แพทริค คี ผู้อำนวยการบริหารองค์การกำกับดูแลความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (EASA) แสดงความมั่นใจว่าเครื่องบินตระกูล Boeing 737 MAX ซึ่งเคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุใหญ่ 2 ครั้งในช่วงปี 2018-2019 นั้นมีความปลอดภัยสำหรับบินแล้ว หลังจากตัวเครื่องได้รับการตรวจสอบและปรับปรุงใหม่
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนตุลาคม 2018 เครื่องบินโดยสาร Boeing 737 MAX ของสายการบิน Lion Air ในอินโดนีเซียประสบอุบัติเหตุตกในทะเลชวา ผู้โดยสารและลูกเรือรวม 189 คนเสียชีวิตทั้งหมด และอีกเพียงราว 5 เดือนถัดมา เครื่องบินรุ่นเดียวกันของสายการบิน Ethiopian Airlines ก็ประสบอุบัติเหตุตกหลังขึ้นบินจากกรุงแอดดิสอาบาบา ประเทศเอธิโอเปียได้เพียง 6 นาที ทำให้ผู้โดยสารและลูกเรือรวม 157 คน เสียชีวิตยกลำเช่นกัน กระทั่งมีการหยุดใช้งานเครื่องบินรุ่นนี้ทั่วโลกชั่วคราว อุบัติเหตุทั้งสองครั้งนี้เกิดจากซอฟต์แวร์ควบคุมการบินที่ทำงานบกพร่อง
หลังเกิดอุบัติเหตุกับเครื่องบินของสายการบิน Ethiopian Airlines EASA ได้ตรวจสอบการออกแบบเครื่องบินรุ่นนี้โดยละเอียด แยกจากกระบวนการขององค์การบริหารการบินแห่งชาติของสหรัฐฯ (FAA) ซึ่งคีกล่าวว่าการตรวจสอบนั้นไปไกลกว่าแค่การหาสาเหตุการตกของเครื่องบินในโศกนาฏกรรมสองครั้ง และการปรับปรุงเครื่องบินตามข้อเสนอของบริษัท Boeing แต่ยังรวมไปถึงระบบควบคุมการบินและเครื่องจักรทั้งหมดในเครื่องบินด้วย ทั้งนี้ เพื่อมองหาปัจจัยต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดความผิดพลาดในระดับวิกฤต
ทั้งนี้ เครื่องบินรุ่นดังกล่าวทั้งหมดที่มีอยู่จะต้องผ่านการติดตั้งซอฟต์แวร์ใหม่ รวมถึงเปลี่ยนแปลงการเดินสายไฟและอุปกรณ์ในห้องนักบิน เพื่อให้กลับมาบินได้อีกครั้ง นอกจากนี้ นักบินจะต้องผ่านการฝึกอบรมภาคบังคับ และเครื่องบินแต่ละลำจะต้องผ่านการบินทดสอบเพื่อให้แน่ใจว่าการปรับเปลี่ยนทั้งหมดเป็นไปอย่างถูกต้อง ซึ่งทาง FAA ก็ใช้เงื่อนไขเดียวกันนี้กับ EASA และคีก็แสดงความมั่นใจว่าเครื่องบินรุ่นนี้มีความปลอดภัยสูงแล้วในขณะนี้
งานด้านการรับรองความปลอดภัยเบื้องต้นของเครื่องบิน 737 MAX นั้นดำเนินการโดย FAA และได้รับการรับรองโดย EASA ตามข้อตกลงระหว่างประเทศที่มีมายาวนาน อย่างไรก็ตาม การที่ FAA ได้รับเสียงวิจารณ์อย่างหนักว่าปล่อยให้เครื่องบินที่มีข้อบกพร่องเข้าสู่การให้บริการได้ ทำให้คีระบุว่าต่อไป EASA จะต้องมีมาตรการต่างๆ ของตัวเองมากขึ้น เช่น การตรวจสอบการตัดสินใจของฝ่ายอื่นๆ อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเมื่อ EASA ไม่ใช่ผู้มีอำนาจหลักในการตรวจสอบความปลอดภัย รวมถึงจะมีการประเมินความปลอดภัยโดย EASA เองที่จะครอบคลุมมากกว่าที่เคยมีมา
คียังแสดงความหวังว่าผู้คนจะยังเชื่อมั่นต่อการทำงานของหน่วยงานกำกับดูแลด้านการบินต่างๆ ต่อไปด้วย
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง: