หลังจากที่บิตคอยน์ถือกำเนิดขึ้นในปี 2009 ซึ่งช่วงเริ่มต้นคนส่วนใหญ่ยังไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก จนกระทั่งเมื่อปี 2017 ราคาบิตคอยน์ปรับขึ้นมาแตะระดับ 2 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ ทำให้บิตคอยน์เริ่มอยู่ในความสนใจของผู้คน
ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์เริ่มหันมาหาคำตอบของปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาบิตคอยน์ โดยเป็นการหาความสัมพันธ์ของสกุลเงินดิจิทัลกับสินทรัพย์ประเภทต่างๆ เช่น หุ้น ตราสารหนี้ โลหะมีค่า รวมไปถึงสกุลเงินทั่วโลก
ผศ.ดร.วรประภา นาควัชระ ผู้ช่วยอธิการบดี และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากงานศึกษาที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของ บิตคอยน์ส่วนใหญ่พบว่า ราคาบิตคอยน์ไม่มีความสัมพันธ์กับสินทรัพย์ใดๆ เลย อีกทั้งไม่สามารถอธิบายได้ด้วยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ซึ่งต่างจากราคาหุ้นที่ขึ้นอยู่กับผลประกอบการของบริษัทหรือวัฏจักรทางเศรษฐกิจ
แต่สิ่งที่หลายงานวิจัยค้นพบตรงกันคือ ราคาบิตคอยน์วิ่งตาม Sentiment ในข่าวหรือสื่อโซเชียลมีเดีย เช่น Twitter, Reddit ซึ่งในปัจจุบันมีเครื่องมือที่สามารถจับกระแสเหล่านี้และนำมาวิเคราะห์ หากช่วงนั้นมีคำที่เกี่ยวข้องกับบิตคอยน์ในเชิงบวก เช่น Good, Rise, Profitable ราคาบิตคอยน์จะวิ่งขึ้นต่อ รวมทั้งสกุลเงินดิจิทัลตัวหลักอื่นๆ ค่อนข้างวิ่งไปในทิศทางเดียวกัน แม้ว่าแต่ละสกุลเงินดิจิทัลอาจถูกสร้างขึ้นด้วยวิธีและวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน
ลักษณะเช่นนี้ในทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมอธิบายได้ว่าเป็นการแห่เข้าไปซื้อ (Herding Behavior) ซึ่งพฤติกรรมนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะขาขึ้นเพียงอย่างเดียว อาจเกิดการวิ่งแห่ซื้อตามกัน หรือตระหนกตกใจเทขายพร้อมกันก็เป็นได้ โดย Herding Behavior นี้ได้ส่งผลไปยังสกุลเงินดิจิทัลอื่นด้วย หากดูราคา Ethereum, Stellar, Litecoin สกุลเงินดิจิทัลเหล่านี้เคยมีประวัติวิ่งขึ้นในช่วงปลายปี 2017 พร้อมบิตคอยน์ และร่วงลงมาพร้อมกันในปี 2018
ดังนั้น การเข้าไปซื้อคริปโตเคอร์เรนซีจึงต้องทำด้วยความระมัดระวัง และไม่แนะนำสำหรับการลงทุนระยะยาว เพราะมีความผันผวนสูง ผู้ซื้อควรตระหนักว่าเงินที่ลงทุนอาจสูญไปทั้งหมดได้ในพริบตา ส่วนตัวมองว่าการเปลี่ยนแปลงของราคาแทบจะไม่มีปัจจัยพื้นฐาน สำหรับตอนนี้ หากต้องคาดการณ์ราคาในอนาคตผลลัพธ์จะคล้ายกับการพนันมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.วรประภามองว่า แท้จริงแล้วคริปโตเคอร์เรนซีบางตัว อาจจะมีราคาที่เหมาะสมได้ เช่น Ethereum ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อวางรากฐานให้กับเทคโนโลยี Smart Contract และเทคโนโลยี Ethereum Blockchain ก็เป็นรากฐานให้เกิด Initial Coin Offering (ICO) บางตัวขึ้นมา ดังนั้นหากตลาดมองว่าเทคโนโลยี Ethereum Blockchain มีประโยชน์ เหรียญ Ethereum ก็อาจมีราคาที่เหมาะสมได้ตามคุณค่าที่แท้จริงของมัน
นอกจากนี้ เหรียญ ICO ที่ออกโดยบริษัทที่มีพื้นฐานดี ก็ควรจะมีราคาของเหรียญที่สะท้อนมูลค่าของบริษัทนั้น เทคโนโลยี Blockchain ยังเป็นสิ่งที่น่าจับตาดู เพราะน่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อีกในอนาคต
ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้นำเทคโนโลยี Blockchain นี้มาพัฒนาโครงการอินทนนท์ สร้างสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยแบงก์ชาติ เพื่อใช้ในการโอนเงินระหว่างสถาบันการเงินแทนที่จะโอนด้วยเงินบาทจริง เรียกว่า Central Bank Digital Currency (CBDC) เทคโนโลยีทางการเงินแห่งอนาคตเหล่านี้กำลังมีบทบาทมากขึ้น และมีข้อดีมหาศาลที่จะช่วยให้เกิดความโปร่งใส สะดวกรวดเร็ว
ปัจจุบันความรู้ด้านเทคโนโลยี รวมถึงการเข้าใจผลกระทบของเทคโนโลยีต่อระบบเศรษฐกิจเป็นสิ่งจำเป็น คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้เริ่มเปิดสอนวิชา เศรษฐกิจดิจิทัลและนวัตกรรม (Digital and Innovative Economy) ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี เพื่อผสมผสานศาสตร์ด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์มาประยุกต์ใช้ในเชิงเศรษฐศาสตร์ หัวข้อที่มีการเรียนการสอน นอกจากเรื่องของเทคโนโลยี Blockchain และคริปโตเคอร์เรนซีแล้ว ยังมีหัวข้ออื่นที่น่าสนใจ เช่น Artificial Intelligence (AI), Platform Economy, Internet-of-Things (IoT) เป็นต้น
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล