ง (BA) ลดลงถึง 2.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐเมื่อสัปดาห์ที่แล้วจากผลพวงของวิกฤต และถูกกดดันให้ปรับตัวลงต่อในวันจันทร์ที่ผ่านมา (18 มี.ค.) จากข่าวการสอบสวนอุบัติเหตุการตกของเครื่องบิน (ณ วันอังคารที่ 19 มี.ค. ราคาหุ้นโบอิ้งดีดตัวขึ้น 0.3% ปิดที่ 373.43 เหรียญสหรัฐ)

 

แน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น เพราะพวกเขาทราบดีว่าหุ้นบริษัทยักษ์ระดับเฮฟวีเวตอย่างโบอิ้งย่อมถ่วงดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสุขภาพเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่ตลาดหุ้นนิวยอร์กกำลังถูกรุมเร้าจากปัจจัยลบมากมายอยู่แล้ว ทั้งสงครามการค้าและปัจจัยความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์อื่นๆ

 

FAA โดนหางเลข?

หากเปรียบเปรยว่าโบอิ้งกำลังเผชิญพายุลูกใหญ่อยู่ในเวลานี้ FAA เองก็กำลังโดนหางเลขของพายุด้วยเช่นกัน

 

ใครที่ติดตามข่าวนี้มาตั้งแต่แรกจะเห็นว่าสำนักงานบริหารการบินของสหรัฐฯ หรือ FAA เป็นหน่วยงานรัฐที่ถูกกดดันมากที่สุดแห่งหนึ่ง เพราะหลังจากที่จีนสั่งให้สายการบินในประเทศระงับการใช้งานฝูงบิน Boeing 737 MAX 8 แล้ว สายการบินทั่วโลกก็ทยอยระงับบริการเที่ยวบินด้วยเครื่องบินโมเดลดังกล่าวในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ซึ่งบีบให้ FAA ต้องตัดสินใจออกคำสั่งในลักษณะเดียวกันในท้ายที่สุด หลังพบรายงานความเชื่อมโยงกันของอุบัติเหตุทั้งสอง

 

 

ไม่เพียงเท่านั้น FAA ยังถูกรัฐบาลสหรัฐฯ เพ่งเล็งเรื่องการออกใบอนุญาตสำหรับเครื่องบิน Boeing 737 MAX 8 ด้วย โดย อีเลน เชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของสหรัฐฯ ได้สั่งการให้ผู้ตรวจราชการของกระทรวงเปิดฉากตรวจสอบกระบวนการอนุมัติใบรับรองความปลอดภัยของเครื่องบินดังกล่าว หลังรายงานบ่งชี้ว่า FAA ให้ความเชื่อถือโบอิ้งมากเกินไป

 

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อท้องถิ่นอย่าง The Seattle Times ประโคมข่าวว่าผู้บริหาร FAA ได้มอบหมายหน้าที่บางส่วนให้โบอิ้งดำเนินการตรวจสอบความปลอดภัยแทนเพื่อเร่งรัดขั้นตอนการอนุมัติ ซึ่งผลการประเมินที่โบอิ้งส่งกลับไปให้ FAA นั้นมีจุดบกพร่องมากมาย ข่าวดังกล่าวทำให้เกิดข้อครหาเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากรายงานที่ FAA ประเมินนั้นมาจากพนักงานที่รับค่าจ้างจากโบอิ้งเอง

 

แรงกดดันส่วนหนึ่งที่ทำให้โบอิ้งและ FAA ต้องเร่งออกใบอนุญาตเครื่องบินตระกูล MAX มาจากการแข่งขันที่ดุเดือดระหว่างโบอิ้งกับแอร์บัส โดยแอร์บัสกำลังผลิตเครื่องบินตระกูล A320neo ออกมาเป็นคู่แข่งสำคัญในตลาด ขณะที่เครื่องบินตระกูล MAX ของโบอิ้งเป็นโมเดลที่ขายดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของบริษัทด้วยยอดสั่งซื้อจากทั่วโลกรวมกว่า 5,000 ลำ และปัจจุบันส่งมอบให้ลูกค้าระดับโอเปอเรเตอร์แล้วราว 370 ลำ

 

สำหรับการตรวจสอบของกระทรวงคมนาคมนั้นจะมุ่งไปที่สำนักงาน FAA ในซีแอตเทิลเป็นหลัก เพราะเป็นหน่วยงานที่ออกใบรับรองความปลอดภัยให้เครื่องบินโมเดล MAX 8 ของโบอิ้ง โดยโบอิ้งถูกเรียกดูเอกสารข้อมูลต่างๆ รวมถึงอีเมล การติดต่อกันผ่านทางจดหมาย และข้อความอื่นๆ ด้วย

 

ขณะที่ทีมตรวจสอบสาเหตุการตกของเครื่องบินจะโฟกัสไปที่ระบบป้องกันการสูญเสียแรงยก (Anti-Stall) ของเครื่องบิน ซึ่งโบอิ้งระบุว่าต้องอัปเดตซอฟต์แวร์ใหม่ทั้งหมด

 

นอกจากกระทรวงคมนาคมแล้ว คณะอัยการของสหรัฐฯ ก็กำลังตรวจสอบโบอิ้งอยู่เช่นกัน โดย The Wall Street Journal หนังสือพิมพ์ธุรกิจชั้นนำในสหรัฐฯ รายงานว่ากระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ กำลังสืบสวนกรณีนี้ในรูปแบบคดีอาญา และมีหมายเรียกส่งถึงบุคคลอย่างน้อย 1 คนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเครื่องบินโมเดล MAX 8 ขณะที่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสหรัฐฯ ก็ตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณี MAX 8 แล้วเช่นกัน

 

หากมีข้อพิสูจน์ว่าเรื่องที่กล่าวหาต่างๆ ข้างต้นเป็นความจริงย่อมสะเทือนอุตสาหกรรมการบินของสหรัฐฯ อย่างแน่นอน และที่สำคัญจะกระทบต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของโบอิ้ง โดยปัจจุบันโบอิ้งเป็นผู้ส่งออกในอุตสาหกรรมการผลิตรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ด้วยรายได้สูงถึง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2018

 

ไม่เพียงแต่สหรัฐฯ เท่านั้น ทั้งแคนาดาและสหภาพยุโรป (EU) ก็ประกาศเดินหน้าตรวจสอบความปลอดภัยของฝูงบิน MAX ด้วย โดย EASA ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านความปลอดภัยของอุตสาหกรรมการบิน EU ยืนยันว่าจะไม่อนุญาตให้เครื่องบิน Boeing 737 MAX 8 และ MAX 9 บินขึ้นฟ้าจนกว่าจะได้รับคำตอบที่ชัดเจนจากโบอิ้ง

 

สาวถึงโดนัลด์ ทรัมป์?

การตรวจสอบขั้นตอนการออกใบอนุญาตของ FAA ยังอาจสาวไปถึงตัวประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งถูกเคลือบแคลงว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วย หลัง The Washington Post รายงานว่าทรัมป์เป็น ‘ผู้ที่มีอำนาจสำคัญ’ ในการตัดสินใจเกี่ยวกับ Boeing 737 MAX 8 และ MAX 9 โดยที่ผ่านมามีการพูดคุยทางโทรศัพท์กับผู้บริหารและผู้ถือหุ้นของโบอิ้งเพื่อเสนอแนวคิดเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการบินด้วย

 

ท่ามกลางมรสุมที่ถาโถม FAA ทรัมป์ได้เสนอชื่อ สตีเฟน ดิกสัน อดีตรองประธานฝ่ายอำนวยการบินและนักบินของเดลตาแอร์ไลน์ส ให้เป็นผู้บริหารคนใหม่ของ FAA แทน แดเนียล เอลเวลล์ ซึ่งนั่งเก้าอี้รักษาการในตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ต้นปี 2018

 

ดังนั้นจึงน่าติดตามชนิดตาไม่กะพริบว่าผลการตรวจสอบของ FAA จะออกมาเป็นอย่างไร   

 

Boeing 737 Max 8

 

อนาคตที่คลุมเครือของโบอิ้ง

นอกจากมูลค่าหุ้นที่ลดฮวบแล้ว วิกฤตครั้งนี้ยังสร้างความเสียหายแก่บริษัทอีกหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ สืบเนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเลื่อนส่งมอบเครื่องบินให้ลูกค้า รวมถึงการจ่ายเงินเยียวยาแก่ครอบครัวเหยื่อที่เสียชีวิต และชดใช้ค่าเสียหายให้กับสายการบินทั่วโลกที่ระงับให้บริการฝูงบิน MAX 8 และ MAX 9 ทั้งหมด 371 ลำ นอกจากนี้การอัปเกรดซอฟต์แวร์ก็มีต้นทุนมากเช่นเดียวกัน

 

แต่เวลานี้ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่ามูลค่าความเสียหายของโบอิ้งอยู่ที่เท่าไร เพราะยังต้องรอรายงานสรุปผลการตรวจสอบสาเหตุการตกของเครื่องบินไลอ้อนแอร์และเอธิโอเปียนแอร์ไลน์ส ซึ่งต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนจึงจะสามารถประเมินความเสียหายเป็นตัวเลขที่ชัดเจนได้

 

น่าติดตามต่อว่าโบอิ้งจะฟันฝ่ามรสุมที่หนักหน่วงระลอกนี้ไปได้อย่างไร แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พวกเขาเผชิญมรสุมลักษณะนี้ เพราะเมื่อ 54 ปีก่อนโบอิ้งเคยเจอวิกฤตที่หนักกว่านี้มาก่อน เมื่อเครื่องบิน Boeing 727 ใหม่เอี่ยม 4 ลำประสบอุบัติเหตุตกในเวลาห่างกันเพียง 4 เดือน คาบเกี่ยวช่วงปลายปี 1965 ถึงต้นปี 1966 โดยเครื่องบิน 3 จาก 4 ลำตกขณะพยายามลงจอดที่สนามบินในสหรัฐฯ และ 2 ลำในจำนวนนี้ตกห่างกันเพียง 3 วันในเดือนพฤศจิกายน ปี 1965

 

หากโบอิ้งไม่สามารถผ่านมรสุมครั้งนี้ได้ย่อมส่งผลกระทบต่อยอดขาย Boeing 737 MAX อย่างแน่นอน ขณะที่สายการบินหลายแห่งออกมาเปรยแล้วว่าอาจพิจารณาสั่งซื้อเครื่องบินตระกูล A320neo ของแอร์บัสแทน ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดในอุตสาหกรรมการบินที่มีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

FYI
  • Boeing 737 MAX เป็นเครื่องบินขนาดกลาง ลำตัวแคบ มีทางเดินระหว่างที่นั่งผู้โดยสาร 1 ช่อง (Single Aisle) พัฒนาต่อยอดมาจากเครื่องบิน Boeing 737
  • เครื่องบินตระกูล MAX ประกอบด้วยโมเดล MAX 7, MAX 8, MAX 9 และ MAX 10 ซึ่งแตกต่างกันที่ขนาดความยาวและความจุผู้โดยสาร โดย MAX 7 จุคนได้ 138-153 คน ขณะที่ MAX 8 จุได้ 162-178 คน ส่วน MAX 9 และ MAX 10 สามารถจุผู้โดยสารได้ 178-193 และ 188-204 คน ตามลำดับ
  • เริ่มบินครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2016 และได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลสหรัฐฯ ให้ขนส่งผู้โดยสารได้ในปี 2017 โดยลูกค้ารายแรกที่นำ Boeing 737 MAX เข้าประจำฝูงบินพาณิชย์คือมาลินโดแอร์
  • เครื่องบินตระกูล Boeing 737 MAX ได้ชื่อว่าเป็นเครื่องบินที่ทรงประสิทธิภาพและประหยัดเชื้อเพลิงมากที่สุดรุ่นหนึ่งของโลก มีพิสัยบินไกล 6,110-7,130 กิโลเมตร
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X