×

รวมข้อมูลล่าสุดจากผู้เกี่ยวข้อง กรณีเลือกตั้ง ‘ปากกาน้ำเงิน’ แม้คำตอบยังไม่ชัด แต่ที่ชัดคืออยู่ที่ ‘ดุลยพินิจของกรรมการประจำหน่วย’

โดย THE STANDARD TEAM
22.05.2022
  • LOADING...
ปากกาน้ำเงิน

กรณีมีการเผยแพร่ข้อความทางสื่อสังคมออนไลน์ ระบุว่า “ฟังจากรายการข่าวช่อง NBT เมื่อเช้า เนื่องจากโควิด ทำให้ผู้ที่จะไปกาบัตรเลือกผู้ว่าฯ กทม. ต้องพกปากกาสีน้ำเงินไปเอง ปากกาสีดำ สีแดง ไม่ได้ จะเป็นบัตรเสียทันที และเขาจะให้ใส่เจลแอลกอฮอล์หลายจุด ต้องรอให้มือแห้งก่อน จึงค่อยกาบัตร มิฉะนั้นบัตรอาจเปียก ที่กาไว้อาจเลอะเลือนกลายเป็นบัตรเสียได้”

 

ซึ่งจนถึงขณะนี้มีการให้ข้อมูลจากบุคคลต่างๆ ที่ THE STANDARD สอบถามและรวบรวมดังต่อไปนี้

 

21 พฤษภาคม 

ข่าวประชาสัมพันธ์จากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งระบุว่า “สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งขอเรียนว่า หากปรากฏว่ามีการใช้ปากกาสีอื่นก็มิได้หมายความว่าจะเป็นบัตรเสียในทันที เนื่องจากไม่มีกฎหมายหรือระเบียบฯ ห้ามไว้ ทั้งนี้การพิจารณาลักษณะของบัตรเสียต้องเป็นไปตามมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 ประกอบระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 ข้อ 175 อย่างเคร่งครัด”

 

22 พฤษภาคม เวลา 10.36 น. 

รายการ เรื่องเล่าเสาร์-อาทิตย์ ทางช่อง 3HD เผยแพร่วิดีโอสัมภาษณ์ อิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตอนหนึ่งที่ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่สัมภาษณ์ ซึ่งถามว่าการนำปากกามาเองในสีต่างๆ ทำได้หรือไม่ ระบุว่า “ทำได้ครับ แต่ที่หน่วยก็มีนะครับ แล้วก็ทำความสะอาดเรื่อยๆ ตามแนวทางปฏิบัติของเรานะครับ ถ้าเอามาเนี่ย เอาสีน้ำเงินครับ อย่าเอาสีอื่นมานะครับ เพราะสีอื่นจะถือว่าเป็นบัตรเสียครับ”

 

22 พฤษภาคม เวลา 11.34 น. 

ผู้สื่อข่าวโทรศัพท์สอบถาม สำราญ ตันพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (ผอ.กกต.กทม.) สำราญระบุว่า ตามระเบียบข้อ 175 ไม่ได้ระบุถึงสีปากกาว่าจะทำให้เป็นลักษณะของบัตรเสียแต่อย่างใด โดยสำราญเน้นย้ำว่านี่ไม่ใช่ความเห็นแต่ว่ากันตามระเบียบ

 

22 พฤษภาคม เวลา 11.41 น. 

ผู้สื่อข่าวโทรศัพท์สอบถาม แสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (เลขาธิการ กกต.) แสวงอธิบาย มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า

 

“เอากฎหมายนะ ข้อเท็จจริงต้องไปรอกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) คือเอากฎหมายก่อน พี่จะพูดกฎหมายให้เราฟังก่อน แต่ว่าตัวข้อเท็จจริงอยู่ที่ กปน. แต่ว่าเดี๋ยวจะเล่าให้ฟังสั้นๆ อันแรกก็คือ ปากกาสีมาตรฐานคือสีน้ำเงิน ทีนี้เราก็ขอความร่วมมือ ถ้าเอาปากกาไปเองเพราะกลัวโควิด จริงๆ เรามีอยู่ที่หน่วยอยู่แล้ว ปากกาสีน้ำเงิน มีให้หมดแล้ว แต่ถ้ากลัวโควิดคุณเอาปากกาไปเอง ก็ขอให้เป็นสีน้ำเงิน ทีนี้ถึงคุณจะไม่เอาปากกาสีน้ำเงินไป เราก็จะรู้โดยสภาพน่ะนะ เพราะก่อนที่คุณจะเข้าไปในหน่วย คุณต้องเซ็นแสดงตัว แล้วก็เซ็นรับบัตร จริงๆ เซ็น 3 ครั้งน่ะ เราก็จะเห็นคุณใช้ปากกาสีอะไรอยู่แล้ว เราก็จะบอกว่าอย่าเอาสีนี้เลย เราเตรียมปากกาไว้แล้ว เอาปากกาเราไปใช้

 

ถามว่าทำไมต้องเป็นอย่างนี้ กฎหมายบอกว่าบัตรเสียมันมีข้อหนึ่งเขียนว่า บัตรที่ทำสัญลักษณ์เพื่อเป็นที่สังเกต คำว่าเป็นที่สังเกตก็คือ อ้าวเฮ้ย สีแดงนี่มันต่างจากสีน้ำเงินนี่หว่า เขาบอกใช่ไหม พอเป็นสีแดงเขาก็บอกว่า เอ้า ความหมายก็เหมือนกับว่า เขาบอกว่าผมไปกาคะแนนให้คุณละนะ ผมรับเงินคุณ 500 บาท นั่นน่ะของผมสีแดง เห็นไหมล่ะครับ ของผมสีม่วง มันจะเป็นแบบนี้ เราก็เลยบอกว่าขอให้เป็นสีน้ำเงิน ทีนี้มันก็อยู่กับดุลยพินิจของ กปน. แล้ว ถ้าเขาเห็นว่ามันเป็นสีแดง มันเป็นที่สังเกตไหม ถ้าไม่เห็นเป็นที่สังเกต มันก็เป็นบัตรดี ประมาณนี้

 

“เป็นที่สังเกตก็คือ เอ้า คนอื่นเขาใช้สีน้ำเงิน ของคุณสีแดงอันเดียว ก็เหมือนกับว่าเขากลัวคนจะให้ตังค์กันไปแล้ว พอเสร็จ ผมบอกว่านั่นผมกาของผมสีแดงนะ คุณไปดูสิ ผมรับเงินคุณมา ผมก็กาให้คุณแล้ว คุณดูสีของผมสีแดงต่างจากคนอื่นไหม เห็นไหมล่ะ”

 

พอเราถามว่า ผอ.กกต.กทม. บอกว่าระเบียบไม่ได้บังคับว่าต้องเป็นปากกาสีอะไร แสวงตอบว่า ตนจึงบอกว่าอยู่ที่ดุลยพินิจของ กปน. และย้ำว่าในการนับคะแนน กปน. ใหญ่ที่สุด ไม่มีใครใหญ่เกิน กปน.

 

เมื่อเราถามต่อไปว่า แล้วมีแนวทางไปให้ กปน. ในเรื่องนี้หรือไม่ แสวงตอบว่าพูดยาก เนื่องจากระเบียบไม่ได้ระบุเรื่อง ‘สี’ แต่ระบุว่า ‘ทำสัญลักษณ์เพื่อเป็นที่สังเกต’

 

“เห็นไหมครับ กปน. บางคนอาจจะบอกว่ามันเป็นสัญลักษณ์แล้วนี่ กากบาทคือสัญลักษณ์ แต่เมื่อรวมกับสีแล้วมันทำให้เป็นที่สังเกต”

 

เมื่อถามว่าจะทำอย่างไรต่อเพื่อไม่ให้ประชาชนสับสน แสวงตอบว่าได้ออกประกาศไปแล้วว่าให้นำปากกาสีน้ำเงินไป เป็นเสมือนการขอความร่วมมือ และบอกว่าแต่ก่อนก็ไม่เคยมีปัญหานี้ แต่ภายหลังกระทรวงสาธารณสุขบอกว่าให้นำปากกาไปเองได้ และแจ้งว่าให้นำปากกาสีน้ำเงินไป

 

เมื่อถามว่าต่อจากนี้ กกต. จะยกเป็นดุลยพินิจ กปน. เลยหรือไม่ แสวงตอบว่าเป็นอำนาจตามกฎหมายของ กปน. พร้อมย้ำว่าเวลาเลือกตั้งอำนาจใครอำนาจมันตามกฎหมาย และเมื่อถามว่าก่อนเริ่มนับคะแนนจะมีแนวปฏิบัติออกไปเพิ่มเติมก่อนจะปิดหีบหรือไม่ แสวงตอบว่าพูดไม่ได้แล้ว มีการอบรม กปน. ไปแล้ว และมีการบอกเรื่องปากกาสีน้ำเงินไปแล้วในขณะอบรม

 

ถามต่อว่าหากมีการวินิจฉัยที่ไม่เหมือนกันในแต่ละหน่วย กกต. จะดำเนินการอย่างไร แสวงตอบว่า “จริงๆ อย่างที่บอกว่ามันเป็นดุลยพินิจ ถ้าเขาสุจริตก็อย่างที่บอก บางทีเขาบอกว่าการขอความร่วมมือ จริงๆ ปากกาสีน้ำเงินมันเป็นมาตรฐานอยู่แล้ว ใครก็มี แต่คุณเอาสีแดงไปนี่มันผิดปกติ

 

“จริงๆ มันอาจจะเป็นบัตรดีก็ได้ ถ้า กปน. เขาบอกว่า เฮ้ย แบบนี้ มันเหมือนกับประชาชนหยิบปากกามาแบบไม่ได้คิดอะไร ก็เป็นบัตรดีไปถ้าเขากาถูกช่อง ตัดกัน ก็ไม่มีปัญหาอะไรนี่ครับ”

 

แสวงระบุว่าถ้ามีคนไปร้องเรียน ก็อยู่ที่ กกต. โดยอำนาจสูงสุดอยู่ที่ กกต.

 

“ไม่ว่าจะเป็นปากกาสีไหน สัญลักษณ์อะไร ในระหว่างการนับคะแนนมีคนสังเกตการณ์ใช่ไหมครับ เวลาเขาอ่านเขาก็จะโชว์ว่าบัตรดีเบอร์… บัตรเสียมันก็จะไม่มีเบอร์ เขาก็จะบอกว่าทำไมเป็นบัตรเสีย เขาก็โชว์ให้ดูหมดนั่นแหละ คนที่สังเกตการณ์ท้วงครับ ทำบันทึกท้วงไว้ มันเป็นระเบียบอยู่แล้ว ก็จะเถียงกัน ถ้าการวินิจฉัยเป็นเด็ดขาด ในระหว่างนั้น กปน. เขาอาจจะเห็นกับสีแดงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็ได้ เขาก็จะให้เป็นบัตรดีไปเลยเห็นไหมครับ แต่ถ้า กปน. เขายืนยันว่าเป็นบัตรเสีย ท่านท้วงไว้ แล้วเอามาร้อง กกต. กกต. จะตัดสินเอง”

 

ถามต่อว่าเป็นไปได้ไหมที่กรณีแบบนี้จะนำไปสู่การนับคะแนนใหม่ทั้งหมด แสวงระบุว่าอยู่ที่ กกต. แต่คนสังเกตการณ์ต้องท้วงไว้ พร้อมย้ำว่าจริงๆ มีทางออก โดยในช่วงการเลือกตั้งจนถึงนับคะแนน กปน.ใหญ่ที่สุดในพื้นที่ของเขา แต่หากหลุดจากนั้น ถ้าประชาชนท้วง กกต. จะใหญ่กว่า กปน. แต่ต้องเป็นขั้นตอน

 

22 พฤษภาคม เวลา 11.47 น. 

กรุงเทพมหานครเปิดแถลงภาพรวมการลงคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ช่วงเช้า ณ อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 เขตดินแดง ตอนหนึ่งมีผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีประชาชนที่ไปใช้สิทธิแล้วใช้ปากกาสีดำในการลงคะแนนจะกลายเป็นบัตรเสียหรือไม่ ขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร กล่าวตอนหนึ่งว่า

 

“ที่จริงแล้วไม่มีข้อห้ามใช้ปากกาสีไหน ข้อห้ามไม่ได้บอกหรอกครับ แต่การที่ขอร้องที่ใช้สีน้ำเงิน ก็อาจจะมองเห็นได้ง่ายแล้วก็ชัดเจนนะครับ พอดีเส้นขีดของบัตรมันเป็นสีดำ การใช้สีน้ำเงินก็จะชัดขึ้นว่าบนกากบาท กากันเนี่ยครับ กากบาทมันจะเห็นชัดขึ้นนะครับ เขาก็เลยขอร้องเท่านั้นเอง แต่ใช้ปากกาสีไหนก็ได้ครับ สีดำก็ใช้ได้ครับ แล้วทางเราเตรียมสีน้ำเงินไว้ให้ หรือถ้าพี่น้องท่านใดยังไม่ออกไปก็ไม่ต้องเอาปากกาไปครับ ไปใช้ที่หน่วย เพราะการเฝ้าระวังโควิดที่หน่วยเป็นไปตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และ กกต.กทม. กำหนดอยู่แล้ว ไม่มีปัญหาแน่นอนครับเรื่องติดโควิด”

 

ต่อมามีผู้สื่อข่าวถามอีกครั้งว่า กรณีวันนี้ประธาน กกต. บอกว่าหากนำปากกาสีอื่นมาใช้ในการลงคะแนนจะกลายเป็นบัตรเสีย แต่ข้อมูลจาก กกต.กทม. ที่แจ้งเมื่อสักครู่ยังไม่ตรงกันจะทำให้เกิดความสับสนในการนับคะแนนของกรรมการประจำหน่วยหรือไม่ ขจิตตอบว่า

 

“คือผมว่าทาง กกต. นี่เขาขอความร่วมมือมั้งครับ เขาไม่ได้ลงในระเบียบว่าปากกาสีแดง ไม่ได้ลงไว้ครับ” และบอกว่า “อย่าเป็นกังวลกับเรื่องนี้เลยครับ อย่าเอาไปเป็นสาระ เอาเป็นว่าไปลงคะแนนกากบาท ถ้าไม่มั่นใจก็ใช้ปากกาที่หน่วย เราเตรียมตัวให้อยู่แล้ว”

 

22 พฤษภาคม เวลา 12.24 น. 

ผู้สื่อข่าวโทรกลับไปสอบถาม สำราญ ตันพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (ผอ.กกต.กทม.) อีกครั้ง โดยถามทวนว่าเรื่องปากกาเป็นการขอความร่วมมือที่หน้าหน่วย แต่หากกาไปแล้วไม่เป็นไรใช่หรือไม่ สำราญระบุว่า “ไม่เป็นไรครับ คืออย่างนี้ ระเบียบเราข้อ 175 ไม่ได้บอกว่าลักษณะที่ใช้ปากกาสีอะไรจะเป็นบัตรเสียครับ”

 

และเมื่อเราถามถึงการอธิบายของแสวง เลขาธิการ กกต. สำราญก็ยอมรับว่าที่แสวงบอกว่าขึ้นอยู่กับกรรมการประจำหน่วยก็ถูกต้องเช่นกัน และความกังวลเรื่องการใช้สีของปากกาเพื่อทำเครื่องหมายให้เป็นที่สังเกตก็ถือเป็นข้อเท็จจริงประการหนึ่ง

 

“เราต้องดูว่ามันจำนวนมากน้อยแค่ไหน เรื่องแบบนี้วินิจฉัยยาก การที่แสดงสีด้วยปากกาแล้วบอกว่าเป็นเครื่องหมายที่สังเกตนี่มันวินิจฉัยยากว่ามันใช่หรือไม่ใช่ ถูกไหมครับ แต่ว่าโดยธรรมชาติของคนน่ะ ปกติเขาคงไม่เอาปากกาแดงไปหรอกมั้ง (ผู้สื่อข่าว: อาจจะเป็นปากกาดำหรืออะไรแบบนี้?) ใช่ๆ ก็ไม่เห็นเป็นไรเลย ปากกาดำเราก็ใช้เขียนหนังสือของเราปกติอยู่แล้วใช่ไหม หนังสือราชการก็ใช้ดำ ใช้น้ำเงิน ก็ได้อยู่แล้วนี่” พร้อมย้ำว่าสุดท้ายอยู่ในดุลยพินิจของ กปน.

 

เราถามต่อว่าหากการวินิจฉัยเกิดไม่ตรงกันจะทำอย่างไร สำราญย้ำว่าขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของ กปน. และก็อาจจะเกิดการร้องเรียนเกิดขึ้นได้ พร้อมบอกว่าอยากให้ผู้สื่อข่าวถามเลขาธิการ กกต. มากกว่า เพราะตนตอบตามระเบียบ ผู้สื่อข่าวจึงระบุว่าได้สอบถามกับเลขาธิการ กกต. แล้ว

 

เราถามต่อไปว่าในการอบรม กปน. ได้มีการกำหนดแนววินิจฉัยที่เป็นแนวปฏิบัติเดียวกันในเรื่องนี้หรือไม่ สำราญย้ำว่าได้กำหนดไปแล้วว่าลักษณะบัตรเสียให้ดูตามระเบียบข้อ 175 อย่างเดียว ถ้านอกเหนือจากนี้ให้เป็นดุลยพินิจของ กปน. และระบุว่าในวันเลือกตั้ง กปน. มีอำนาจใหญ่ที่สุด แม้แต่ กกต. ยังสั่งไม่ได้ รวมถึงบอกว่ามีการแจ้งไปเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนหน้านี้เป็นสัปดาห์แล้ว โดยเป็นหนังสือของสำนักงาน กกต. ที่กล่าวถึงตัวเลือกว่าจะใช้ปากกาของตนเองหรือไม่ ตลอดจนการขอความร่วมมือให้ใช้ปากกาของ กกต. หากปากกาที่นำมาไม่ใช่สีน้ำเงินหรือดำ

 

สำราญยังระบุว่า ขณะนี้ยังกำชับเรื่องการนับคะแนนได้อยู่ และก็ได้กำชับผ่าน กกต.ท้องถิ่น ไปแล้วว่าให้วินิจฉัยตามข้อ 175 เป็นหลัก และเรื่องสีไม่ใช่ข้อสังเกตที่จะทำให้บัตรเสียในเบื้องต้น พร้อมระบุว่าเรื่องสีไม่น่าจะเป็นประเด็นมาก และสีประหลาดก็ไม่น่าจะมีด้วยซ้ำ โดยสีดำไม่ได้ประหลาดในกรณีนี้ แต่สีแดงก็อาจจะ ‘ตะหงิดๆ’ ขึ้นมานิดๆ ว่าประหลาดหรือไม่

 

ทั้งหมดนี้คือสถานการณ์ที่ THE STANDARD รวบรวมล่าสุด

 


 

  • เช็กผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทมและ .. 2565 แบบ เรียลไทม์  ได้ที่  https://bkkelection2022.wevis.info/map/
  • เกาะติดทุกความเคลื่อนไหว ‘เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 2565′ – THE STANDARD BKK Election 2022 ได้ที่ https://thestandard.co/bkkelection2022/
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising