วันนี้ (15 พฤษภาคม) ที่สยามพารากอน THE STANDARD จัดงาน THE CANDIDATE BATTLE พลิกโฉมดีเบต ศึกดวลความคิด พิชิตโหวต ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป โดยมีแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. ร่วมประชันวิสัยทัศน์ และตอบคำถามจาก 16 ตัวแทนคน กทม. ซึ่งเป็นเจ้าของปัญหาแบบสดๆ และไฮไลต์สำคัญคือการแบตเทิลตอบคำถามระหว่างผู้สมัคร
สำหรับ ROUND 2: YOUR QUESTION YOUR VOICEวัดไหวพริบ ชิงกันตอบคำถามสดจากตัวแทนคนกรุงเทพฯ ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 11 ได้ตอบ 4 คำถาม ดังนี้
คำถาม 1: ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะแก้ปัญหาเรื่องการขนส่งสาธารณะอย่างไร
“ทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา หรือ ‘เลียบด่วน’ ทุกคนจะคิดว่าเป็นทางด่วนที่บรรเทาปัญหาจราจร แต่ถ้าลองไปสำรวจดูจะเห็นว่า เป็นทางด่วนที่ใช้พื้นที่ข้างล่างเท่ากับพื้นที่ข้างบนเลย นอกจากจะไม่ได้เพิ่มพื้นผิวจราจรแล้ว แทนที่ประชาชนจะได้เดินทางโดยไม่ต้องเสียเงิน กลับต้องจ่ายเงินเพื่อขึ้นไปวิ่งบนนั้น”
“เราไม่ต้องอนุรักษ์รถเมล์ที่ส่งควันดำ ก่อมลภาวะ เรามาทำรถเมล์ในรูปแบบใหม่กันครับ ใต้ทางด่วนมีพื้นที่รกร้าง กทม. ต้องนำกลับมาใช้ ทำรางวิ่งรถเมล์ไฟฟ้า ใช้งบประมาณไม่มาก แต่จะช่วยขนคนจากฝั่งกรุงเทพฯ ตะวันออกเฉียงเหนือได้อีกจำนวน 1.2 ล้านคน”
คำถามที่ 2: หากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะจัดระเบียบคนทำงานอาสาสมัครกู้ภัยอย่างไร
“กทม. จะต้องฟังเสียงคนเหล่านี้ว่าเขามีนโยบายอย่างไร และจัดงบประมาณไปสนับสนุน ไม่ใช่ว่าในการออกไปกู้ภัยแต่ละครั้ง เขาต้องมาเก็บเงินคนละสิบยี่สิบบาทเพื่อไปเติมน้ำมัน
“อาสาสมัคร ไม่ว่าจะกู้ภัย ดับเพลิง รวมถึงมูลนิธิต่างๆ ท่านอาสาเข้ามาเสี่ยงภัยแทนพี่น้องประชาชน กทม. ต้องสนับสนุนงบประมาณ และเปิดให้ท่านมีโอกาสไปอบรม ได้รับใบรับรองต่างๆ ถ้ามีโอกาสเป็นผู้ว่าฯ ผมจะเข้าไปทำอย่างจริงจังครับ”
คำถามที่ 3: หากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะทำอย่างไรกับเด็กที่ต้องออกจากระบบการศึกษา
“นอกจากเด็กที่ต้องออกจากระบบการศึกษา ยังมีหลายส่วนที่อยากเติมเต็ม เมื่อพูดถึงเรื่องการศึกษา ทุกคนเอาแต่พูดเรื่องความเป็นเลิศ ซึ่งมันทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำตามมา แต่ถ้าเรายกระดับมาตรฐานโรงเรียนในสังกัด กทม. ให้เท่ากับโรงเรียนอื่นๆ โรงเรียนที่ดีที่สุดก็คือโรงเรียนใกล้บ้าน
“ระบบการศึกษาของเราสอนในเรื่องที่เด็กไม่ได้นำไปใช้งาน สอนให้เด็กเข้ามหาวิทยาลัยได้เพื่อให้ไปตกงานต่อในอนาคต ถ้าเรายังปล่อยแบบนี้ต่อไป ภาครัฐยังมองไม่เห็นตรงนี้ ไม่มีทางแก้ไขได้ครับ”
คำถามที่ 4: กรุงเทพมหานครเปรียบได้กับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด บริษัทแห่งนี้ถือครองทรัพย์สินอยู่ 2 แสนล้านบาท แต่มีกำไรเพียง 50 ล้านบาท การที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ มีนโยบายมากมาย คำถามคือจะเอารายได้จากไหนมาสานฝันนโยบายต่างๆ ให้เป็นจริงได้
“ตั้งแต่วันแรกที่เข้าไป ผมจะปรับมายด์เซ็ตของพนักงาน กทม. ข้าราชการต้องให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของประชาชน และจะนำระบบเข้ามาตรวจสอบการทุจริต เปลี่ยนกรุงเทพธนาคมที่เคยเป็นแดนสนธยาให้กลายเป็นองค์กรที่ทำประโยชน์และหาเงินให้กับ กทม. อย่างแท้จริง เช่น จากการจัดแข่งกีฬา หรือหารายได้จากการทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นองค์กรที่ตอบโจทย์เฉพาะผลประโยชน์ส่วนบุคคลของบุคลากรบางคน”