×

Bloomberg ยกไทยอันดับ 1 ประเทศที่มีความทุกข์ยากน้อยที่สุด ชนะสิงคโปร์และญี่ปุ่น

15.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ไทยรั้งอันดับ 1 ทำเนียบประเทศที่มีความทุกข์ยากน้อยที่สุดในโลกในปี 2018 จากการจัดอันดับของ Bloomberg สำนักข่าวชั้นนำของโลก
  • สิงคโปร์และญี่ปุ่นยังครองอันดับ 2 และ 3 ตามลำดับ ส่วนไอซ์แลนด์หลุดท็อป 5 ขณะที่จีนร่วงจากท็อป 10 ในปีที่แล้วลงมาอยู่ที่ 17
  • ประเทศที่มีความทุกข์ยากมากที่สุดในโลกคือ เวเนซุเอลา, แอฟริกาใต้, อาร์เจนตินา, อียิปต์, กรีซ และตุรกี  

ไทยรั้งอันดับ 1 ประเทศที่มีความทุกข์ยากน้อยที่สุดและมีแนวโน้มเศรษฐกิจสดใสในปี 2018 จากการจัดอันดับดัชนีความทุกข์ยาก (Misery Index) ครั้งล่าสุดของ Bloomberg

 

ดัชนี Bloomberg’s Misery Index จะคำนวณจากตัวเลขเงินเฟ้อและอัตราว่างงานใน 66 ประเทศ ขณะที่ตัวเลขคาดการณ์ของปีนี้มาจากการสำรวจความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ระหว่างเดือนกันยายนปีที่แล้วจนถึงเดือนมกราคมที่ผ่านมา

 

 

ประเทศไทยมีค่าคะแนนความทุกข์ยากที่ระดับ 1.9 ต่ำสุดเป็นอันดับ 1 ในปี 2017 ขณะที่ผลสำรวจคาดการณ์ดัชนีปี 2018 ของ Bloomberg พบว่า ไทยยังคงรั้งอันดับ 1 ด้วยคะแนน 2.5

 

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า ไทยมีอัตราว่างงานที่ระดับต่ำเพียง 1.3% ในปี 2017

 

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเดือนมกราคมอยู่ที่ระดับ 0.68% เมื่อเทียบรายปี หลังจากเพิ่มขึ้น 0.78% ในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว

 

 

ส่วนประเทศที่ตามมาเป็นอันดับ 2 คือ สิงคโปร์ มีค่าดัชนีความทุกข์ยากที่ 2.8 ในปีที่แล้ว และคาดว่าจะแตะระดับ 3.2 ในปีนี้ ขณะที่ญี่ปุ่นซึ่งอยู่ในอันดับ 3 ของโลกเมื่อปี 2017 ยังคงรั้งอันดับ 3 ในปี 2018 ด้วยตัวเลขคาดการณ์ดัชนีความทุกข์ยากที่ระดับ 3.6

 

สวิตเซอร์แลนด์ไต่จากอันดับ 4 ในปี 2017 ขึ้นมาครองอันดับ 3 ร่วมกับญี่ปุ่นในปีนี้ โดยค่าดัชนีความทุกข์ยากลดลงเล็กน้อยจาก 3.7 เหลือ 3.6 ในปีนี้ ส่วนไต้หวันขึ้นจากที่ 6 ในปีที่แล้วสู่กลุ่มท็อป 5 ในปี 2018

 

ขณะที่ไอซ์แลนด์ ซึ่งอยู่อันดับ 5 เมื่อปี 2017 หลุดท็อป 5 ด้วยค่าดัชนีคาดการณ์ความทุกข์ยากที่ 5.3 ในปีนี้

 

 

สำหรับประเทศอื่นๆ ที่น่าสนใจนั้น จีนซึ่งเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจเบอร์ 2 ของโลก มีอันดับร่วงหลุดท็อป 10 ในปีนี้ สู่อันดับ 17 โดยมีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นจาก 5.5 ในปี 2017 สู่ 6.3 ในปีนี้ ขณะที่มีการประมาณการว่า ราคาผู้บริโภคในจีนจะพุ่งแตะ 2.3% ในปีนี้ จากระดับ 1.6% ในปี 2017

 

ส่วนฮ่องกง ซึ่งครองอันดับ 8 ร่วมในปีที่แล้ว มีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นจาก 4.6 เป็น 5.7 หล่นมาอยู่ที่ 10 ร่วมกับเดนมาร์กในปีนี้

 

ขณะที่สหรัฐอเมริกามีค่าดัชนีดีขึ้นจาก 6.5 ในปี 2017 เป็น 6.2 ในปีนี้ ถึงแม้อัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มพุ่งขึ้นและเกิดภาวะตึงตัวในตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่องก็ตาม

 

 

สำหรับประเทศที่มีความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจมากที่สุดในโลกคือ เวเนซุเอลา ซึ่งครองตำแหน่งนี้ 4 ปีซ้อน โดยคาดว่าดัชนีความทุกข์ยากจะพุ่งไปถึงระดับ 1872.0 ในปี 2018 สืบเนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อรุนแรง

 

ส่วนอาร์เจนตินามีค่าดัชนีลดลงจาก 36.9 ในปี 2017 เหลือ 27.1 ในปีนี้ แต่อันดับไม่กระเตื้องโดยยังยึดอันดับ 3 ทำเนียบประเทศที่ทุกข์ยากมากที่สุดในโลก ขณะที่แอฟริกาใต้ขึ้นไปอยู่อันดับ 2 ในปี 2018 ด้วยค่าดัชนีคาดการณ์ที่ 33.1  

 

Bloomberg มองว่า การปรับตัวขึ้นของราคาผู้บริโภคจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในปีนี้มากกว่าภาวะว่างงาน แต่ในภาพรวมแล้ว เศรษฐกิจทั่วโลกยังมีแนวโน้มเติบโตสดใสในปีนี้ ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ทั่วโลกจะขยายตัว 3.7% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งเป็นอัตราเติบโตที่รวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 2011  

 

อย่างไรก็ตาม การจัดอันดับดัชนีความทุกข์ยาก (Misery Index) ของ Bloomberg ถูกวิจารณ์ว่ามีช่องโหว่และไม่สะท้อนความจริงเท่าที่ควร เนื่องจาก Bloomberg นำเพียงตัวเลขเงินเฟ้อและอัตราว่างงานมาประกอบการคำนวณค่าดัชนีเพื่อจัดอันดับเท่านั้น ซึ่งเป็นคอนเซปต์แบบเก่าและไม่เข้ากับยุคสมัยปัจจุบันที่มีตัวแปรเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย โดยในบางกรณี ตัวเลขเงินเฟ้อและอัตราว่างงานต่ำอาจสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากการที่ราคาผู้บริโภคอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานอาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ภาวะอุปสงค์ที่ชะลอตัวอย่างมาก หรือการที่อัตราว่างงานต่ำมากอาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเปลี่ยนงานใหม่

 

นอกจากนี้หลายประเทศยังใช้มาตรวัดภาวะตลาดแรงงานที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงอาจส่งผลให้บางประเทศมีอัตราว่างงานต่ำมาก แต่ก็ไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงภาวะตลาดแรงงานที่แท้จริง

 

ขณะที่นักวิชาการไทยให้ความเห็นว่า การคำนวณค่า ‘ดัชนีความทุกข์ยาก’ ควรนำข้อมูลอื่นๆ มาประกอบอย่างรอบด้านด้วย เช่น ต้นทุนการครองชีพ ดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชัน และดัชนีชี้วัดปัญหาสังคมจากอาชญากรรม เป็นต้น

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising