×

‘Bird Eye View’ มองปรากฏการณ์ Flash Mob ผ่านมุมมองของคนนอก

โดย THE STANDARD TEAM
02.03.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • หลังรัฐประหาร 2557 เป็นอีกหนึ่งช่วงที่นักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเข้มข้น แต่ทว่า การควบคุมการเคลื่อนไหวอย่างหนักโดยฝ่ายรัฐ ได้ทำให้นักศึกษาที่อยู่ในมหาวิทยาลัยและยังไม่มีความพร้อมจะลงถนน พอใจที่จะเคลื่อนไหวอยู่แค่ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยและโซเชียลมีเดียต่อไปตามประเด็นที่แต่ละคนสนใจมากกว่า 
  • จากความผิดหวังของบรรดาคนรุ่นใหม่ต่อการเมืองไทยในรุ่นที่พวกเขาเติบโตขึ้นมาเห็นการเมืองแบ่งขั้ว ที่มีปัญหาทั้งในเชิงการใช้อำนาจอย่างอยุติธรรม ความรุนแรงทางการเมือง การทุจริตคอร์รัปชัน หรือแม้กระทั่งการปิดกั้นเสรีภาพทางความคิด สิ่งเหล่านี้ได้แปลงความผิดหวังของคนรุ่นใหม่ เป็นความฝันที่อยากจะเห็นอนาคตการเมืองไทยดีขึ้น 
  • Flash Mob มีความหมายที่แปลได้ทั้ง ‘การมาไวไปไว ไม่ยืดเยื้อ’ และอาจหมายถึงการ ‘ส่อง Flash แสดงตัวตนว่าพวกเขามีอยู่จริง’ แต่การเคลื่อนไหวทางการเมืองเช่นนี้ก็ยังไม่ได้หมายความว่า พวกเขาได้ออกมาจาก Safe Zone อย่างจริงจัง เพราะยังเป็นแค่การแสดงพลังในพื้นที่มหาวิทยาลัย และสื่อสารกันผ่านโซเชียลมีเดียที่ควบคู่ไปกับแฮชแท็ก Twitter โดยอาจยังขาดเป้าหมายในเชิงปฏิบัติการที่ชัดเจนว่า ความพอใจของพวกเขาจะไปหยุดที่จุดใด หรืออาจพอใจเพียงแค่ ‘การแสดงตัวตนทางการเมือง’ ก็เป็นได้

หนึ่งสัปดาห์หลังจากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ และเป็นการครบรอบหนึ่งสัปดาห์ของปรากฏการณ์ Flash Mob ขบวนการนักเรียนนักศึกษาในแต่ละสถาบัน ภายใต้คำถามมากมายจากสังคม ซึ่งหากมองอย่างเอาใจเข้าไปเชียร์ ก็อาจจะรู้สึกอินไปกับพวกเขา แต่ถ้ามองอย่างมีอคติ ก็อาจมีบางความรู้สึกมองว่าพวกเขาถูกปลุกปั่นหรือโดนล้างสมองมา ดังนั้น บทความนี้จึงอยากชวนทุกท่านถอยออกมาสักเล็กน้อย แล้วลองมอง ‘ปรากฏการณ์ Flash Mob’ ครั้งนี้ผ่านมุมมองแบบคนนอก ‘Bird Eye View’ โดยใช้กรอบคำอธิบายจากงานวิจัยที่ผ่านมา1

 

ขบวนการนักเรียนนักศึกษามาจากไหน

ก่อนจะตอบคำถามดังกล่าว คงต้องย้อนกลับไปอธิบายว่า อันที่จริงแล้วขบวนการนักเรียนนักศึกษาไม่เคยหายไปไหน เพียงแต่ที่ผ่านมาพวกเขาไม่เคยอยู่ในสายตาของเราเท่านั้นเอง 

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงที่การเมืองเหลือง-แดงกำลังเข้มข้น ตั้งแต่รัฐประหาร 2549 ถึงรัฐประหาร 2557 ที่ขบวนการทางการเมืองกลุ่มต่างๆ กำลังเคลื่อนไหวทั้งในสภาฯ และบนท้องถนน นักเรียนนักศึกษาแทรกซึมอยู่มากมายตามที่เหล่านั้น เพียงแค่ไม่ได้เป็นกลุ่มก้อนใหญ่ๆ หากแต่กระจัดกระจายและแบ่งเป็นหลายฝ่ายภายใต้การเมืองแบ่งขั้ว

 

 

บางส่วนไปเคลื่อนไหวกับเหลืองบ้าง แดงบ้าง หรืออาจไปให้ความสนใจกับประเด็นการเมืองเชิงอัตลักษณ์ อย่างการเคลื่อนไหวยกเลิกการบังคับแต่งชุดนักศึกษาหรือการเคลื่อนไหวเรื่องทรงผมนักเรียน โดยมีพื้นที่โซเชียลมีเดียให้เขาได้แสดงออกทางความคิด ทั้งในทางการเมือง ทางสังคม และอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนของพวกเขา แต่ด้วยความที่แสงไฟไม่ได้สาดส่องมาที่พวกเขา มันจึงทำให้ดูเหมือนว่า ‘ขบวนการนักศึกษาหายไปจากการเมือง’ อยู่ช่วงหนึ่ง

 

หลังรัฐประหาร 2557 เป็นอีกหนึ่งช่วงที่นักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเข้มข้น และมีการวิเคราะห์ไปถึงขั้นว่า พวกเขาจะนำการต่อต้านรัฐประหารครั้งนั้นและนำไปสู่เหตุการณ์แบบ 14 ตุลาคม 2516 อีกครั้งหนึ่ง แต่ทว่า การควบคุมการเคลื่อนไหวอย่างหนักโดยฝ่ายรัฐ ได้ทำให้นักศึกษาที่อยู่ในมหาวิทยาลัยและยังไม่มีความพร้อมจะลงถนน พอใจที่จะเคลื่อนไหวอยู่แค่ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยและโซเชียลมีเดียต่อไปตามประเด็นที่แต่ละคนสนใจมากกว่า จึงทำให้ขบวนการนักศึกษาในช่วงนั้นเป็นแค่เพียงจุดเริ่มต้น ก่อประกาย และเริ่มก่อร่างสร้างฐานของ ‘การเมืองของคนรุ่นใหม่’ ในเวลาต่อมา

 

การเมืองของคนรุ่นใหม่

จากความผิดหวังของบรรดาคนรุ่นใหม่ต่อการเมืองไทย ในรุ่นที่พวกเขาเติบโตขึ้นมาเห็นการเมืองแบ่งขั้ว ที่มีปัญหาทั้งในเชิงการใช้อำนาจอย่างอยุติธรรม ความรุนแรงทางการเมือง การทุจริตคอร์รัปชัน หรือแม้กระทั่งการปิดกั้นเสรีภาพทางความคิด 

 

สิ่งเหล่านี้ได้แปลงความผิดหวังของคนรุ่นใหม่ เป็นความฝันที่อยากจะเห็นอนาคตการเมืองไทยดีขึ้น พวกเขาหวาดกลัวที่จะกลับไปอยู่ในวังวนของความขัดแย้งไม่รู้จบ แต่ก็กล้าหาญที่จะปกป้องเสรีภาพของพวกเขาไม่ให้ใครมาแตะต้อง เราจึงเห็นได้บ่อยครั้งที่คนรุ่นใหม่พร้อมจะปะทะคารมกับผู้ใหญ่หลายคนในโซเชียลมีเดีย หากพวกเขารู้สึกว่าสิ่งที่เป็นอยู่นั้นไม่ใช่ และเป็นการดูถูกความคิดของพวกเขา

 

 

คงเป็นทั้งความบังเอิญและตั้งใจที่พรรคอนาคตใหม่มองเห็นความฝันของคนเหล่านั้น เพราะพรรคการเมืองในทางทฤษฎีแล้วคือผู้รวบรวมความฝันของประชาชน และรับบทบาทในการสานฝันเหล่านั้นให้เป็นจริง ซึ่งอนาคตใหม่เองก็สามารถสร้างตัวตนทำให้คนรุ่นใหม่เชื่อได้ว่า ระบบการเมืองปกติจะสามารถทำให้พวกเขาหลุดจากวังวนความขัดแย้ง และไม่ต้องเดินลงไปสู้กันบนถนนดังที่คนรุ่นก่อนหน้าทำกันมา 

 

การแสดงตัวตนทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ในช่วงปีที่ผ่านมา จึงคู่ขนานไปกับการเลือกตั้งและร่วมฟังการปราศรัยตามเวทีต่างๆ โดยที่พวกเขายังคงเคลือบแคลงใจว่า ‘ความอยุติธรรม’ ซึ่งเป็นหนึ่งในความผิดหวังทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ กำลังจะกัดกินความฝันของพวกเขาอีกครั้งหนึ่ง

 

มองโดยไม่ได้ถกเถียงด้านข้อกฎหมาย การยุบพรรคอนาคตใหม่จึงเหมือนเป็นยุทธการ ‘ดับฝัน’ ของพวกเขา ไม่ให้ความฝันของพวกเขาได้โลดแล่นในระบบการเมืองปกติ จึงไม่น่าแปลกใจเลยหากพวกเขาจะเปลี่ยนบทบาทจากกองเชียร์การอภิปรายไม่ไว้วางใจ มาเป็นผู้เล่นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภาฯ แทน

 

ทำไมจึงเป็น Flash Mob นักเรียนนักศึกษา

มองอย่างผู้เฝ้ามองปรากฏการณ์ที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักเรียนนักศึกษา (คนรุ่นใหม่) ในครั้งนี้ ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นจากกรณีการยุบพรรคอนาคตใหม่เท่านั้น หากแต่เป็นความอัดอั้นและผิดหวังที่ทำให้พวกเขาอยากจะออกจากหน้าจอสมาร์ทโฟน ไปแสดงตัวให้ผู้ใหญ่ในสังคมได้รับรู้ว่า พวกเขามีตัวตนอยู่จริง ไม่ได้เป็นแค่ IO ในโซเชียลมีเดีย โดยยุทธวิธีที่พวกเขาเรียกว่า Flash Mob ซึ่งมีข้อสังเกตจากการศึกษาขบวนการนักศึกษาที่ผ่านมาต่อปรากฏการณ์ดังกล่าว ดังนี้

 

1.Flash Mob มีความหมายที่แปลได้ทั้ง ‘การมาไวไปไว ไม่ยืดเยื้อ’ และอาจหมายถึงการ ‘ส่อง Flash แสดงตัวตนว่าพวกเขามีอยู่จริง’ แต่การเคลื่อนไหวทางการเมืองเช่นนี้ก็ยังไม่ได้หมายความว่า พวกเขาได้ออกมาจาก Safe Zone อย่างจริงจัง เพราะยังเป็นแค่การแสดงพลังในพื้นที่มหาวิทยาลัยและสื่อสารกันผ่านโซเชียลมีเดียที่ควบคู่ไปกับแฮชแท็ก Twitter โดยอาจยังขาดเป้าหมายในเชิงปฏิบัติการที่ชัดเจนว่า ความพอใจของพวกเขาจะไปหยุดที่จุดใด หรืออาจพอใจเพียงแค่ ‘การแสดงตัวตนทางการเมือง’ ก็เป็นได้

 

 

2.อาจเป็นเพราะขบวนการฯ ยังไม่ชัดเจนในประเด็นเรื่องผู้นำหรือองค์กรนำในระดับหลายมหาวิทยาลัย ที่จะรวบรวมความตั้งใจและสะท้อนความต้องการของนักศึกษาออกไปอย่างมีทิศทางเดียวกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะมีความสำคัญในระยะยาวสำหรับการเคลื่อนไหวต่อไปในอนาคต 

 

แต่จากการเคลื่อนไหวของขบวนการฯ ที่ผ่านมาก็ทำให้เห็นแล้วว่า องค์กรนำไม่ได้มีความจำเป็นเสมอไป หากเพียงแค่มีเครือข่ายการประสานงานที่ได้รับการยอมรับ ก็อาจจะทำให้การเคลื่อนไหวดำเนินต่อไปได้

 

3.ข้อได้เปรียบของนักศึกษาในการรวมตัวคือ มีต้นทุนความเสี่ยงในการเคลื่อนไหวน้อยกว่าอาชีพอื่น และมีการปกป้องคุ้มครองจากมหาวิทยาลัย เสรีภาพของนักศึกษาสำคัญเกินกว่าใครจะมาจำกัด ในขณะที่ความยุติธรรมอยู่ในเครื่องหมายคำถามเสมอ โดยพวกเขายังคงมีภาพของการต่อสู้กับเผด็จการที่ถูกเชื่อมร้อยเข้ากับเรื่องเล่าของขบวนการนักศึกษาไทยในอดีต ซึ่งเป็นภาพฝันในอนาคตของพวกเขา แต่ก็ยังคงมีข้อเสียเปรียบของนักศึกษา ที่บ้างอาจจะมีความขี้เกียจ ตื่นสาย รักสบาย ไร้วินัย และผู้ปกครองเป็นห่วง ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้หากไม่ท้าทายพวกเขาให้ดี ก็จะทำให้การชุมนุมแผ่วลงได้ และฝ่ายรัฐเองก็อาจมีลูกเล่นที่กระตุ้นต่อมข้อเสียเปรียบของนักศึกษาได้เช่นกัน

 

4.ความสำเร็จในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมตามกระแส (Fashions) ของนักศึกษา ที่บางคนแม้อาจไม่ค่อยอินกับการเมืองมากนัก แต่ก็ไม่ขัดกับจริตทางการเมืองของตัวเอง 

 

ดังนั้น ด้วยความต้องการบรรลุถึงคุณค่าบางอย่างครั้งหนึ่งในชีวิต (Self-Esteem) พวกเขาก็พร้อมจะออกมาถ่ายรูป ติดแฮชแท็กเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์พร้อมกับเพื่อนๆ ซึ่งกระแสเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแย่ และสำคัญมากในทางการเมือง เพราะมันคือการพยายามดึงคนกลางๆ ให้ออกมาเดินไปด้วยกัน แต่ยังคงน่ากังวลว่า ‘กระแสมาไวไปไวเหมือน Flash Mob’ หากไร้สิ่งท้าทายและการจุดกระแสขึ้นใหม่ ไฟที่ลามทุ่งก็ดับได้เช่นกัน

 

5.ขบวนการนักศึกษาที่ผ่านมา มีการเคลื่อนไหวที่สัมพันธ์กับสถานการณ์ทางการเมือง เหมือนกับกระแสครั้งนี้ที่จุดติดขึ้นจากกรณียุบพรรคอนาคตใหม่ ดังนั้น การดำเนินการของฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และอดีตพรรคที่ถูกยุบ จึงมีความสำคัญต่อความเป็นไปของการเคลื่อนไหวมาก 

 

แต่ทว่า ความน่าจะเป็นของยุทธวิธีแบบตอบโต้ของขบวนการนักศึกษาที่ผ่านมา ในฐานะตัวแปรตามทางการเมืองก็อาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะเวลานี้นักศึกษาและแนวร่วมนักเรียนจากสถาบันต่างๆ เริ่มขยับจากตัวแปรตาม กลายเป็น ‘ผู้นำของการเคลื่อนไหวทางการเมืองแล้ว’ การตั้งเป้าหมายที่ตรงจุด จึงอาจทำให้ฝ่ายรัฐต้องตกอยู่ในสถานะตัวแปรตามแทนก็เป็นได้

 

อย่างไรก็ตาม ‘การแสดงตัวตนทางการเมือง’ ของบรรดานักเรียนนักศึกษาในครั้งนี้ อาจไม่ใช่แค่การรวบรวมความฝันของพวกเขาขึ้นมาใหม่เท่านั้น เพราะภาพการชุมนุมอย่างเข้มแข็งและปราศจากคนชี้นำ เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นในหน้าการเมืองไทยมานานแล้ว มันทำให้ความฝันของผู้ใหญ่หลายคนที่ต้องการจะเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ มีประกายความหวังขึ้นมาอีกครั้ง และสิ่งที่ว่านี้ คือปัจจัยสุดท้ายที่จะทำให้ ‘ขบวนการคนรุ่นใหม่’ ไปต่อได้อย่างมั่นคง เพราะพวกเขากำลังจะแบกรับความฝันของคนรุ่นก่อนหน้า ไปสานต่อให้สำเร็จด้วยนั่นเอง

 

 

 

เรื่อง: ชยุตม์ พันธุ์สุวรรณ

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง: 

  • ชยุตม์ พันธุ์สุวรรณ, 2561. ขบวนการนักศึกษาหายไปไหน: การเปลี่ยนแปลงของขบวนการนักศึกษาไทยในช่วงความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. 2549-2557. วิทยานิพนธ์ (ศศ.ม. (การเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา))–สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2561
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising