วันนี้ (30 เมษายน) สกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) หมายเลข 3 ลงพื้นที่หาเสียงเขตคลองสาน ระบุว่า จากนี้ช่วงเวลาการหาเสียงยังคงเน้นการเดินตลาดช่วงเช้า เพราะการลงเดินตลาดจะทำให้ได้ทราบปัญหาและข้อมูลที่แท้จริง ซึ่งพบว่าปัญหาหลักส่วนใหญ่นอกจากเรื่องการจราจรแล้วคือเรื่องปากท้อง ถึงแม้ว่าเรื่องนี้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับผู้ว่าฯ กทม. โดยตรง แต่คิดว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ว่าฯ กทม. จะต้องคิดถึงและช่วยเหลือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการเปิดประเทศ 1 พฤษภาคม ทั้งนี้เฉพาะในพื้นที่เขตคลองสาน ประชาชนยังคงสะท้อนว่ามีปัญหาเรื่องการจัดการขยะ รวมถึงการลอกท่อระบายน้ำในพื้นที่
สำหรับเรื่องของราคาสินค้าและค่าขนส่ง แม้ผู้ว่าฯ กทม. อาจจะไม่สามารถดำเนินการอะไรได้เพราะไม่ใช่หน้าที่โดยตรง แต่สิ่งที่ทำได้คือการดูแลเรื่องของค่าขนส่งสาธารณะที่อาจจะหาทางให้อยู่ในราคาที่เหมาะสม เพื่อลดภาระให้กับประชาชน
“ผมคิดว่าในทุกพื้นที่การขาย หรือที่มีกิจกรรมต่างๆ ในทุกสำนักงานเขตหรือหน่วยงานต่างๆ ของ กทม. ต้องพยายามหาพื้นที่ที่จะให้ประชาชนมาขายในราคาที่ถูกลง เพื่อให้แม่ค้าพ่อค้าที่ต้องการเพิ่มรายได้ ได้มีโอกาสในการค้าขายมากขึ้น” สกลธีกล่าว
จากนั้นช่วงบ่ายสกลธีได้ลงพื้นที่หาเสียงต่อที่ชุมชนท่าดินแดง พร้อมระบุว่า จากการเดินสำรวจพบว่าปัญหาพื้นที่นี้จะเหมือนกับชุมชนย่อยๆ หลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ คือมีทางเดินเข้าชุมชนที่แคบ มีปัญหาทั้งเรื่องความปลอดภัย และเรื่องขยะ เพราะไม่สามารถนำรถเข้าไปจัดเก็บได้เหมือนหมู่บ้านที่มีถนนกว้างทั่วไป จึงต้องใช้กำลังคนเดินเท้า ทำให้บางทีมีขยะตกค้างจำนวนมาก กำลังเจ้าหน้าที่ในการจัดเก็บไม่ทันกับปริมาณขยะ
ดังนั้นตามแนวคิดของ ‘สกลธีโมเดล’ คือการให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ เพราะจะมีความสะดวกมากกว่า เนื่องจากในส่วนของกรุงเทพฯ เองอาจจะติดปัญหาเรื่องงบประมาณการจ้างพนักงานเก็บขยะเพิ่ม แนวคิดของตนที่มีคือการเข้าไปแก้ข้อบัญญัติบางประการของ กทม. เพื่อที่จะสามารถเปิดให้เอกชนเข้ามารับดำเนินการตรงนี้ได้ ก็จะทำให้การจัดเก็บทั่วถึงขึ้น
สกลธีกล่าวต่อไปว่า การที่เปิดให้เอกชนเข้ามาดำเนินการเรื่องการเก็บขยะ ยังสามารถสร้างรายได้ให้กับกรุงเทพฯ ด้วย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของสกลธีโมเดล เพราะขยะก็มีค่า ซึ่งในส่วนของกรุงเทพฯ จะได้ทั้ง 2 รูปแบบคือ 1. การลดงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างการเก็บขยะ ทั้งการเช่ารถ หรือการจ้างบุคลากร หรือการจ้างฝังกลบ 2. ขยะที่สร้างรายได้รวมทั้งหมด คาดว่าจะสามารถลดค่าใช้จ่ายของกรุงเทพฯ ได้ประมาณ 5 พันล้านบาทต่อปี
“ผมคิดว่าสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การปลูกจิตสำนึกให้กับคนกรุงเทพฯ ในการทิ้งขยะ เพราะตราบใดที่เจ้าหน้าที่เก็บแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าประชาชนยังเห็นคลองหลังบ้านเป็นที่ทิ้งขยะ หรือทิ้งขยะไม่เป็นที่ ผมคิดว่าปัญหาก็ไม่จบ ดังนั้นจึงต้องปลุกจิตสำนึกของประชาชนให้ร่วมด้วยช่วยกัน” สกลธีกล่าวเสริม
ทั้งนี้ช่วงสุดท้ายที่จะมีการปราศรัยหาเสียงใหญ่ในวันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม ที่ลานคนเมือง และวันที่ 20 พฤษภาคม ที่วงเวียนใหญ่ มีจุดสำคัญอยู่ที่การเปิดตัวทีมงานของสกลธีทั้งหมด ทั้งว่าที่รองผู้ว่าฯ กทม. และที่ปรึกษาเกี่ยวกับงานของ กทม.