วันนี้ (6 พฤษภาคม) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) หมายเลข 8 ลงพื้นที่เขตลาดกระบังและเขตสวนหลวง หาเสียงในตลาดหลายแห่ง อาทิ ตลาดหัวตะเข้ ตลาดนำชัย ตลาดลานบุญ ฯลฯ เพื่อเดินหน้าพูดคุยและรับฟังปัญหาจากผู้นำชุมชน ก่อนให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ระบุว่า ขอเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมงานปราศรัย “รวมพลัง รวมความหวัง ส่งชัชชาติแก้กรุงเทพฯ” ในวันอาทิตย์ที่ 8 พฤษภาคม 2565 เวลา 17.30-20.00 น. ที่ศาลาแปดเหลี่ยม สวนลุมพินี
ซึ่งในงานปราศรัยครั้งนี้ ตนมีเป้าหมายในการนำเสนอผลการลงพื้นที่ที่ได้สำรวจปัญหาของคนกรุงเทพฯ ทั้ง 50 เขต กว่า 1,000 วัน ร่วมกับกลุ่มอาสาสมัครและประชาชน กระทั่งเกิดเป็นนโยบายพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคนมากกว่า 200 นโยบาย ครอบคลุม 9 มิติการพัฒนา สำหรับประชาชนที่ไม่สะดวกเดินทางมายังสถานที่จัดงาน สามารถรับชมได้ผ่านเพจเฟซบุ๊ก ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ พร้อมย้ำว่า ตนพร้อมวิ่งเข้าเส้นชัยในช่วงโค้งสุดท้าย ส่วนผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไรให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ
“สองปีครึ่งเหมือนระยะเวลาในการทำวิทยานิพนธ์เล่มใหญ่เล่มหนึ่ง วันที่ 8 พฤษภาคมนี้ จะเป็นการเล่าสรุปให้ฟังว่า การทำงานตลอดสองปีกว่าที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ก็เป็นกิจกรรมที่สนุกๆ สบายๆ อยากให้ทุกคนรับฟัง ส่วนเวลาอีกสองสัปดาห์ที่เหลือก็จะตั้งหน้าตั้งตาวิ่งเข้าเส้นชัย ส่วนผลลัพธ์จะวิ่งเข้าได้ที่เท่าไรนั้น ให้เป็นหน้าที่ของประชาชนตัดสิน” ชัชชาติกล่าว
นอกจากนี้ ชัชชาติได้กล่าวถึงการลงพื้นที่เขตลาดกระบังและเขตสวนหลวงว่า ตนได้พูดคุยและรับฟังความต้องการจากผู้นำชุมชนหลายแห่ง อาทิ ชุมชนเคหะร่มเกล้า, ชุมชนมาเลไล, ชุมชนวัดราชโกษา, ชุมชนซิรอตุ้ล ฯลฯ พบประเด็นปัญหามากมายที่เกิดในพื้นที่เหล่านี้ เช่น ด้านการเดินทาง ด้านการระบายน้ำ ด้านสาธารณสุข และอื่นๆ
ชัชชาติย้ำว่า จากปัญหาเหล่านี้ ‘นโยบายรายเขต’ สามารถตอบสนองและแก้ปัญหาใกล้ตัวประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นผลจากการลงพื้นที่กว่า 2 ปี ประกอบกับการรับข้อร้องเรียนผ่านช่องทางออนไลน์ ที่ทำให้ทราบความต้องการจริงของประชาชน อีกทั้งช่องทางออนไลน์ที่เปิดให้ประชาชนร้องเรียนปัญหาใหม่ตลอดเวลา จะช่วยกระตุ้นให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่เร่งแก้ไขปัญหาทันที และจะไม่มีปัญหาที่ถูกเพิกเฉยและไม่ได้รับการจัดการ
ทั้งนี้ ชัชชาติได้ยกตัวอย่างนโยบายที่จะนำมาพัฒนาในเขตลาดกระบังที่สอดคล้องกับปัญหาเส้นเลือดฝอยในพื้นที่ เช่น ด้านการระบายน้ำ มีนโยบายลดจุดเสี่ยงน้ำท่วม ด้วยการเตรียมแผนรับมือและเร่งจัดสรรงบแก้ไขจุดเสี่ยงน้ำท่วม 9 จุด และจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมบนถนนกว่า 48 จุด รวมทั้งนโยบายขุดลอกคูคลอง 3,000 กิโลเมตร ส่วนด้านการสัญจร มีนโยบายเพิ่มรถเมล์สายหลักและสายรองราคาถูกราคาเดียว ขณะที่ด้านสาธารณสุข มีนโยบายยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข เพิ่มการรักษาและเพิ่มทรัพยากร และขยายโรงพยาบาลสังกัด กทม. ให้ครบ 10,000 เตียง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพ