×

พิธีเปิดสมัยประชุมสภาอังกฤษ กับธรรมเนียมสะท้อนอำนาจกษัตริย์และรัฐสภา

14.10.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MINS. READ
  • พิธีการเปิดสมัยการประชุมสภาอังกฤษสะท้อนถึงหลักการที่ว่าพระราชอำนาจแต่ดั้งเดิมเป็นของพระมหากษัตริย์ แม้ว่าในทางความเป็นจริง สภาผู้แทนราษฎรและสภาขุนนาง ตลอดจนรัฐบาลและศาลจะเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจในการปกครองประเทศ 
  • เมื่อ Black Rod มาปรากฏตัวที่หน้าห้องประชุมสภา เจ้าหน้าที่ที่ห้องประชุมนั้นจะปิดประตูทันที ทำให้ Black Rod ต้องใช้คทาเคาะประตูถึง 3 ครั้ง ก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้เข้าไปภายใน อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าอำนาจอันเป็นอิสระของสภาสามัญ และกษัตริย์จะไม่มีอำนาจเหนือที่ประชุมสภา 
  • พิธีเปิดสมัยประชุมสภาของอังกฤษนี้ถือเป็นพิธีการที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ด้วยเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดกันมาหลายร้อยปี และแสดงออกถึงหลักการทางรัฐธรรมนูญและประวัติศาสตร์การปกครองของอังกฤษ

ในวันนี้ (14 ตุลาคม) จะเป็นอีกวันที่มีความสำคัญทางการเมืองของอังกฤษ โดยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จะเสด็จพระราชดำเนินมายังรัฐสภาเวสต์มินสเตอร์ และทรงมีพระราชดำรัสเพื่อเปิดสมัยการประชุมสภาอย่างเป็นทางการ 

 

นอกจากจะต้องติดตามว่าถ้อยคำในพระราชดำรัสซึ่งรัฐบาลจัดทำขึ้นจะเป็นอย่างไรแล้ว ขั้นตอนพิธีการต่างๆ อันแสดงถึงธรรมเนียมปฏิบัติและวัฒนธรรมประเพณีอันยาวนานของอังกฤษก็เป็นสิ่งที่ต้องไม่พลาดชม

 

สำหรับพิธีการที่กษัตริย์แห่งอังกฤษเสด็จพระราชดำเนินไปเปิดสมัยการประชุมนั้นสันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 เรื่อยมา แต่รูปแบบพิธีที่เห็นกันในปัจจุบันนั้นมีขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียในปี 1852 ภายหลังจากที่เกิดไฟไหม้รัฐสภาวังเวสต์มินสเตอร์และมีการสร้างอาคารนี้ขึ้นใหม่ โดยครั้งสุดท้ายที่มีพิธีนี้คือในปี 2017 เมื่อครั้งที่รัฐบาลของ เทเรซา เมย์ เข้ารับหน้าที่หลังการเลือกตั้งท่ามกลางปัญหา Brexit

 

พิธีการนี้สะท้อนถึงหลักการที่ว่าพระราชอำนาจแต่ดั้งเดิมเป็นของพระมหากษัตริย์ แม้ว่าในทางความเป็นจริง สภาผู้แทนราษฎรและสภาขุนนาง ตลอดจนรัฐบาลและศาลจะเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจในการปกครองประเทศ แต่อำนาจนั้นก็ล้วนแต่เชื่อมโยงสัมพันธ์ถึงสถาบันกษัตริย์เสมอ พิธีการนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออังกฤษทั้งในด้านประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองและในด้านกฎหมาย รวมถึงมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่ารู้และน่าสนใจหลายเรื่องที่ต้องจับตามอง

 

การรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด

ในช่วงเช้าก่อนที่พิธีการจะเริ่มขึ้น เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จะตรวจตราบริเวณโดยรอบอาคารอย่างละเอียดเพื่อป้องกันเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการเดินตรวจแล้ว ปัจจุบันยังมีการใช้กล้องจับภาพในแทบทุกจุดด้วย 

 

 

สืบเนื่องจากเหตุการณ์ในปี 1605 ซึ่งมีกลุ่มบุคคลพยายามที่จะลอบสังหารพระเจ้าเจมส์ที่ 1 โดยการลอบวางระเบิดดินปืนไว้ใต้ห้องประชุมสภาขุนนาง เพื่อที่ตึกจะได้ถล่มลงมาในช่วงที่มีพิธีเปิดสมัยประชุม ซึ่งคณะผู้ก่อการได้ดำเนินการถึงขั้นที่นำระเบิดดินปืนจำนวนมากไปซุกซ่อนไว้ใต้ฐานอาคารทั้งหมดแล้ว และมอบหมายให้ กาย ฟอกส์ เป็นผู้ทำหน้าที่จุดชนวนระเบิด

 

อย่างไรก็ตาม ในคืนก่อนถึงวันเปิดสมัยประชุมสภา แผนการดังกล่าวเกิดรั่วไหล ทำให้พระเจ้าเจมส์ที่ 1 ทรงให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพื้นที่ทั้งหมดจนค้นพบระเบิดดินปืนที่ซ่อนอยู่ พร้อมกับจับกุม กาย ฟอกส์ ได้ในที่นั้นด้วย และจากการสอบสวนนำไปสู่การลงโทษประหารชีวิตเขากับผู้ที่ร่วมก่อการจำนวนมาก โดยเรียกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ‘แผนการระเบิดดินปืน’ (The Gunpowder Plot) 

 

จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เจ้าหน้าที่จะต้องตรวจสอบความเรียบร้อยของอาคารรัฐสภาในช่วงเช้าก่อนที่จะมีพิธีเปิดสมัยการประชุมสภา เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังเช่น The Gunpowder Plot อีก

 

Black Rod กับอำนาจที่เป็นอิสระของสภาผู้แทนราษฎร

สำหรับผู้ที่เคยชมการเปิดประชุมสภาของอังกฤษ ภาพเหตุการณ์สำคัญที่จะต้องเห็นคือ เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินโดยรถม้าพระที่นั่งมาถึงยังอาคารรัฐสภาและเข้าประทับ ณ ห้องประชุมสภาขุนนางแล้ว เจ้าพนักงานในชุดสีดำผู้อัญเชิญคทาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของสภาขุนนางที่เรียกว่า Gentleman (or Lady) Usher of the Black Rod หรือเรียกสั้นๆ ว่า Black Rod จะทำหน้าที่เสมือนเป็นผู้แทนพระองค์เพื่อเชิญให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่อยู่ที่ห้องประชุมไปยังห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎรหรือสภาสามัญเพื่อมารับฟังพระราชดำรัส

 

 

เมื่อ Black Rod มาปรากฏตัวที่หน้าห้องประชุมสภา เจ้าหน้าที่ที่ห้องประชุมนั้นจะปิดประตูทันที ทำให้ Black Rod ต้องใช้คทาเคาะประตูถึง 3 ครั้งก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้เข้าไปภายใน อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าอำนาจอันเป็นอิสระของสภาสามัญ และกษัตริย์จะไม่มีอำนาจเหนือที่ประชุมสภา รวมทั้งไม่อาจเข้ามาภายในห้องประชุมได้หากไม่ได้รับอนุญาตจากที่ประชุม

 

 

ธรรมเนียมดังกล่าวเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ในช่วงก่อนเกิดสงครามกลางเมืองอังกฤษ ซึ่งพระเจ้าชาร์ลที่ 1 กับฝ่ายรัฐสภานั้นกำลังมีความขัดแย้งกันอย่างมาก จนเมื่อวันที่ 4 มกราคม 1642 พระเจ้าชาร์ลที่ 1 ทรงกระทำการอันไม่มีผู้ใดคาดคิดหรือเคยกระทำมาก่อน คือทรงนำกำลังทหารบุกเข้าไปในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อจับกุมสมาชิกสภา 5 คนที่ต่อต้านและคัดค้านความประสงค์ของพระองค์ แม้ขณะนั้นสมาชิกสภาจะกำลังประชุมกันอยู่ พระองค์ก็ทรงให้ทหารพังประตูเข้าไปขัดขวางการประชุมสภาได้สำเร็จ

 

อย่างไรก็ตาม พระเจ้าชาร์ลที่ 1 ทรงคว้าน้ำเหลวในการจับกุม เนื่องจากสมาชิกสภาทั้ง 5 คนได้ล่วงรู้ถึงการออกหมายจับและหลบหนีออกไปจากที่ประชุมสภาก่อนแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น การกระทำของพระองค์เท่ากับเป็นการละเมิดหลักการแบ่งแยกองค์กรผู้ใช้อำนาจปกครองและเอกสิทธิ์ของสมาชิกสภา จึงเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาทำให้เกิดสงครามกลางเมืองอังกฤษในเวลาต่อมา ซึ่งสิ้นสุดด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายกษัตริย์ และพระเจ้าชาร์ลต้องทรงถูกสำเร็จโทษในที่สุด

 

จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้พระเจ้าชาร์ลที่ 1 ทรงเป็นกษัตริย์อังกฤษพระองค์สุดท้ายที่ได้เข้ามาในห้องประชุมสภาสามัญ เพราะหลังจากนั้นก็ไม่มีกษัตริย์พระองค์ใดเข้ามายังที่ประชุมอีกเลย จึงเป็นต้นแบบของธรรมเนียมปฏิบัติในการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสหราชอาณาจักรที่กษัตริย์จะทรงประทับที่ห้องประชุมสภาขุนนางแทน และจะให้ Black Rod เป็นผู้มาเชิญสมาชิกสภาไปแทน โดยจะต้องเคาะประตูขออนุญาตเข้าไปในที่ประชุมสภาก่อน อันเป็นการแสดงความเคารพต่ออำนาจสูงสุดของรัฐสภา

 

Queen’s Speech กับหลักการปกครองของอังกฤษ

เมื่อ Black Rod เข้าไปในห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้แล้ว ก็จะกล่าวต่อประธานสภาว่า “ท่านประธานสภา สมเด็จพระราชินีนาถทรงมีพระราชบัญชาให้สภาที่ทรงเกียรติแห่งนี้ไปเข้าเฝ้าฯ พระองค์ที่ห้องประชุมสภาขุนนางทันที (Mr [or Madam] Speaker, The Queen commands this honourable House to attend Her Majesty immediately in the House of Peers.)” 

 

 

ซึ่งจากธรรมเนียมที่ผ่านมา มักจะมีสมาชิกสภาที่จะเอ่ยคำพูดตลกขบขันเปรียบเทียบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันด้วย จากนั้นประธานสภาพร้อมกับสมาชิกก็จะเดินตาม Black Rod ออกไปยังห้องประชุมสภาขุนนาง โดยสมาชิกสภาสามัญจะยืนอยู่เพียงด้านหน้าทางเข้า โดยไม่สามารถเข้าไปในห้องประชุมได้

 

ในห้องประชุมสภาขุนนางนั้น สมเด็จพระราชินีนาถทรงประทับเหนือพระราชบัลลังก์ เมื่อทุกฝ่ายพร้อมแล้วจะทรงมีพระราชดำรัสเป็นการเปิดสมัยประชุมสภาที่เรียกว่า ‘Speech from the throne’ ซึ่งข้อความในพระราชดำรัสที่ทรงอ่านนั้น รัฐบาลเป็นผู้เตรียมการและยกร่างมาทูลเกล้าถวายฯ อันมีเนื้อหาเกี่ยวกับบทบาทและแนวนโยบายของรัฐบาลในกิจการด้านนิติบัญญัติ หรือเป็นการบอกว่ารัฐบาลจะตรากฎหมายอะไรบ้างในสมัยประชุมนี้

 

การที่ทรงมีพระราชดำรัสตามถ้อยคำที่รัฐบาลได้ร่างมานั้นเป็นการยืนยันหลักการ ‘The king can do no wrong’ และหลักการเรื่องพระราชอำนาจโดยดั้งเดิม (Prerogative Power) โดยพระองค์มิได้ทรงกระทำในนามของพระองค์เอง แต่ทรงกระทำในนามของรัฐบาล และเป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบ เท่ากับเป็นการประทับอยู่เหนือการเมืองและความขัดแย้งใดๆ

 

ขณะที่ทรงอ่านพระราชดำรัสนั้น บรรดาสมาชิกสภาขุนนางตลอดจนบุคคลสำคัญต่างๆ ซึ่งเข้าเฝ้าฯ อยู่ที่นั่นจะรับฟังด้วยอาการอันสงบ เมื่อทรงกล่าวจบแล้วจะทรงกล่าวอวยพรว่า “My Lords and Members of the House of Commons, I pray that the blessing of Almighty God may rest upon your counsels.” จากนั้นจะทรงประทับยืนและทรงโค้งให้แก่ผู้มาเฝ้าฯ และเสด็จพระราชดำเนินกลับ เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี

 

พิธีเปิดสมัยประชุมสภาของอังกฤษนี้ถือเป็นพิธีการที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ด้วยเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดกันมาหลายร้อยปี และแสดงออกถึงหลักการทางรัฐธรรมนูญและประวัติศาสตร์การปกครองของอังกฤษ ด้วยบทบาทของพระมหากษัตริย์ที่เป็นจุดเชื่อมโยงการใช้อำนาจขององค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ อันสะท้อนถึงบทบาทการเป็นประมุขของประเทศด้วย

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising