×

สุชัชวีร์ ชูไอเดียสร้างแก้มลิงใต้บึงสวนจตุจักรพักน้ำ 1 แสน ลบ.ม. แก้น้ำท่วม กทม. ซ้ำซาก

โดย THE STANDARD TEAM
21.04.2022
  • LOADING...
สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

วันนี้ (21 เมษายน) สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) หมายเลข 4 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์’ ระบุว่า

 

‘จตุจักรพักน้ำ’

เวลาที่คุณมอง ‘สวนจตุจักร’ คุณคิดถึงอะไร?

ส่วนใหญ่จะคิดถึงสวนสาธารณะที่เต็มไปด้วยต้นไม้ สระน้ำขนาดใหญ่ และการพักผ่อน

แต่สำหรับผม นอกจากมิติเรื่อง ‘สวนสาธารณะ’ แล้ว

ผมจินตนาการถึงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมื่อฝนตกใหญ่ในแถบพหลโยธิน หมอชิต ดินแดง และลาดพร้าว

จะเกิดอะไรขึ้น ถ้า…

ถ้าเรามี ‘แก้มลิง’ ขนาดใหญ่อยู่ใต้บึงน้ำสวนจตุจักร

เป็น ‘ศูนย์พักคอยน้ำ’ เวลาฝนตกใหญ่

‘ความสวยงาม’ ยังคงเดิม

แต่เราแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ด้วย

 

น้ำท่วม น้ำเน่า น้ำหนุนซ้ำซากมีทางแก้นะครับ แต่ต้องแก้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว  แก้โดยใช้ตัวอย่างจากเมืองที่พัฒนาแล้วและทำสำเร็จมาแล้ว

 

การแก้ปัญหาระยะสั้นคือการสังคายนาระบบเปิดปิดประตูน้ำและเครื่องสูบน้ำเป็นระบบอัตโนมัติ ผ่านเครือข่าย WiFi ให้ทำงานสอดประสานกันทันทีเมื่อฝนตก ให้เหมือนกับเมืองอื่นๆ ที่พัฒนาแล้วทั่วโลก เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น แค่เปลี่ยนจากปัจจุบันที่ต้องไปตามคนมาเปิด เพราะไม่เคยทันการณ์และไม่เคยรอด

 

การปรับระบบสูบน้ำอัตโนมัติจะพอปะผุชีวิตคนกรุงเทพฯ ปัญหาน้ำท่วมดีขึ้นกว่าเดิมแน่ๆ แต่ก็ยังแก้ได้ไม่เบ็ดเสร็จ

 

เหตุเพราะกรุงเทพฯ เป็นแอ่งกระทะคอนกรีตที่ต้อง ‘สูบน้ำจากที่ต่ำขึ้นที่สูง’ คือจากซอยขึ้นถนน จากถนนขึ้นคลอง จากคลองขึ้นแม่น้ำเจ้าพระยา แก้ปัญหาสวนทางธรรมชาติ

 

เมืองอื่นเขาก็เจอปัญหาเดียวกัน ทั้งโตเกียว สิงคโปร์ ฮ่องกง กัวลาลัมเปอร์ เจอฝนหนัก เครื่องสูบน้ำก็เอาไม่อยู่

 

เขาจึงใช้วิธีสร้าง ‘แก้มลิงใต้ดิน’ หรือบ่อพักน้ำท่วมในพื้นที่ใจกลางเมือง เป็นบ่อคอนกรีตใต้ดิน เก็บน้ำท่วมรอระบายไว้ใต้ดิน ก่อนสูบขึ้นมาตอนฝนหยุด แบบนี้ชาวบ้านไม่เดือดร้อน น้ำแห้ง ไม่ท่วม นี่คือการแก้ปัญหาเบ็ดเสร็จครับ

 

จุดสร้างแก้มลิงใต้ดินแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากแถวจตุจักร สุขุมวิท รามคำแหง ที่พื้นที่ต่ำ น้ำรอระบายไม่เคยระบาย

 

ยกตัวอย่าง กรณีฝนตกหนักในเขตจตุจักร แชมป์น้ำท่วม กทม. กี่ปีๆ ก็ท่วมตั้งแต่ พหลฯ หมอชิต วิภาวดี ลาดพร้าว ดินแดง แม้จะมีฝนตกมาก แต่อย่าลืมว่าน้ำฝนได้ถูกกระจายสู่ระบบระบายน้ำตามธรรมชาติ ทั้งคลอง ท่อระบายน้ำ บึง ที่เก็บน้ำในชุมชน และระบบสูบน้ำของ กทม. ก็ช่วยระบายน้ำเช่นกัน แต่ไม่พอ

 

น้ำท่วมขังตรงนี้คือน้ำที่เหลือระบายไม่ทัน จึงสร้างความเดือดร้อนซ้ำซาก

 

ดังนั้นจุดนี้คือจุดที่ต้องสร้างแก้มลิงใต้ดิน พักน้ำส่วนเกินที่รอระบายไว้ใต้ดินก่อน น้ำก็ไม่ท่วม ประชาชนไม่เดือดร้อน

 

หากเราสร้างแก้มลิงใต้ดินขนาดยาว 100-200 เมตร กว้าง 50 เมตร ลึก 20 เมตร เก็บน้ำส่วนเกินที่ล้นระบบระบายน้ำ หรือที่เราเรียกว่าน้ำท่วมรอระบายได้มากถึงหนึ่งแสนถึงสองแสนลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ปริมาณไม่น้อยเลยครับ

 

ตั้งใจสร้างใต้บึงสวนจตุจักร ไม่ต้องเวนคืน สร้างง่ายราคาไม่สูง วิศวกรไทยทำได้สบายมาก ราคาขึ้นอยู่กับขนาด หากขนาดยาว 100 เมตร กว้าง 50 เมตร และลึก 20 เมตร รับน้ำได้ถึง 100,000 ลบม. งบค่าโครงสร้างไม่ถึง 400 ล้านบาทครับ และข้อดีคือไม่ต้องเสียค่าเวนคืนที่ดิน ใช้เวลาไม่เกิน 2 ปีใช้งานได้คุ้มค่าครับ

 

เพราะความสูญเสียจากน้ำท่วมซ้ำซากกรุงเทพฯ หากนับเป็นมูลค่าคงมากมายมหาศาล เพราะไม่ใช่แค่ความสูญเสียทางทรัพย์สิน แต่ยังต้องรวมความสูญเสียโอกาสและเรื่องเวลาของคนกรุงเทพฯ ปีละไม่ต่ำกว่าหลายพันล้านถึงหมื่นล้านแน่ๆ

 

ดังนั้นการลงทุนกับแก้มลิงใต้ดินในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากจึงคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม ลดการสูญเสียได้ทันที ที่สำคัญเมืองอื่นเขาพิสูจน์แล้วว่าทำได้และคุ้มค่าครับ จึงมีเมืองใช้วิธีนี้มากขึ้นๆ

 

ไอเดีย ‘จตุจักรพักน้ำ’ จึงน่าทำและทำได้ ผมได้เป็นผู้ว่าฯ ก็จะรีบทำทันที หรือถ้าผมไม่ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ ก็ยินดีที่จะยกไอเดียนี้เป็นไอเดียสาธารณะ ใครนำไปทำก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องให้เครดิตผมแต่ประการใดครับ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising