นับเป็นหนึ่งในอีเวนต์ใหญ่ประจำเดือนกรกฎาคมที่ใครหลายคนรอคอย สำหรับเทศกาลภาพยนตร์ ‘กรุงเทพกลางแปลง’ ที่ขนขบวนทัพภาพยนตร์หลากหลายยุคสมัยมาฉายให้กับผู้ชมได้รับชมกันอีกครั้งในรูปแบบ ‘หนังกลางแปลง’ ตามนโยบาย 12 เทศกาลตลอดปีทั่วกรุงเทพฯ ของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.)
เมื่อวานนี้ (7 กรกฎาคม) THE STANDARD POP ได้มีโอกาสไปรับชมเทศกาลภาพยนตร์ ‘กรุงเทพกลางแปลง’ ณ ลานคนเมือง ในช่วงเย็นที่ผ่านมา เราจึงอยากพาผู้อ่านทุกท่านที่พลาดไป มาดูเรื่องราวและบรรยากาศภายในงานเพิ่มเติมกันอีกสักเล็กน้อย
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- ปักหมุดรอไว้เลย! รวมลิสต์ภาพยนตร์ทั้ง 25 เรื่องที่จ่อคิวเข้าฉายในเทศกาลหนัง ‘กรุงเทพกลางแปลง’ ตั้งแต่วันที่ 7-31 ก.ค. นี้:
https://thestandard.co/bangkok-klang-pang-movie-list/
โดยกิจกรรมจะประกอบไปด้วยพิธีเปิดงานของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. คนปัจจุบัน ตามมาด้วยการแสดงดนตรีสดจาก เบิร์ด-กุลพงศ์ บุนนาค และ ฮาร์ท-สุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์กุล สองศิลปินวงเบิร์ดกะฮาร์ท พร้อมได้ ปั่น-ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว มาร่วมกันขับร้องบทเพลงเพื่อสร้างสีสันให้กับผู้ชมก่อนที่จะไปรับชมภาพยนตร์
ซึ่งก่อนหน้าที่เราจะไปรับชมภาพยนตร์กัน ก็มีการฉายตัวอย่างภาพยนตร์ไทยที่เตรียมเข้าฉายในเร็วๆ นี้ให้กับทุกคนได้รับชมทั้งหมด 3 เรื่อง ได้แก่ Leio ไลโอโคตรแย้ยักษ์, บุพเพสันนิวาส 2 และ The Lake บึงกาฬ
จากนั้นจึงต่อด้วยไฮไลต์ของงานอย่างการสัมภาษณ์ อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง 2499 อันธพาลครองเมือง (2540) และ ติ๊ก-เจษฎาภรณ์ ผลดี นักแสดงผู้รับบทเป็น แดง ไบเล่ ภายในเรื่อง โดยมี ทราย-อินทิรา เจริญปุระ เป็นผู้ดำเนินรายการ เรียกได้ว่าการสัมภาษณ์ในครั้งนี้เป็นการโคจรกลับมาพบกันอีกครั้งของสามตำนานภาพยนตร์ไทยยุค 90 เลยก็ว่าได้
ซึ่งการสัมภาษณ์ก็เป็นอะไรที่เซอร์วิสแฟนคลับสุดๆ โดยเฉพาะช่วงท้ายของการสัมภาษณ์ที่ติ๊ก เจษฎาภรณ์ ได้โรลเพลย์เป็นแดง ไบเล่ อีกครั้ง พร้อมกับพูดประโยคอมตะของเจ้าตัวอย่าง “เป็นเมียเราต้องอดทน” ที่เมื่อพูดจบก็สร้างเสียงกรี๊ดดังกระหึ่มทั่วลานกว้างในทันที
และสุดท้ายก็ปิดม่านค่ำคืนแห่งความครึกครื้นของคนกรุงด้วยการฉายภาพยนตร์เรื่อง 2499 อันธพาลครองเมือง ตามที่หลายคนรอคอยในที่สุด
นอกจากทั้งสามคนแล้ว ภายในงานยังมีบุคลากรสำคัญในวงการภาพยนตร์อีกมากมาย เช่น อ๊อด-บัณฑิต ทองดี ผู้กำกับและอดีตนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย, นุชชี่-อนุชา บุญยวรรธนะ หนึ่งในผู้กำกับหญิงที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ, ประวิทย์ แต่งอักษร อาจารย์และนักวิจารณ์ภาพยนตร์ชื่อดัง, ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ ผู้ก่อตั้ง Documentary Club และ ก้อง ฤทธิ์ดี รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์
และภายในงานยังมีร้านค้ามากมายที่รอให้ผู้ชมได้จับจ่ายใช้สอยกันอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องดื่ม ของชำร่วย หรือกระทั่งของมือสองหายาก ทั้งหมดนั้นนอกจากจะเต็มไปด้วยคุณภาพในราคาที่เป็นมิตรแล้ว บางสิ่งยังหาซื้อไม่ได้ในยุคสมัยนี้อีกด้วย
แต่สิ่งที่พิเศษที่สุดในงานนี้ก็คงหนีไม่พ้น ‘หนังกลางแปลง’ ที่เชื่อมคนทั้งสองยุคเข้าด้วยกัน จะเห็นได้จากการที่ผู้มาร่วมงานนั้นมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างวัยกันออกไป มีตั้งแต่ลูกเด็กเล็กแดงไปจนถึงคนเฒ่าคนแก่ ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันว่า ไม่ว่าจะยุคสมัยไหนผู้คนก็ยังให้ความสนใจกับ ‘หนังกลางแปลง’ เสมอ โดยเฉพาะเด็กยุคใหม่ที่ไม่เคยได้สัมผัสกับประสบการณ์ที่ผู้ใหญ่หลายคนเคยเล่าให้ฟังมาก่อน และ ‘กรุงเทพกลางแปลง’ ก็เป็นเหมือนสิ่งที่มอบโอกาสเหล่านั้น ให้พวกเขาได้สัมผัสสิ่งที่เคยถูกเล่าขานในอดีตเป็นครั้งแรก
แต่ไม่ใช่เพียงแค่เด็กยุคใหม่เท่านั้นที่มีความรู้สึกร่วมกับงาน ผู้ใหญ่หลายคนเองก็ไม่ต่างกัน เพราะ ‘หนังกลางแปลง’ เป็นสิ่งที่เติบโตมาคู่กับชีวิตของพวกเขา และการที่ได้สัมผัสประสบการณ์แบบในวันนั้นอีกครั้ง ก็อาจทำให้ใครหลายคนหวนนึกถึงความทรงจำในอดีตสมัยที่ตัวเองยังเป็นเพียงแค่เด็กตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่ได้รู้จักกับ ‘หนังกลางแปลง’ เป็นครั้งแรก
เทศกาลภาพยนตร์ ‘กรุงเทพกลางแปลง’ จึงเป็นเหมือนกิจกรรมที่เชิญชวนให้คนทั้งสองวัยออกมาทำกิจกรรม เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ของกันและกันให้มากยิ่งขึ้น ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมดีๆ ที่คนกรุงเทพฯ ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง