ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ราคาของบิตคอยน์พุ่งขึ้นกว่า 400% มาแตะระดับ 40,000 ดอลลาร์ และแม้ในบางช่วงเวลาราคาจะดิ่งลงอย่างรวดเร็วจนหลุดระดับ 30,000 ดอลลาร์ แต่ล่าสุดราคาบิตคอยน์ก็ฟื้นกลับมาได้อีกครั้ง พร้อมกับการพุ่งทะลุขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่ (All Time High) ที่บริเวณ 47,000 ดอลลาร์
แน่นอนว่ากระแสของบิตคอยน์ยังคงแผ่กระจายออกไปต่อเนื่อง ดึงดูดให้นักลงทุนหน้าใหม่และหน้าเก่าหันมาสนใจตัวบิตคอยน์เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม อนาคตของบิตคอยน์กับการจะถูกใช้เป็น ‘สกุลเงินใหม่’ อีกสกุลหนึ่ง หรือโอกาสที่บิตคอยน์จะได้รับการยอมรับและถูกใช้อย่างแพร่หลาย เป็นสิ่งที่ยังมีความไม่แน่นอนและไม่ชัดเจนอยู่ไม่น้อย
ในมุมมองของ เรย์ ดาลิโอ ผู้ก่อตั้ง Bridgewater หนึ่งใน Hedge Fund ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง ได้แบ่งปันมุมมองส่วนตัวของเขา ร่วมกับผลการศึกษาโดยทีมงานของ Bridgewater เกี่ยวกับอนาคตของบิตคอยน์
เรย์เริ่มต้นด้วยการย้ำเตือนอีกครั้งว่า เขาไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านบิตคอยน์หรือสกุลเงินดิจิทัล โดยเรย์เชื่อว่า มุมมองของเขาไม่ได้มีคุณค่ามากพอที่จะเชื่อถือได้ อย่างไรก็ตาม ผู้คนยังคงต้องการมุมมองของเขาที่มีต่อบิตคอยน์ เพราะฉะนั้นการพยายามอธิบายด้วยมุมมองของเขาเองก็น่าจะดีกว่าคำพูดที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อ ซึ่งอาจจะบิดเบือนไปจากสิ่งที่เขาคิดจริงๆ
เรย์บอกว่า ถึงแม้บิตคอยน์จะมีจำนวนจำกัด แต่สกุลเงินดิจิทัล (ทั่วโลก) ไม่ได้มีจำกัด เพราะที่ผ่านมาเราจะเห็นสกุลเงินดิจิทัลใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอด และจะมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในความเป็นจริงแล้วเรย์คาดเดาว่าสกุลเงินดิจิทัลที่ดีกว่าในอนาคตสามารถที่จะเข้ามาแทนที่สกุลเงินดิจิทัลในปัจจุบันได้ ซึ่งมันคือแนวทางของสิ่งที่เรียกว่า ‘วิวัฒนาการ’
ด้วยความที่บิตคอยน์มีแนวทางที่ถูกกำหนดมาแล้ว ทำให้มันไม่สามารถที่จะถูกพัฒนาต่อไปได้ และนั่นทำให้ Ray มองว่า สกุลเงินดิจิทัลที่ดีกว่าในอนาคตจะเข้ามาแทนที่บิตคอยน์ โดยมองว่านั่นคือ ‘ความเสี่ยง’
เรย์ยกตัวอย่างกรณีของโทรศัพท์มือถือ BlackBerry หากว่ามันมีจำนวนจำกัด แต่มันก็ยังถูกแทนที่ด้วยคู่แข่งที่ยอดเยี่ยมมากกว่า
แต่ในขณะเดียวกันเรย์ก็ชื่นชมบิตคอยน์อย่างมากที่สามารถพิสูจน์ตัวเองมาได้ตลอด 10 ปี ไม่ใช่แค่เพียงการยืนระยะหรือเติบโต แต่ยังรวมถึงเทคโนโลยีของบิตคอยน์ที่มีความปลอดภัยสูง ท่ามกลางกระแสของความเสี่ยงในโลกไซเบอร์ ซึ่งระบบของกระทรวงความมั่นคงยังถูกแฮกได้ แต่มันกลับไม่เกิดขึ้นกับสินทรัพย์ดิจิทัล จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้คนจะไว้วางใจในการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลในฐานะสินทรัพย์ทางเลือกที่คล้ายกับทองคำ
อย่างไรก็ตาม เรย์มองว่า บิตคอยน์และสินทรัพย์อื่นที่คล้ายคลึงกันยังมีความเสี่ยงที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งสำหรับการจะถูกยอมรับโดยทั่วไป โดยอุปสรรคสำคัญก็คือรัฐบาลของแต่ละประเทศ ซึ่งมันค่อนข้างยากที่จะเชื่อว่ารัฐบาลแต่ละแห่งจะยอมกำหนดให้บิตคอยน์กลายเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนหลัก
นอกจากนี้เรย์และทีมงานใน Brigewater ได้พยายามจำลองสถานการณ์ต่างๆ ในกรณีที่ผู้ถือครองทองคำจะเปลี่ยนมาถือครองบิตคอยน์หรือสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ เพิ่มมากขึ้นในสัดส่วนต่างๆ
ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาคือความไม่แน่นอนที่ค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้นสำหรับเรย์แล้ว บิตคอยน์และสินทรัพย์อื่นที่คล้ายกันนี้ เป็นเหมือนกับทางเลือกที่ยังไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ซึ่งเขาอาจจะใส่เงินลงไป โดยที่ยอมรับได้ว่าสามารถสูญเสีย 80% ของเงินจำนวนนี้ไปได้
รีเบกกา แพตเตอร์สัน, ดีนา ซารัปกีนา, รอสส์ แทน และ เกีย เคอร์เตนบัช ได้ศึกษาเกี่ยวกับบิตคอยน์ว่าเส้นทางของมันจะเป็นอย่างไร หากบิตคอยน์กลายมาเป็นสินทรัพย์ทางเลือก
ทีมงานของ Bridgewater ระบุว่า จุดเด่นของบิตคอยน์คล้ายกับทองคำคือ มูลค่าของมันจะไม่ลดลงจากการปั๊มเงินของธนาคารกลางแต่ละประเทศ รวมถึงอุปทานที่มีจำกัด นอกจากนี้ในทางทฤษฎีแล้วมันสามารถโอนย้ายได้โดยง่ายทั่วโลก โดยเฉพาะสำหรับบุคคลทั่วไป และมีศักยภาพที่จะเป็นทางเลือกในการกระจายการลงทุน
แต่ในขณะเดียวกันบิตคอยน์ก็เผชิญกับความท้าทายจากการยอมรับของนักลงทุนสถาบัน ซึ่งเป็นผลจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่
1. บิตคอยน์ยังเป็นสินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูงมาก ขณะที่อำนาจในการซื้อของมันยังคงผูกติดกับแรงเก็งกำไร เมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่นๆ ที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ เช่น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ และเงินตราของแต่ละประเทศ เป็นต้น
2. บิตคอยน์ยังมีความเสี่ยงจากการที่รัฐบาลต่างๆ ยังไม่ได้ให้การรับรอง รวมถึงความไม่แน่ชัดของความต้องการในอนาคต ขณะเดียวกันแม้ว่าหน่วยกำกับหลายแห่งอาจจะพยายามช่วยให้บิตคอยน์ได้รับการยอมรับมากขึ้น แต่บิตคอยน์ก็ยังมีความเสี่ยงจากการที่จะถูกเทขายออกมาโดยรายใหญ่ที่ถือครองอยู่ ซึ่งไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ
3. แม้สภาพคล่องของบิตคอยน์จะเพิ่มขึ้นสูงมาก แต่ก็ยังมีคำถามว่า ปริมาณที่มีอยู่นี้จะเพียงพอต่อการถือครองของนักลงทุนสถาบันขนาดใหญ่หลายๆ แห่งหรือไม่
ดูเหมือนว่าการที่บิตคอยน์จะกลายเป็นสกุลเงินหรือสินทรัพย์ทางเลือกที่สำคัญ ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งคือการถูกถือครองโดย ‘นักลงทุนสถาบัน’
ทีมศึกษาของ Bridgewater ระบุว่า หากสถาบันรายใหญ่จะเข้ามาถือครองบิตคอยน์ มันจำเป็นจะต้องมีสภาพคล่องมากเพียงพอสำหรับการซื้อขาย โดยที่หากต้องการซื้อขายปรับพอร์ตก็จะไม่ทำให้ตลาดผันผวนรุนแรง ซึ่งในประเด็นนี้ บิตคอยน์ยังมีสภาพคล่องที่ค่อนข้างเล็กมากเมื่อเทียบกับตลาดของสินทรัพย์อื่นๆ
จากการประเมินเปรียบเทียบสภาพคล่องกับสินทรัพย์อื่นในปัจจุบัน สำหรับการซื้อขายบิตคอยน์โดยตรง มูลค่าของตลาดคิดเป็นประมาณ 10% ของมูลค่าตลาดทองคำ ขณะที่นักลงทุนรายใหญ่ที่ต้องการซื้อขายผ่านอนุพันธ์หรือตลาดทุนจะพบว่า สภาพคล่องจะยิ่งน้อยลงไปอีก
โดยภาพรวมแล้ว บิตคอยน์มีความน่าดึงดูดสำหรับการจะเป็นสินทรัพย์ทางเลือกในการเก็บรักษาความมั่งคั่ง และที่ผ่านมาบิตคอยน์ก็สามารถพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสามารถยืนระยะอยู่ได้
แต่ต้องไม่ลืมว่าอายุของบิตคอยน์ยังแค่เพียง 1 ทศวรรษเท่านั้นเมื่อเทียบกับทองคำซึ่งเป็นที่ยอมรับมาอย่างยาวนาน ทำให้บิตคอยน์ยังมีความท้าทายอยู่ในหลายประเด็น ทั้งเรื่องของควอนตัมคอมพิวเตอร์ที่อาจทำให้ปริมาณของบิตคอยน์เพิ่มเร็วขึ้นมาก หรือจะเป็นแรงกดดันจากหน่วยงานกำกับต่างๆ รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่ยังมองไม่เห็น สำหรับเราในตอนนี้ บิตคอยน์เป็นเพียงหนึ่งในทางเลือกที่อาจจะช่วยเก็บรักษาความมั่งคั่งไว้ได้เท่านั้น
มูลค่าตลาดของบิตคอยน์เทียบกับสินทรัพย์อื่น
ภาพ: Bridgewater
ในอีกมุมหนึ่งซึ่งเป็นฝั่งของผู้ที่เชื่อว่าบิตคอยน์คืออนาคตของโลกการเงิน โดยจะเห็นว่าการพุ่งขึ้นของราคาบิตคอยน์ล่าสุดนี้ ส่วนหนึ่งถูกกระตุ้นโดยบริษัทอย่าง Tesla ซึ่งประกาศเข้าซื้อบิตคอยน์ด้วยเงินถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 4.5 หมื่นล้านบาท
Tesla ให้เหตุผลในการเข้าซื้อว่า “เพื่อความยืดหยุ่นทางการเงิน และเพื่อเป็นการเก็งกำไรให้กับบริษัท” ขณะเดียวกัน Tesla ได้ระบุว่า จะมีการพัฒนาระบบรับชำระเงินด้วยบิตคอยน์เพื่อซื้อสินค้าและบริการของ Tesla ผ่านกระดานเทรดต่างๆ
ขณะที่ก่อนหน้านี้กองทุนอย่าง ARK Investment เคยกล่าวถึงบิตคอยน์ไว้เช่นกันผ่าน Big Idea 2021 ว่า เน็ตเวิร์กโดยพื้นฐานของบิตคอยน์ยังคงแข็งแกร่ง และหากมองเทียบกับเมื่อปี 2017 การเพิ่มขึ้นของราคาบิตคอยน์ดูเหมือนว่าจะถูกขับเคลื่อนด้วยความเป็น ‘กระแส’ ที่น้อยลง ด้วยการยอมรับที่มากขึ้น หลังจากบางบริษัทกำลังพิจารณาถือครองบิตคอยน์ในฐานะเงินสดของบริษัทเช่นกัน
หากทุกบริษัทในดัชนี S&P 500 ตัดสินใจเปลี่ยนเงิน 1% มาเป็นบิตคอยน์ จะทำให้ราคาของบิตคอยน์มีโอกาสเพิ่มขึ้นไปอีกประมาณ 40,000 ดอลลาร์
นอกจากนี้ ARK มองว่า มูลค่าตลาดของบิตคอยน์มีโอกาสจะขยายขึ้นจาก 5 แสนล้านดอลลาร์ เป็น 1-5 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วง 5 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งเป็นตลาดที่มีสภาพคล่องเหลือล้นสำหรับการเข้ามาของกองทุนต่างๆ
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- นักวิเคราะห์แนะ Apple ควรออก ‘คริปโต’ ทำแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนเอง รับกระแสบิตคอยน์ทะยานแรง
- ชมคลิป: อนาคต Bitcoin หลัง Tesla ทุ่มซื้อ
- จับสัญญาณบิตคอยน์ เมื่อ Tesla ควักเงิน 4.5 หมื่นล้านบาทเข้าลงทุน
- บริษัทเอกชนเจ้าไหนรุกสังเวียน ‘บิตคอยน์’ แล้วบ้าง
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: