วานนี้ (15 กุมภาพันธ์) สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงผลการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ วันที่ 77 เมื่อเวลา 15.00 น. ว่าสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง ได้รายงานผลการลงทะเบียนพบว่ามีประชาชนลงทะเบียนแล้ว 142,958 ราย มูลหนี้รวม 10,135.255 ล้านบาท
เป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 119,557 ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 23,401 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 113,216 ราย มีพื้นที่จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 5 ลำดับแรกดังนี้
- กรุงเทพมหานคร ยังคงมีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 11,158 ราย เจ้าหนี้ 8,219 ราย มูลหนี้ 903.181 ล้านบาท
- นครศรีธรรมราช มีผู้ลงทะเบียน 5,763 ราย เจ้าหนี้ 5,411 ราย มูลหนี้ 393.911 ล้านบาท
- สงขลา มีผู้ลงทะเบียน 5,278 ราย เจ้าหนี้ 4,250 ราย มูลหนี้ 347.801 ล้านบาท
- นครราชสีมา มีผู้ลงทะเบียน 4,949 ราย เจ้าหนี้ 4,052 ราย มูลหนี้ 429.592 ล้านบาท
- สุรินทร์ มีผู้ลงทะเบียน 3,873 ราย เจ้าหนี้ 2,781 ราย มูลหนี้ 353.776 ล้านบาท
ขณะที่จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่
- แม่ฮ่องสอน มีผู้ลงทะเบียน 236 ราย เจ้าหนี้ 239 ราย มูลหนี้ 14.243 ล้านบาท
- ระนอง มีผู้ลงทะเบียน 335 ราย เจ้าหนี้ 259 ราย มูลหนี้ 23.693 ล้านบาท
- สมุทรสงคราม มีผู้ลงทะเบียน 380 ราย เจ้าหนี้ 298 ราย มูลหนี้ 14.969 ล้านบาท
- ตราด มีผู้ลงทะเบียน 456 ราย เจ้าหนี้ 335 ราย มูลหนี้ 20.065 ล้านบาท
- สิงห์บุรี มีผู้ลงทะเบียน 460 ราย เจ้าหนี้ 362 ราย มูลหนี้ 25.542 ล้านบาท
สุทธิพงษ์กล่าวว่า สำหรับข้อมูลการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบทั่วประเทศพบว่ามีลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว 23,215 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 14,246 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนการไกล่เกลี่ย 2,126.158 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 1,419.153 ล้านบาท มูลหนี้ลดลง 707.005 ล้านบาท และจังหวัดที่สามารถนำลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยได้มากที่สุดยังคงเป็นนครสวรรค์เช่นเดิม
โดยมีลูกหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 3,236 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 386 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนไกล่เกลี่ย 268.588 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 38.559 ล้านบาท ทำให้มูลหนี้ของพี่น้องประชาชนในนครสวรรค์ลดลง 230.029 ล้านบาท สำหรับกรณีที่ไม่ได้รับความร่วมมือกระทั่งไม่สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยได้ เจ้าหน้าที่ได้ส่งต่อเรื่องไปยังพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจในพื้นที่ดำเนินคดีไปแล้ว 276 คดี ใน 35 จังหวัด
สุทธิพงษ์กล่าวต่อว่า ขณะนี้ยังเหลือเวลาอีก 14 วันที่พี่น้องประชาชนยังคงสามารถลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐเพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งจะรับลงทะเบียนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ทั้งการเดินทางไปขอคำปรึกษาและลงทะเบียน ณ ศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด (ห้องศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด), ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง (ห้องศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ), สำนักงานเขตทั้ง 50 เขตของกรุงเทพมหานคร
ตลอดจนพื้นที่การจัดมหกรรมตลาดนัดแก้หนี้ระดับจังหวัด และตลาดนัดแก้หนี้อำเภอ หรือสามารถลงทะเบียนทางระบบออนไลน์ที่ https://debt.dopa.go.th
โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. 1567