×

‘หาเช้าเพื่อกินค่ำ’ เสียงจากคนกรุง-ประชากรต่างภูมิลำเนา ถึงผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.

โดย THE STANDARD TEAM
11.04.2022
  • LOADING...
ประชาชน

ท่ามกลางกระแสการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ที่กำลังจะมีขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 ผู้สมัครต่างชูนโยบายยกระดับคุณภาพชีวิตของคน กทม. ในหลากหลายประเด็น เช่น เมืองสีเขียว ขนส่งสาธารณะ การศึกษา การปรับปรุงถนนหนทางและทางเท้า การจัดการขยะ ไปจนถึงการรักษาพยาบาล

 

นโยบายและภาพลักษณ์ของใครจะสามารถครองใจผู้คนและรวบรวมคะแนนเสียงมากที่สุดจากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกว่า 4 ล้านคนได้ ยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในช่วงเวลาที่ใกล้เข้ามาทุกขณะ

 

ทว่าการรับรู้เป็นเพียงความฝัน และแนวทางของผู้ลงสมัครคงไม่อาจฉายภาพทิศทางของกรุงเทพฯ ได้เท่ากับการย่างเท้าสู่ท้องถนน และรับรู้เรื่องราว ความคาดหวัง และปัญหาที่รุมเร้าชีวิตของผู้อยู่อาศัยและทำงานใน กทม. ว่าพวกเขาอยากให้ผู้ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ดูแลชีวิตพวกเขาอย่างไร 

 

ซึ่งพวกเขาเหล่านี้คือผู้คนที่มีสิทธิ์ตัดสินก้าวต่อไปของกรุงเทพฯ ผ่านปลายปากกาในคูหาเลือกตั้ง และถึงแม้หลายชีวิตจะไม่มีสิทธิ์เลือกตั้งเพราะสถานะประชากรแฝงใน กทม. แต่ในฐานะของการเป็นผู้อยู่อาศัย เรื่องราวของพวกเขาก็ควรค่าแก่การรับฟัง

 

ประชาชน

กร อายุ 43 ปี อาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้างมา 20 กว่าปี ภูมิลำเนา กทม. 

 

“ปัญหาชีวิตที่มีตอนนี้คือวิ่งรถแล้วรายได้ไม่พอกับรายจ่าย ปัจจุบันลำบากขับรถได้วันละ 200-300 บาท คนเงียบไม่มีผู้ใช้บริการ สิ่งที่ผมอยากฝากผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ คืออยากให้แก้ปัญหาการจราจรปรับปรุงให้มันดีขึ้นกว่านี้ การจราจรเป็นปัญหามากๆ ครับ”

 

ประชาชน

ประจักษ์สิน อายุ 62 ปี อาชีพขับรถแท็กซี่ ภูมิลำเนา กทม.

 

“ปัญหาของผมคือไม่มีคนขึ้นรถใช้บริการ เขาใช้แต่รถส่วนตัวกัน ทุกวันนี้รถบนถนนเยอะนะ รถส่วนตัวทั้งนั้น มันเลยยังมีรถติดกันไปทั้งกรุงเทพฯ ส่วนการเลือกตั้งตั้งแต่ผมเกิดมา ผมเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มาตลอด หากให้ฝากได้ ผมไม่ฝากดีกว่า…ทำไมไม่ฝาก เพราะไม่มีเทวดาองค์ใดมาแก้ปัญหาจราจรได้ แต่ไอ้ที่เบื่อมากที่สุดคือเรื่องขุดหลุมขุดบ่อตามถนนหนทาง เบื่อมากที่สุด เพราะบางที่เขาทำไม่ละเอียด รถเราวิ่งไปก็กระโดดโลด พังมาก็ต้องซ่อมเอาเอง ไม่มีใครมารับผิดชอบ”

 

ประชาชน

หนวด (ซ้าย) อายุ 56 ปี และ สิงห์ (ขวา) อายุ 57 ปี อาชีพขับรถตุ๊กตุ๊ก ภูมิลำเนานอกเขต กทม.

 

“ปัญหาที่มีคือ…ถ้าจะให้พูดตรงๆ เลยคืออยากเลิกขับแล้วกลับไปอยู่ต่างจังหวัดเลยละ แต่มันทำอย่างนั้นไม่ได้ คือนักท่องเที่ยวไม่มีเลย แต่ก่อนนะ ก่อนโควิด แถวนี้จะมีโรงแรม เราก็รับส่งแขกจากโรงแรมนี่แหละ ใช้บริการพวกผม ไปตามจุดท่องเที่ยวต่างๆ ตอนนี้สภาพเป็นอย่างนี้ เงียบขนาดนี้ เพื่อนๆ พวกผมหลายคนเลิกขับกลับต่างจังหวัดกันไปแล้วครับ

 

ส่วนอยากบอกอะไรผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ไหมครับ อยากให้ผู้ว่าฯ กทม. ช่วยเรื่องโปรโมตการท่องเที่ยวให้ดีๆ ดีมากๆ ดีกว่านี้อีก ดึงนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวให้หน่อย ดูแลการท่องเที่ยว พวกฝรั่งให้เขาเข้ามา จะทำอย่างไรก็แล้วแต่ อยากให้ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ช่วยเรื่องการโปรโมตการท่องเที่ยวให้หน่อย” สิงห์กล่าว

 

“ถ้าสมมติผมเลือกผู้ว่าฯ กทม. ได้นะ ผมบอกเลย ผมอยากลองของใหม่สักหน่อย ถ้าเลือกได้นะ (หัวเราะ)” หนวดกล่าวเสริม 

 

ประชาชน

เล็ก อายุ 58 ปี อาชีพพนักงานทำความสะอาด เขตจตุจักร

 

“ปัญหาที่มีคือเวลาฝนตกจะมีปัญหา ต้องคอยเก็บขยะในช่องน้ำฝน ต้องเดินเอามือ (ใส่ถุงมือยาง) ล้วงหมดเลย เพื่อให้น้ำจากพื้นถนนไหลลงไปสะดวก ระบายได้ง่ายขึ้น ถ้าฝนตกหนักนะ แถวนี้ท่วมเลย ถ้าคนที่อยู่หัวน้ำไม่สูบออกนะ คนต้องเดินย่ำน้ำกันเลย แต่ถ้าเขาช่วยสูบ แล้วเราช่วยล้วงขยะออก น้ำมันก็ลงง่ายขึ้นไง

อยากฝากถึงผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ให้ช่วยดูแลท่อระบายหน่อย อยากให้ลอกท่อทุกปี เวลาฝนตกน้ำจะได้ระบายได้ง่ายขึ้น เพราะเดี๋ยวนี้คลองเคลิงอะไรเขาก็กลบทิ้งหมดแล้ว ถ้าเขาไม่ลอกท่อที่ใช้ระบายน้ำมันก็จะตันท่วมเลย”

 

ประชาชน

ไพรวัลย์ อายุ 60 ปี อาชีพขายน้ำอ้อย น้ำเปล่า น้ำตาลสด ภูมิลำเนา กทม.

 

“ปัญหาของผมคือเรื่องการค้าขาย ตั้งแต่ 2 เดือนที่ผ่านมาขายไม่ได้เลย น้ำขวดเดียวก็ขายไม่ได้ เมื่อวานหกโมงเย็นถึงสองทุ่มขายได้ 20 บาท ส่วนอยากฝากอะไรถึงผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ไหม…อยากให้เปิดร้านขายของ หาบเร่ แผงลอย ให้กลับมาขายได้ปกติเหมือนเดิม คนจะได้เดินซื้อ เศรษฐกิจดี แต่ก่อนคนเดินเยอะเลย แต่พอเขามาจัดระเบียบฟุตปาธทางเท้า คนเริ่มเงียบเลย อยากให้ช่วยทบทวนเรื่องจัดระเบียบทางเท้าใหม่หน่อย”

 

ประชาชน

จารุวรรณ อายุ 53 ปี อาชีพขายของสด ภูมิลำเนา กทม.

 

“ปัญหาที่มีเลยคือ เศรษฐกิจไม่ดี ของแพงขึ้น ขายของก็ไม่ได้ เวลาเทศกิจมาก็ต้องหลบ บางทีมีลูกค้าซื้อๆ อยู่เทศกิจมาเราต้องเข็นหลบก่อน ลูกค้าก็ไม่ตามเราแล้ว ก็อดไป ปกติได้กำไร 1,000 กว่าบาท ตอนนี้ไม่ได้อย่างเดิมอีกแล้ว ค่าครองชีพเราก็สูงขึ้น รายรับเราไม่พอ รายจ่าย ต้องรัดเข็มขัดหมดทุกอย่าง แต่ก็ต้องสู้กันต่อไป ไม่สู้ก็ไม่ได้

 

ส่วนมีอะไรอยากบอกผู้ว่าฯ กทม. ไหม อยากให้แก้ปัญหาเรื่องทางเท้าให้ผู้ค้ารากหญ้าได้ค้าขายได้บ้าง อยากให้ได้ขายของตามริมถนนแบบเมื่อก่อน ที่ต้องลงทะเบียนกันได้ แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว อยากให้ช่วยจัดสรรทางเท้าแก่ผู้ค้าขายหน่อย เพื่อให้ค้าขายได้”

 

ประชาชน

สุนิสา อายุ 31 ปี อาชีพไรเดอร์ส่งอาหาร ภูมิลำเนา กทม.

 

“ปัญหาของหนูคือค่าครองชีพมันสูง อันดับหนึ่งเลยคือเรื่องน้ำมัน เพราะอาชีพแบบเราอย่างไรก็ต้องเติม รายได้ต่อวัน 700-800 บาท แล้วก็วิ่งรถไกลๆ ก็ไม่ได้นะ เพราะเราต้องเซฟน้ำมันไง ไหนจะค่าเช่าห้อง ลูกก็ต้องเรียนอีก ก็ไม่พอค่ะ

 

อยากบอกผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ให้ดูเรื่องค่าครองชีพอันดับแรกเลย มาม่ายังห่อละ 8 บาทบ้างแล้วมั้ง ของแพง น้ำมันพืชก็แพง น้ำมันรถก็แพง น้ำมันพืชแต่ก่อนซื้อ 30 บาท ตอนนี้ 60 บาทแล้วอะ”

 

ประชาชน

ชัย (ซ้าย) อายุ 39 ปี และ โอ๋ (ขวา) อายุ 40 ปี อาชีพเข็นดอกไม้ที่ปากคลองตลาด ภูมิลำเนานอกเขต กทม. 

 

“ปัญหาที่เจอในชีวิตคือ กว่าจะได้แต่ละบาทหนักหนา ค่าแรงก็ไม่ได้เยอะ วันหนึ่งก็ 200-300 บาท แต่ช่วงนี้มันเงียบไม่เหมือนแต่ก่อน ถ้าเราไม่ขยันจบเลยครับ

 

อยากบอกอะไรผู้ว่าฯ กทม. ไหม พวกเราอยากให้ดูแลระเบียบตลาดให้ดีขึ้นครับ แล้วก็เรื่องเทศกิจ อยากให้เขาหยวนๆ หน่อย ตอนนี้เราก็ลำบาก เขามาเข้มงวดอีกก็หนักไปอีก อยากให้จัดระบบให้ต่างคนต่างทำมาหากินได้หน่อยครับ”

 

ประชาชน

สมใจ อายุ 46 ปี อาชีพขายสลากกินแบ่งรัฐบาล ภูมิลำเนาจังหวัดศรีสะเกษ

 

“ปัญหาที่มีคือขายลอตเตอรี่ยาก แต่ก่อนขายได้วันละ 2 หมื่นบาท 3 หมื่นบาท ยังมีเลย คนเขามีตังค์เขาดึงไม่ได้ดึงทีละใบ เขาดึงเป็นปึกเลย ตอนนี้เงียบ ขายได้เหลือ 2,000-3,000 บาท กำไรตกวันละ 200-300 บาทเอง เรื่องราคาหวยก็มีปัญหาราคามันไม่คงที่ บางทีได้มาขายได้กำไรใบละ 8 บาทบ้าง 5 บาทบ้างก็มี


อยากให้ผู้ว่าฯ กทม. ช่วยแก้ปัญหาให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้ทุพพลภาพ ผู้ประกันตนหน่อยค่ะ”

 

ประชาชน

ก้อน อายุ 60 ปี อาชีพขายยาหม่อง และตอนกลางวันขายพระ ภูมิลำเนา กทม. 

 

“ปัญหาคือ…จริงๆ ไม่ได้มีปัญหาอะไรมาก มันก็ได้ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง แต่ที่มีปัญหาหลักคือ ส่วนประกอบที่ใช้ทำยาหม่องราคามันขึ้น อยู่ๆ มันจะขึ้นก็ขึ้น เราจะไปทำอะไรได้ (หัวเราะ) 

 

ส่วนจะฝากอะไรให้ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ไหม….ผมไม่รู้จะแนะนำอะไรหรอก เขามีความรู้มากกว่าเรา แต่จะบอกว่าคนที่มันเป็นผู้นำนะ มันต้องคิดมากกว่าคนอื่น ต้องคิดเผื่อคนอื่น ถ้าพูดกันตามหลักนะ แต่เรามันความคิดน้อยก็ไม่รู้จะแนะนำอะไรเขาหรอก”

 

เรื่องและภาพ: PLUS SEVEN

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising