×

‘จราจรเมืองกรุง’ นี่นี้…ใครทำ? เมื่ออำนาจอยู่กับสารพัดหน่วยงาน ‘ผู้ว่าฯ กทม.’ ทำอะไรได้บ้าง

20.05.2022
  • LOADING...
ผู้ว่าฯ กทม.’ ทำอะไรได้บ้าง

‘การจราจร’ หนึ่งในปัญหาสุดคลาสสิกของกรุงเทพมหานครที่ประชาชนต่างต้องการการแก้ไข

 

แต่คำถามคือ แท้จริงแล้วกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีอำนาจแค่ไหนในการจัดการองค์ประกอบต่างๆ ด้านการจราจรในพื้นที่ของตนเอง และถามต่อไปไกลกว่านั้นอีกว่า แล้วหากผู้ว่าฯ ต้องการจะเข้าไปจัดการในสิ่งที่ไม่อยู่ในอำนาจของ กทม. จะต้องทำอย่างไร

 

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา THE STANDARD มีโอกาสพูดคุยหาคำตอบในประเด็นเหล่านี้กับ ปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจราจรโดยตรง สรุปมาเป็นประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ ดังนี้

 

ถนนเมืองกรุง…ใครดูแล?

  • เราสามารถแบ่งถนนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลส่วนใหญ่ได้ตามหน่วยงานที่รับผิดชอบถนนเส้นนั้น ซึ่งมีอยู่ 4 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, กรมทางหลวง, กรมทางหลวงชนบท และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย
  • ตัวอย่างถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กทม. อาทิ จรัญสนิทวงศ์, ถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง เช่น รัชดาภิเษกและวิภาวดีรังสิต และถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท เช่น ถนนราชพฤกษ์ และสะพานข้ามแม่น้ำส่วนใหญ่อย่างสะพานกรุงธน เป็นต้น ส่วนทางด่วนจะอยู่ในความรับผิดชอบของการทางพิเศษฯ
  • ปัญญาเล่าว่า เนื่องจากโครงข่ายคมนาคมในอดีตไม่ได้มีมากมายเหมือนในปัจจุบัน ในอดีตกรมทางหลวงก็ทำถนนเส้นหลัก พอมาถึงระดับย่อยก็เป็นกรมทางหลวงชนบท และเมื่อเมืองขยายตัวมากขึ้น กทม. ก็มาปรับปรุงเติมความสมบูรณ์ให้กับระบบคมนาคม แต่ปัจจุบันถนนส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับ กทม. เป็นหลัก

 

ว่าด้วย ‘สิ่งอำนวยความสะดวก-เฟอร์นิเจอร์’ บนถนน

  • มาถึงหนึ่งคำถามสำคัญ เมื่อถนนไม่ได้มีแค่ทางราดยางมะตอย แต่ยังรวมถึง ‘สิ่งอำนวยความสะดวก’ และ ‘เฟอร์นิเจอร์’ ต่างๆ ทั้งสัญลักษณ์บอกทาง การตีเส้นทางม้าลาย ทางเท้า ไฟส่องสว่าง ฯลฯ แล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ปัญญาตอบว่าขึ้นอยู่กับถนนเป็นของใคร หากถนนเส้นนั้นอยู่ในความรับผิดชอบของ กทม. ดังนั้น กทม. ก็จะต้องรับผิดชอบสิ่งอำนวยความสะดวกหรือเฟอร์นิเจอร์เหล่านั้นไป หรือหากเป็นของกรมทางหลวงหรือกรมทางหลวงชนบท หน่วยงานเหล่านั้นก็ต้องรับผิดชอบ
  • หากใครจะปักป้ายโฆษณา ตั้งป้ายรถเมล์บนถนนเส้นไหน ก็ต้องไปเช็กว่าถนนเส้นนั้นเป็นของหน่วยงานไหน แล้วก็ต้องขออนุญาตให้ถูกต้องตามระเบียบ
  • นี่ยังรวมถึงการระบายน้ำบนถนนด้วย ปัญญายกตัวอย่างว่าหากคูข้างถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งเป็นถนนในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง เกิดมีเศษขยะ กรมทางหลวงก็ต้องเข้าไปดำเนินการขุดลอก หรือบนถนนแจ้งวัฒนะ มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ฝนตกแล้วน้ำท่วม กรมทางหลวงก็ต้องเข้าไปแก้ไข ก็กลับมาที่หลักการเดิมว่า ‘ขึ้นอยู่กับว่าถนนเส้นนั้นเป็นความรับผิดชอบของหน่วยใด’
  • ด้านการอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการก็เช่นกัน ‘ขึ้นอยู่กับว่าถนนเส้นนั้นเป็นความรับผิดชอบของหน่วยใด’
  • ส่วนเสาไฟฟ้า แม้ ‘ตัวเสา’ จะเป็นของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) แต่การที่ กฟน. จะปักเสาบนถนนต้องขออนุญาตผู้ที่รับผิดชอบถนนเส้นนั้นก่อน
  • ส่วนในเรื่องของ ‘รถ’ และ ‘คน’ จะมีกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ที่รับผิดชอบเรื่องการจดทะเบียนรถ มาตรฐานและกฎระเบียบของรถประเภทต่างๆ การสอบและออกใบขับขี่ ตลอดจนการตรวจจับควันดำ ส่วนเรื่องการบังคับใช้กฎหมายจราจรจะขึ้นอยู่กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)

 

ว่าด้วยนโยบายด้านการจราจร และทำอย่างไรกับเรื่องที่ต้อง ‘ข้ามหน่วยงาน’

  • ว่ากันด้วยคน รถ ถนน และสิ่งอำนวยความสะดวกทางกายภาพกันไปแล้ว และ ‘นโยบายด้านการจราจร’ การจราจรเส้นไหนคุมความเร็วไว้ที่เท่าไร การระบายรถจะทำอย่างไร นี่คือคำถามต่อมาว่า ‘ใครทำ’
  • ปัญญา ผู้อำนวยการ สนข. ระบุว่า มีหลายหน่วยงานที่ทำงานร่วมกันในเรื่องการเดินรถ ทั้ง กทม., สนข., สตช. ในส่วนที่ดูเรื่องการจราจร (กองบังคับการตำรวจจราจร)
  • ทั้งนี้ ใน สนข. เองจะมีคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติที่มีหน่วยงาน ‘ทุกหน่วยงาน’ เป็นองค์ประกอบในนั้น และมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แต่ปัจจุบันนายกฯ มอบหมาย พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานแทน
  • “หน่วยงานไหนก็ตามต้องการเสนอความคิดหรือไอเดียอะไรก็ตาม ส่วนใหญ่เราจะต้องมีการหารือกันก่อนอยู่แล้ว ในภาพรวมว่าเออ จะเอาอย่างไรดี ท่านมีความคิดเห็นอย่างไร เพราะการแก้ปัญหานี่มันไม่ใช่เส้นเดียวของหน่วยงานเดียวถูกไหม มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วย ใหญ่ๆ นั้น หน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพบางทีอาจจะ กทม. เป็นเจ้าภาพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นเจ้าภาพ หรือ สนข. เป็นเจ้าภาพ ก็ต้องมาคุยกัน คุยกันเสร็จได้ข้อสรุป ก็จะเอาเข้าเสนอในชั้นคณะกรรมการ คจร. ตัวนี้ เพื่อนำเสนอรัฐบาลให้เข้าสู่ ครม. เพื่อทราบ พอ ครม. ท่านโปรดทราบ หน่วยงานก็จะได้เอาไปปฏิบัติได้” ปัญญาเล่าถึงวิธีการประสานงานด้านจราจรข้ามหน่วยงานผ่าน คจร. ในปัจจุบัน
  • ปัญญายกตัวอย่างการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานว่า ขณะนี้ สนข. กำลังศึกษาเรื่องการนำกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งรอบ กทม. ไม่ว่าจะเป็นของ กทม., สตช., กรมทางหลวง, กรมทางหลวงชนบท และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เพื่อลิงก์มาที่ สนข. และใช้ปัญญาประดิษฐ์ดึงภาพมาทำการวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหาจราจรในภาพรวม โดยไม่ได้สนใจว่าถนนเส้นนั้นเป็นของใคร
  • เราถามต่อไปว่า แล้วนอกจากอำนาจของผู้ว่าฯ กทม. ที่มีต่อหน่วยงานของ กทม. เองแล้ว เมื่อไปเป็นส่วนหนึ่งของ คจร. แล้วผู้ว่าฯ กทม. จะมีบทบาทด้านการจราจรอย่างไรได้บ้าง ปัญญาตอบว่า กทม. เองก็มีแผนที่จะพัฒนาโครงข่ายคมนาคมของตัวเองอีกหลายเส้นทาง เช่น ถนน รถไฟฟ้า จนถึงระบบคมนาคมทางน้ำ ซึ่งผู้ว่าฯ กทม. ก็ต้องลงมาดูแผนเหล่านี้ และถ้าเส้นใดได้ข้อสรุปก็เสนอเข้า คจร. เพื่อพิจารณาเห็นชอบ ก่อนไปเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

 

มีการผลักดันอะไรอยู่แล้วบ้างในขณะนี้เพื่อแก้ปัญหาจราจร กทม. และอะไรที่แก้ยาก?

  • ปัญญาระบุว่า กระทรวงคมนาคมกำลังเร่งในการก่อสร้างและเปิดใช้รถไฟฟ้าสายต่างๆ และกำลังผลักดันระบบขนส่งสาธารณะรอง เพื่อให้คนออกจากบ้านแล้วสามารถไปยังจุดจอดที่อยู่ใกล้ที่สุดในระยะทางที่ไม่ไกล และจากจุดนั้นก็สามารถใช้ขนส่งสาธารณะรองดังกล่าวเพื่อไปต่อรถไฟฟ้าได้ หรือการปรับเส้นทางรถ ขสมก. เพื่อให้รองรับในเส้นทางที่รถไฟฟ้ายังไปไม่ถึง และทำหน้าที่นำคนออกจากบ้านมาถึงสถานีรถไฟฟ้า
  • “ปัญหาการจราจรส่วนไหนใน กทม. ที่แก้ยากที่สุด” นี่คือคำถามต่อไปที่เราถามปัญญา เขาตอบโดยเริ่มจากปัญหารถติดในจุดที่ต้องข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเขาบอกว่ารถจะติดหมดเพราะมีลักษณะเป็นคอขวด ปัญหานี้แก้ได้ยากเพราะพื้นที่ถนนและสะพานมีจำกัด การก่อสร้างขยายถนนในกรุงเทพฯ ทำได้ยาก เพราะสองข้างทางเป็นที่อยู่อาศัยหรือสถานที่ต่างๆ ไปหมดแล้ว จึงต้องมุ่งไปที่การสร้างรถไฟฟ้า และเมื่อเปิดใช้รถไฟฟ้าการจราจรที่ติดขัดบนถนนก็จะเบาบางลงด้วย
  • เราถามต่อเนื่องไปอีกว่า ฟังดูแล้วรถไฟฟ้าเป็นเหมือนความหวังเดียว แล้วเรายังมีความหวังอื่นอีกหรือไม่ ปัญญาตอบว่ารถไฟฟ้าไม่ใช่ความหวังเดียว เพราะ สนข. กำลังศึกษาเรื่องแผนแม่บททางน้ำ หรือ ‘Water Map’ เนื่องจากปัจจุบันมีประชาชนเดินทางในเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาหรือคลองแสนแสบค่อนข้างมาก แต่มีคลองอีกหลายคลองที่จะช่วยนำคนออกจากบ้านต่อเชื่อมไปยังสถานีรถไฟฟ้าได้ รวมถึงในจุดที่ยังก่อสร้างทางได้ก็มีการดำเนินการมาต่อเนื่อง เช่น การสร้างทางพิเศษไปยังถนนพระราม 2 เพิ่มเติม หรือการต่อดอนเมืองโทลล์เวย์ไปถึงบางปะอิน
  • อย่างไรก็ตาม ปัญญาเชื่อว่าปัจจุบันสถานการณ์รถติดใน กทม. ดีขึ้น เพราะการเปิดใช้งานรถไฟฟ้าทำให้คนเริ่มเปลี่ยนจากการใช้รถส่วนบุคคลมาใช้รถไฟฟ้า
  • แต่เราก็อดถามไม่ได้เช่นกันว่า ทั้งค่ารถไฟฟ้าและค่าทางด่วนอย่างโทลล์เวย์ก็มีเสียงสะท้อนมาโดยตลอดถึงราคาที่ไม่ถูกนัก จะทำอย่างไรในด้านราคาให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงเส้นทางเหล่านี้ได้มากขึ้น
  • ปัญญาตอบว่า สำหรับรถไฟฟ้า กระทรวงคมนาคมกำลังผลักดันเรื่องระบบตั๋วร่วม ที่มีเป้าหมายให้ใช้ร่วมกับรถไฟฟ้าได้หลายสายแต่เสีย ‘ค่าแรกเข้า’ เพียงครั้งเดียว ซึ่งทำให้ค่าโดยสารรวมถูกลง จากเดิมที่เข้ารถไฟฟ้าแต่ละสายต้องเสียค่าแรกเข้าแยกกัน อย่างไรก็ตาม แม้ปัญญาระบุว่ากลางปีนี้ประชาชนจะสามารถใช้บัตร EMV หรือพูดง่ายๆ ก็คือบัตรเดบิต เครดิต แตะเข้าระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินหรือสีม่วงได้ แต่ขั้นต่อไปจากนี้คือการพูดคุยเพื่อให้การลดการเก็บค่าแรกเข้าเกิดขึ้นได้จริง ส่วนรถไฟฟ้า BTS ปัญญายืนยันว่ามีการพูดคุยกันอยู่และ BTS ก็พร้อมที่จะปรับมาใช้ระบบเดียวกัน ขณะที่บัตรแมงมุมที่มีอยู่เดิมยังสามารถใช้ได้ แต่ก็จะมีการหมดอายุไปตามเวลา ปัญญาระบุว่า ทิศทางขณะนี้มุ่งสู่บัตร EMV เต็มตัวแล้ว
  • ส่วนเรื่องสัญญาสัมปทานต่างๆ ปัญญายอมรับว่าในหลายๆ เส้นทางมีการให้เอกชนมาลงทุน ซึ่งเอกชนย่อมต้องหวังได้ผลตอบแทนเป็นกำไร สิ่งที่รัฐทำได้คือพยายามควบคุมค่าผ่านทาง เช่น ค่าผ่านทางของดอนเมืองโทลล์เวย์เอาไว้ ซึ่งก็ต้องเข้าใจและสร้างสมดุลระหว่างประชาชนและเอกชนที่มาลงทุน และรัฐเองก็มีการทำการศึกษาอยู่แล้วว่าราคาตรงไหนที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายคือประชาชนและเอกชนนั้น ‘พอไปได้’ ทั้งคู่

 

นี่คือส่วนหนึ่งของ ‘สิ่งที่เป็นอยู่’ เกี่ยวกับการจราจรใน กทม. ที่รอผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่มารับบทหนักในการแก้ไขปัญหาให้ดียิ่งขึ้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising