×

Blue Again หนังที่ชวนเราระลึกถึงตนเองในอดีตว่า ‘เราเคยทำใครหล่นหายไปจากชีวิตบ้าง’

11.12.2022
  • LOADING...

หมายเหตุ: บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ Blue Again

 

Blue Again คือภาพยนตร์ดราม่าเรื่องเยี่ยมจากผู้กำกับ ฐาปณี หลูสุวรรณ ที่ได้เดินทางไปเข้าฉายในงาน Busan International Film Festival ครั้งที่ 27 พร้อมทั้งยังได้เข้าชิงในสาขา New Currents สำหรับผู้กำกับหน้าใหม่ 

 

โดยภาพยนตร์จะพาผู้ชมไปติดตามเรื่องราวของ เอ (ตะวัน จริยาพรรุ่ง) หญิงสาวชาวสกลนครที่เดินทางมาเข้าเรียนคณะแฟชั่นดีไซน์ที่กรุงเทพฯ ด้วยความหวังว่าเมื่อเรียนจบ เธอจะกลับบ้านไปต่อยอดธุรกิจผ้าย้อมครามของแม่ และนั่นก็ทำให้เธอได้มาพบกับ แพร (อสมาภรณ์ สมัครพันธ์) เพื่อนคนแรกของเธอในรั้วมหาวิทยาลัย เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนสองคนที่เต็มไปด้วยความทรงจำมากมายจึงเริ่มต้นขึ้น  

 

  

 

“เราเคยทำใครหล่นหายไปจากชีวิตบ้าง และทำไมถึงเป็นเช่นนั้น”

 

นี่คือคำถามที่ผุดขึ้นมาในหัวของเราหลังจากได้นั่งชม Blue Again จนจบ เพราะหากเราลองย้อนกลับไปมองในหลายช่วงเวลาของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นวัยเด็ก วัยมัธยม มหาวิทยาลัย หรือแม้แต่วัยทำงาน เราต่างได้พบเจอและทำความรู้จักกับผู้คนมากหน้าหลายตา ขณะเดียวกันก็มีผู้คนอีกมากมายที่เราอาจห่างหายกันไป จากคนที่เคยสนิท กลายเป็นคนที่ ‘เคย’ รู้จัก ซึ่ง Blue Again ฉายภาพเรื่องราวดังกล่าวออกมาได้อย่างลึกถึงแก่น  

 

ผ่านเรื่องราวของ เอ และ แพร นักศึกษาปีหนึ่งที่เข้ามาเรียนในคณะแฟชั่นดีไซน์ในกรุงเทพฯ ซึ่งทั้งคู่ต่างก็มีนิสัยใจคอที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เอเป็นคนที่โลกส่วนตัวสูง เป็นเพอร์เฟกต์ชันนิสต์ และไม่ยอมอ่อนข้อให้กับสิ่งที่เธอคิดว่าไม่ถูกต้อง ขณะที่แพรเป็นคนเฟรนด์ลี เข้ากับคนอื่นได้ง่าย และพร้อมจะยืดหยุ่นกับเรื่องต่างๆ เพื่อรักษาความสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างไว้ อีกทั้งความแตกต่างเหล่านี้เองที่เป็นส่วนช่วยทำให้พวกเธอต่างเข้ามาเติมเต็มส่วนที่แต่ละคนขาดหายไป 

 

ควบคู่ไปกับเรื่องราวของ เมธ (ศรัณย์เมศ รัตนพงษ์) ชายหนุ่มที่เป็นเพื่อนสนิทกับเอตั้งแต่สมัยเด็กที่คอยตามใจและช่วยเหลือเออยู่เสมอ แต่ขณะเดียวกันเขาก็ต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้งภายในครอบครัวที่มี ‘ความเชื่อ’ แตกต่างกัน

 

ซึ่งผู้กำกับก็พาเราไปสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างเอ แพร และเมธ อย่างค่อยเป็นค่อยไป ผ่านบทสนทนาธรรมดาๆ การกระทำที่ไม่ได้หวือหวาอะไรนัก แต่กลับเป็นธรรมชาติและทำให้เรามีความรู้สึกร่วมไปกับพวกเขาและเธอได้ตลอดทั้งเรื่อง

 

 

ขณะเดียวกัน แม้ว่าแกนหลักสำคัญของ Blue Again จะว่าด้วยเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างเอ แพร และเมธ แต่อีกด้านหนึ่ง ภาพยนตร์ยังนำเสนอแง่มุมของ ‘ความโดดเดี่ยว’ ที่แต่ละคนต้องเผชิญเช่นกัน โดยเฉพาะบริบทรอบข้างที่แปะป้ายให้พวกเขาและเธอกลายเป็น ‘ส่วนเกิน’ ของกลุ่ม เพียงเพราะพวกเขามี ‘ความคิด’ และ ‘ความเชื่อ’ ที่แตกต่าง

 

ไม่ว่าจะเป็นเอที่ไม่เห็นด้วยกับการรับน้องในคณะแฟชั่นดีไซน์ เธอจึงเลือกที่จะไม่เข้าร่วมกิจกรรม อีกทั้งการที่รุ่นพี่บังคับให้เธอย้อมผมดำให้ ‘เหมือน’ กับเพื่อนคนอื่นๆ จนทำให้เธอมีปากเสียงกับรุ่นพี่ ก็ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเธอและเพื่อนในคณะค่อยๆ ห่างออกไปอีกหลายเท่าตัว 

 

หรือจะเป็นเมธที่เกิดมาในครอบครัวที่นับถือศาสนาคริสต์ แต่เขากลับมีความสนใจและอยากศึกษาเกี่ยวกับศาสนาพุทธมากกว่า จนทำให้เขามักจะมีปากเสียงกับครอบครัวอยู่บ่อยครั้ง จึงไม่แปลกนักหากเมธจะรู้สึกว่าตัวเองกลายเป็น ‘คนนอก’ ของครอบครัวไปเสียอย่างนั้น

 

 

ขณะที่แพร ผู้ที่เข้าใจรสชาติของความโดดเดี่ยวมาตั้งแต่สมัยมัธยม เมื่อก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยเธอจึงพยายามที่จะ ‘เป็นส่วนหนึ่ง’ กับเพื่อนๆ ในคณะ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องรู้สึกโดดเดี่ยวอีก แม้ว่าบางครั้งมันจะขัดกับความรู้สึกของเธอก็ตาม รวมไปถึงการที่เธอพยายามจะรักษาความสัมพันธ์ที่มีกับเอ ก็อาจแสดงให้เห็นว่าเธอนั้นเข้าใจความโดดเดี่ยวที่เอกำลังเผชิญเป็นอย่างดี 

 

 

กลับมาที่คำถามที่เราเกริ่นไว้ในตอนต้น “เราเคยทำใครหล่นหายไปจากชีวิตบ้าง” เราคิดว่า Blue Again กำลังชวนเรามาระลึกถึงผู้คนที่เคยผ่านเข้ามาในชีวิตและคนที่ห่างหายกันไป ระลึกถึงช่วงเวลาที่เคยมีร่วมกับบุคคลเหล่านั้น ทั้งช่วงเวลาแห่งความสุขและช่วงเวลาแห่งความทุกข์ เพราะอย่างน้อยที่สุดมันก็เปิดโอกาสให้เราได้กลับไปสำรวจ ‘ตัวเราในอดีต’ ที่เราอาจไม่รู้ตัวว่าเราเคยเป็นแบบไหน รวมถึงการสำรวจผู้คนที่เราอาจเคยทำพวกเขาเหล่านั้นหล่นหายไปโดยไม่ตั้งใจ 

 

ส่วนคำถามที่ว่า “และทำไมถึงเป็นเช่นนั้น” หากเราลองสำรวจเรื่องราวของเอ แพร และเมธ เราจะพบว่าพวกเขาต่างก็มี ‘ข้อเสีย’ ของแต่ละคนที่อาจเป็นสาเหตุให้ความสัมพันธ์ของพวกเขาเริ่มเกิดรอยร้าวขึ้นทีละน้อย เช่น ความตรงไปตรงมาของเอและความพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ผลงานของตัวเองออกมาดีที่สุด บางครั้งมันก็กลายเป็นดาบสองคมที่ไปทำร้ายความรู้สึกของคนอื่นโดยไม่รู้ตัว หรือความยืดหยุ่นของแพรที่พยายามเก็บความรู้สึกของตัวเองไว้เพื่อรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง บางครั้งมันก็อาจทำให้เกิดความไม่เข้าใจจนทำให้ความสัมพันธ์ของเธอและเอค่อยๆ ห่างจากกันมากขึ้น 

 

ดังนั้นแล้ว การยอมรับว่าเราต่างก็มี ‘ข้อเสีย’ ในตัวเอง เพื่อเปิดโอกาสให้ตนเองได้ทบทวนและเรียนรู้จากข้อเสียเหล่านั้น ก็อาจเป็นหนทางหนึ่งในการรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบข้างเอาไว้ 

 

ขณะเดียวกัน จุดร่วมข้อหนึ่งที่พวกเขาและเธอต่างต้องเผชิญเช่นเดียวกัน คือการถูกผู้คนมองว่าเป็น ‘ส่วนเกิน’ เพียงเพราะพวกเขาและเธอมีความคิดหรือความเชื่อที่ ‘แตกต่าง’ ไปจากคนอื่น ซึ่งประเด็นดังกล่าวก็ชวนให้เราตั้งคำถามต่อแนวคิดและขนบธรรมเนียมที่อยากจะสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในหมู่คณะ ด้วยการ ‘บังคับ’ ให้ทุกคนต้องคิดเหมือนกัน ทำแบบเดียวกัน เชื่อในสิ่งเดียวกันเท่านั้น ว่ามันเป็นวิธีที่ถูกต้องแล้วจริงหรือ และวิธีดังกล่าวมันได้สร้างบาดแผลให้กับใคร รวมถึงสร้างรอยร้าวให้กับความสัมพันธ์ของใครไปบ้าง 

 

Blue Again เข้าฉายอย่างเป็นทางการแล้ววันนี้ที่โรงภาพยนตร์ House Samyan และโรงภาพยนตร์ SF World Cinema Central World

 

รับชมตัวอย่างได้ที่ 

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising