×

วิกฤตระลอกใหม่ถาโถม Boeing หลังประตูเครื่องบิน 737 Max 9 หลุดกลางอากาศ

โดย THE STANDARD TEAM
10.01.2024
  • LOADING...
Boeing 737 Max 9

เรียกได้ว่างานเข้าไม่หยุดสำหรับ Boeing บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกัน เมื่อเกิดเหตุชิ้นส่วนประตูทั้งบานของเครื่องบินโดยสารแบบ 737 Max 9 ลำหนึ่งของสายการบิน Alaska Airlines หลุดออกมาระหว่างบินอยู่กลางอากาศ โดยเหตุการณ์ระทึกขวัญดังกล่าวทำให้ Boeing ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องบินดังกล่าว ต้องตกที่นั่งลำบากอีกครั้ง 

 

ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลอย่างองค์การบริหารการบินแห่งชาติ (FAA) เพ่งเล็ง และสั่งห้ามบินเครื่องบินโมเดลดังกล่าวทุกลำในสหรัฐฯ ชั่วคราว เพื่อตรวจสอบความปลอดภัย ซึ่งต่อมา United Airlines พบว่ามีสลักเกลียวหลวมในเครื่องบินหลายลำระหว่างตรวจสอบ กลายเป็นวิกฤตระลอกใหม่ที่ถาโถมใส่ Boeing หลังเคยประสบวิกฤตหนักจากเหตุเครื่องบิน 737 Max ตกในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันระหว่างปี จนเกิดการระงับบินทั่วโลก และทำให้มาตรฐานความปลอดภัยของ Boeing ถูกตั้งคำถาม

 

เกิดอะไรขึ้น

 

ย้อนกลับไปเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (5 มกราคม) เครื่องบินพาณิชย์ของ Alaska Airlines ต้องลงจอดฉุกเฉินหลังบินขึ้นจากเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐออริกอน เพื่อเดินทางไปยังเมืองออนแทรีโอ รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยเครื่องบินกำลังไต่ระดับความสูงที่ 16,000 ฟุต (4,876 เมตร) ก่อนที่จะประสานกับศูนย์ควบคุมการจราจรทางอากาศเพื่อขอลงจอดฉุกเฉิน ซึ่งนักบินสามารถนำเครื่องบินพร้อมผู้โดยสารและลูกเรือ 177 คน ลงจอดที่พอร์ตแลนด์ได้อย่างปลอดภัย

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ในวันอาทิตย์ FAA ของสหรัฐฯ ได้ออกมาประกาศระงับการบินของเครื่องบิน Boeing 737 Max 9 จำนวน 171 ลำที่ดำเนินการโดยสายการบินของสหรัฐฯ หรือในดินแดนของสหรัฐฯ เป็นการชั่วคราว เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยจนกว่าจะมั่นใจ

 

ตรวจพบสลักเกลียวหลวมในเครื่องบิน United Airlines 

  

แม้ทีมสืบสวนกล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่จะระบุชี้ชัดลงไปว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ชิ้นส่วนที่เรียกว่า Door Plug หลุดออกจากผนังของเครื่องบิน แต่ล่าสุดดูเหมือนจะพบเบาะแสบางอย่าง เมื่อ United Airlines ซึ่งมีเครื่องบิน Boeing 737 Max 9 ให้บริการอยู่ 79 ลำ เปิดเผยว่า ทางสายการบินพบสลักเกลียวหลวมในระหว่างการตรวจสอบเครื่องบิน Boeing 737 Max 9 ของสายการบิน ตามที่ FAA กำหนด 

 

“ตั้งแต่เริ่มการตรวจสอบเบื้องต้นเมื่อวันเสาร์ เราพบกรณีที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการติดตั้งประตู เช่น สลักเกลียวที่ต้องขันให้แน่นขึ้น” United Airlines เปิดเผย พร้อมยืนยันว่า ปัญหาการติดตั้งประตูจะได้รับการแก้ไขก่อนที่สายการบินจะนำเครื่องบิน 737 Max 9 กลับมาให้บริการอีกครั้ง 

 

สำหรับชิ้นส่วน Door Plug ของเครื่องบิน 737 Max 9 ของสายการบิน Alaska Airlines ที่ร่วงหล่นระหว่างบินอยู่เหนือรัฐออริกอนของสหรัฐฯ นั้น พบเจอในเวลาต่อมาว่าตกลงไปในสวนหลังบ้านของครูคนหนึ่งในรัฐออริกอนนั่นเอง

 

คณะกรรมการความปลอดภัยการขนส่งแห่งชาติเปิดเผยเมื่อคืนวันจันทร์ว่า ได้เก็บกู้ประตูเครื่องบินจากสวนหลังบ้านดังกล่าวแล้ว และพบว่าสลักเกลียวหายไป 4 ตัว 

 

เจนนิเฟอร์ โฮเมนดี ประธานคณะกรรมการ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่สลักเกลียวจะหายไปตั้งแต่แรก หรือไม่ก็อาจหลุดออกมาระหว่างที่ตก

 

ด้าน Alaska Airlines เปิดเผยเช่นกันว่า ในเบื้องต้น ทีมช่างเทคนิคของสายการบินพบ ‘ฮาร์ดแวร์หลวม’ จากการตรวจสอบ Max 9 บางลำ อย่างไรก็ดี สายการบินระบุว่า ยังไม่มีโอกาสตรวจสอบปัญหาสลักเกลียวหลวมเพิ่มเติม เนื่องจากสายการบินจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติเพิ่มเติมจากหน่วยงานกำกับดูแล ก่อนที่จะเริ่มการตรวจสอบอย่างละเอียดต่อไป

 

FAA ระบุว่า เครื่องบินรุ่น 737 Max 9 ทุกลำจะยังคงถูกพักการบินจนกว่าสายการบินต่างๆ จะดำเนินการตรวจสอบอย่างละเอียดแล้ว ได้แก่ ตั้งแต่ประตูทางออกของห้องโดยสารด้านซ้ายและขวา ส่วนประกอบของประตู และตัวยึด 

 

วิกฤตถาโถม

 

หลังเกิดเหตุ Boeing ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า บริษัทสนับสนุนการตัดสินใจของ FAA และให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการความปลอดภัยการขนส่งแห่งชาติในการสืบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเครื่องบินของสายการบิน Alaska Airlines 

 

“ความปลอดภัยเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญสูงสุด และเรารู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้งกับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกค้าของเราและผู้โดยสาร” Boeing กล่าว

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้นับเป็นปัญหาล่าสุดที่เกิดกับเครื่องบินตระกูล Max ของ Boeing โดยอุบัติเหตุครั้งนี้เกิดขึ้นในขณะที่ Boeing และ Spirit AeroSystems ซึ่งเป็นผู้ผลิตแผงประตูเครื่องบินป้อนให้กับบริษัท กำลังต่อสู้กับปัญหาที่ขัดขวางการผลิตให้ได้ต่อเนื่อง หลังฉุดการฟื้นตัวของบริษัทจากการถูกห้ามบิน 737 Max ด้วยสาเหตุด้านความปลอดภัยก่อนหน้านี้ ตลอดจนการแพร่ระบาดของโควิดที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินในวงกว้าง

 

Boeing อยู่ภายใต้แรงกดดันในการช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดกับ Airbus คู่แข่งสัญชาติฝรั่งเศสจากยุโรป ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่เกิดอุบัติเหตุกับเครื่องบินตระกูล Max สองครั้ง โดยเครื่องบินของสายการบิน Lion Air ตกนอกชายฝั่งอินโดนีเซีย ในเดือนตุลาคม 2018 ต่อด้วยเครื่องบิน Ethiopian Airlines ตกนอกกรุงแอดดิสอาบาบา เมืองหลวงของเอธิโอเปีย ในเดือนมีนาคม 2019 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 346 คน และนำไปสู่การระงับการบินเครื่องบิน Max ทั่วโลกนานถึง 20 เดือน โดยอุบัติเหตุทั้งสองครั้งมีสาเหตุมาจากซอฟต์แวร์ควบคุมการบินบกพร่อง ส่งผลให้เครื่องบินต้องประสบกับหายนะ แม้ว่านักบินจะพยายามอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม

 

นับตั้งแต่ที่เครื่องบิน 737 Max ถูกระงับการบินในเดือนมีนาคม 2019 หุ้นของ Boeing ก็ตกลงไปมากกว่า 40% สวนทางกับหุ้น Airbus ที่เพิ่มขึ้น 25%

 

ประวัติการเกิดปัญหาของ Max ส่งผลให้มีการปฏิรูปกฎระเบียบด้านการบินของสหรัฐฯ อย่างกว้างขวางในปี 2020 และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุดกับสายการบิน Alaska Airlines อาจทำให้หน่วยงานกำกับดูแลยิ่งเพิ่มความเข้มงวดขึ้นไปอีก

 

ทั้งนี้ เครื่องบิน 737 Max ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘เครื่องบินขนส่งที่ถูกตรวจสอบอย่างละเอียดมากที่สุดในประวัติศาสตร์’ หลังจากประสบปัญหาด้านความปลอดภัยหลายครั้ง

 

เดิมพันครั้งใหม่ กับความหวังที่กลายเป็นริบหรี่

 

หลังจากยอดขาย Max 9 ซึ่งเป็นเครื่องบินลำตัวแคบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของ Boeing ออกมาน่าผิดหวัง ไม่เป็นไปตามเป้า บริษัทตัดสินใจเดิมพันครั้งใหม่กับเครื่องบินรุ่นใหม่ล่าสุดอย่าง Max 10 ที่มีความจุมากกว่า เพื่อตีตลาดแข่งกับ A321neo เครื่องบินช่องทางเดินเดี่ยวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของ Airbus ที่ทำยอดขายคึกคัก

 

นักวิเคราะห์กล่าวว่า การเปิดตัว Max 10 มีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยให้ Boeing รักษาหรือเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดที่ปัจจุบันอยู่ที่ราว 40% และสร้างรายได้เพียงพอสำหรับการดำเนินงานต่อไปอีกสิบปี

 

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ความล่าช้าในการรับรอง Max 10 อาจทำให้ Boeing ซึ่งมีหนี้ 3.9 หมื่นล้านดอลลาร์ ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันครั้งใหม่

 

นอกจาก Max 10 แล้ว Max 7 ซึ่งเป็นรุ่นที่เล็กที่สุดในตระกูล Max ของ Boeing ก็อยู่ระหว่างรอการอนุมัติจาก FAA เช่นกัน โดยก่อนหน้านี้มีข่าวว่า FAA กำลังพิจารณาที่จะให้การรับรอง Max 7 แต่ดูเหมือนว่าอุบัติเหตุชิ้นส่วนหลุดที่เกิดขึ้นกับ Max 9 อาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจดังกล่าวของ FAA

 

FAA กล่าวว่า “ความปลอดภัยจะเป็นตัวกำหนดไทม์ไลน์” ของกระบวนการให้การรับรองที่กำลังดำเนินอยู่ แต่ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเพิ่มเติม

 

เรื่องนี้จะจบลงอย่างไร คงต้องรอดูกันต่อ

 

ภาพ: Mathieu Lewis-Rolland / GETTY IMAGES NORTH AMERICA / Getty Images via AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X