ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกเหนือจากความดุเดือดบนเวทีการเมืองของไทย ก็ยังมีอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่แทรกขึ้นมาเป็นประเด็นใหญ่ไม่แพ้กัน นั่นคือเรื่องของฝนที่ตกหนักจนถล่มกรุงเทพฯ เป็นเหตุให้มีน้ำท่วมหนักหลายพื้นที่เมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา
หลังจากเกิดเหตุน้ำท่วมฉับพลันดังกล่าว ประชาชนผู้อาศัยในเขตกรุงเทพฯ ต่างมองไปในทิศทางเดียวกันทันทีว่า เหตุใดปัญหาน้ำท่วมแบบนี้จึงเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า และกลายเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไม่สิ้นสุด
และทันทีที่กระแสความไม่พอใจของประชาชนได้มีมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ต้องออกมาโพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก ‘ผู้ว่าฯ อัศวิน’ พร้อมเปิดเผยว่า สาเหตุน้ำท่วมเกิดจากการที่พื้นที่พญาไท ดินแดง ห้วยขวาง จตุจักร มีฝนตกหนักมากประมาณ 90-100 มม. ในขณะที่สถานีสูบน้ำรัชดาฯ วิภาวดี และอุโมงค์บางซื่อใช้ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากกระแสไฟที่จ่ายเข้าไปสำหรับเดินเครื่องสูบมีปัญหา จนทำให้น้ำไม่สามารถสูบเพื่อระบายออกอย่างทันท่วงที
อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร และอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้ออกมาบอกกับสื่อมวลชนว่า ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากแบบนี้เป็นสิ่งที่ต้องรีบเร่งและขจัดให้หมดไป ไม่เช่นนั้นเรื่องของน้ำท่วมก็จะกลายเป็นปัญหาที่ไม่สิ้นสุด
พร้อมกันนี้ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ยังได้เสนอนวัตกรรมและวิธีแก้ไขปัญหาฝนตกน้ำท่วมสำหรับชาวกรุงเทพฯ อย่างยั่งยืนที่น่าสนใจ ซึ่งสามารถใช้ต้นทุนที่ต่ำ และทำได้ทันที ภายใต้โมเดลชื่อ ‘แก้มลิงใต้ดิน BKK’
ก่อนจะเล่าถึงโมเดลดังกล่าว ศ.ดร.สุชัชวีร์ เริ่มเท้าความให้เห็นถึงสภาพของภูมิศาสตร์ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่าเดิมทีเป็นเมืองปากแม่น้ำเจ้าพระยาที่เกิดจากการทับถมมาตั้งแต่ในอดีต ซึ่งปัจจุบันยังมีประชาชนไม่น้อยที่เข้าใจผิดว่าปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากเกิดจากดินทรุดตัวของกรุงเทพฯ จนทำให้น้ำขัง
แต่ในความเป็นจริง โครงสร้างของกรุงเทพมหานครมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ระดับถนนต่ำกว่าแหล่งน้ำ ประกอบกับท่อระบายน้ำอยู่สูงกว่าถนน โดยเฉพาะบริเวณซอยที่เป็นพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่น เมื่อถึงช่วงฤดูฝนหรือช่วงที่มีฝนตกชุก มักจะทำให้เกิดปัญหาระบายน้ำไม่ทัน และท่วมขังจนก่อให้เกิดกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในที่สุด
ศ.ดร.สุชัชวีร์ บอกต่อไปอีกว่า จนถึงตอนนี้ สิ่งเดียวที่ กทม. สามารถดำเนินการขจัดปัญหาน้ำท่วมได้อย่างทันท่วงทีคือ ‘วิธีการสูบน้ำ’ เพราะฉะนั้นเวลามีน้ำขังในกรุงเทพฯ ก็ต้องทำการสูบออกเสมอ แต่ทว่าเรื่องของระบบการสูบน้ำในยุคปัจจุบันที่ กทม. มีอยู่กลับไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยสิ่งนี้ถือเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่ต้องตรวจสอบและทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงระบบการสูบน้ำ รวมถึงสภาพพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ อีกด้วย
นอกจากเรื่องของความรู้ความเข้าใจในเรื่องของพื้นที่กรุงเทพฯ และกลไกของระบบสูบน้ำแล้ว สิ่งที่ต่อมาคือเรื่องของเทคโนโลยีที่ควรนำเข้ามาเพื่อช่วยเหลือให้การทำงานของระบบสูบน้ำให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
“สังเกตหรือไม่ว่าที่ผ่านมาเราใช้แรงคนเป็นหลักในการดำเนินงานระบบสูบน้ำเหล่านี้ พอฝนตกลงมา เครื่องสูบน้ำเสียอันเกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น ฟิวส์ขาด คนไม่มาทำงาน หรือปัญหาการขัดข้องทางเทคนิคทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันจะปล่อยให้เป็นแบบนั้นไม่ได้แล้ว ยุคนี้ต้องใช้เทคโนโลยี เพราะเดี๋ยวนี้ระบบต่างๆ ทั่วโลกใช้ระบบอัตโนมัติเกือบทั้งหมด ปัจจุบันทุกสิ่งอย่างในโลกสามารถควบคุมผ่านโทรศัพท์มือถือได้หมดแล้ว เพราะฉะนั้นแล้วระบบในการควบคุมเครื่องสูบน้ำในกรุงเทพฯ ควรเป็นระบบอัตโนมัติ”
และทันทีที่อธิบายถึงต้นตอปัญหาน้ำท่วมเสร็จ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ได้เผยแนวคิดของนวัตกรรมอ่างเก็บน้ำยักษ์ใต้ดิน เพื่อแก้ปัญหาน้ำรอระบาย โดยใช้ต้นทุนที่ต่ำ และที่สำคัญคือสามารถดำเนินการได้ทันทีในชื่อ ‘แก้มลิงใต้ดิน BKK’
สำหรับโมเดล ‘แก้มลิงใต้ดิน BKK’ ถือเป็นนวัตกรรมที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาฝนตกน้ำท่วมสำหรับชาวกรุงเทพฯ ในรูปแบบแท็งก์เก็บน้ำใต้ดิน เพื่อลำเลียงน้ำฝนบนพื้นถนนไปกักเก็บไว้ใต้ดินเพื่อรอระบายไปยังแหล่งน้ำ
โดยมีแนวคิดเริ่มจากแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 เพียงแต่เป็นการนำมาพัฒนานำร่องในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯ โดยเฉพาะตามเขตที่มักจะประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก เช่น ลาดพร้าว, บางซื่อ, รามคำแหง, ปทุมวัน, เพลินจิต และสุขุมวิท เป็นต้น พร้อมการนำเทคโนโลยีเซนเซอร์เข้ามาใช้ในการติดตามการทำงานของเครื่องสูบน้ำในจุดต่างๆ ซึ่งสามารถทำได้ทันที มีต้นทุนต่ำ เพื่อให้การระบายน้ำไม่สะดุด และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนกรุงเทพมหานครได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ‘แก้มลิงใต้ดิน BKK’ จึงถือเป็นนวัตกรรมอ่างเก็บน้ำใต้ดิน ซึ่งใช้วิธีเปิดหน้าดินเป็นแท็งก์เก็บกักน้ำ โดยใช้เครื่องมือเจาะคว้านดินด้านในสร้างเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ใต้ดินขึ้น โดยที่ไม่กระทบการใช้ประโยชน์จากผิวหน้าดิน จุดยุทธศาสตร์ที่สามารถทำได้ทันที เช่น บริเวณสวนสาธารณะสวนจตุจักร บึงในพื้นที่โรงงานยาสูบ
โดย ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ได้เสริมความเข้าใจของแก้มลิงใต้ดินนี้ต่อไปว่า โมเดลแก้มลิงใต้ดิน หรือแท็งก์น้ำใต้ดินนี้ สามารถใช้เป็นพื้นที่ในการกักเก็บน้ำในช่วงเวลาที่มีฝนตกชุกได้ อีกทั้งหัวใจสำคัญของการบริหารจัดการน้ำในช่วงเวลาที่มีฝนตกชุก ยังสามารถเชื่อมโยงการใช้ประโยชน์จาก ‘แก้มลิงใต้ดิน BKK’ คือ การใช้เครื่องสูบน้ำขนาดเล็กเพื่อระบายน้ำออกไปยังอุโมงค์ใต้ดินที่อยู่ใกล้เคียง ก่อนระบายออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงเวลาที่น้ำทะเลไม่สูง โดยใช้หลักการระบายน้ำตามกฎของแรงโน้มถ่วง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการระบายน้ำ ซึ่งทั้งหมดนี้คือโมเดล ‘แก้มลิงใต้ดิน BKK’
สุดท้ายนี้ ศ.ดร.สุชัชวีร์ ย้ำว่า ปัญหาน้ำท่วมนี้ไม่ใช้หน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นงานที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่ต้องบูรณาการการทำงานอย่างเป็นระบบ และที่สำคัญเราทุกคนต้องเชื่อว่าเราสามารถแก้ไขได้
“ปัญหาของคนกรุงเทพฯ คือ มักจะคิดว่าฝนตกแล้วน้ำจะท่วม แล้วจะทำให้รถติดชั่วกัลปาวสาน เราห้ามคิดอย่างนั้นเลย เพราะนี่คือสิ่งที่ทำให้เราไม่สามารถหลุดจากวงจรแบบนี้ เพราะคนที่เป็นแบบเราเขาก็สามารถแก้ไขกันได้ เช่น กรุงโตเกียว มีประชากรมากกว่าเรา (เทียบแค่กรุงเทพฯ) เจอทั้งฝนและพายุมากกว่าเรา ทำไมยังแก้ไขได้ เพราะฉะนั้นจงเริ่มที่ตัวเรา
“อย่าเชื่อว่าเราแก้ไม่ได้ เพราะคนที่หนักกว่าเราแก้ไขมันได้มาแล้วทั้งนั้น” ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ กล่าวปิดท้าย
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า