×

ผลวิจัยเบื้องต้นชี้ วัคซีนของ Pfizer-BioNTech มีประสิทธิภาพต้านเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษ

โดย THE STANDARD TEAM
21.01.2021
  • LOADING...

บริษัท Pfizer และ BioNTech เผยผลศึกษาวิจัยเบื้องต้นจากห้องปฏิบัติการของทางบริษัท พบว่าวัคซีนต้านโควิด-19 ที่ทั้งสองบริษัทร่วมกันพัฒนานั้น มีประสิทธิภาพในการต้านทานการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ที่พบในอังกฤษ

 

ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษซึ่งมีชื่อเรียกว่า B.1.1.7 มีอัตราการกลายพันธุ์มากและแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่าปกติถึง 70% ซึ่งทำให้เกิดความกังวลว่ามันอาจเอาตัวรอดจากระบบภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นโดยวัคซีนต้านโควิด-19 ที่กำลังแจกจ่ายใช้งานไปทั่วโลก ซึ่งวัคซีนส่วนใหญ่ที่มีการเริ่มใช้งานในตอนนี้ คือวัคซีนจาก Pfizer และ BioNTech

 

ด้านนักวิจัยประจำสำนักงานใหญ่ BioNTech ที่เมืองไมนซ์ ของเยอรมนี ชี้ว่าผลวิจัยไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ ทุกสายพันธุ์ในหลอดทดลอง พบว่ามันถูกยับยั้งการระบาดได้โดยภูมิคุ้มกันในเลือดของผู้ป่วย 16 คน ที่ได้รับวัคซีนจากการทดลองทางคลินิกก่อนหน้านี้ โดยครึ่งหนึ่งของผู้ได้รับวัคซีนมีอายุเกิน 55 ปี 

 

ข้อมูลในเอกสารของ Pfizer และ BioNTech ที่ยังไม่ผ่านการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ไม่พบความแตกต่างทางชีวภาพที่สำคัญในการยับยั้งไวรัสกลายพันธุ์ดังกล่าว ขณะที่ผู้เขียนเอกสารเตือนถึงความจำเป็นในการเฝ้าติดตามวิวัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของเชื้อโควิด-19 เพื่อให้แน่ใจว่าวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันยังคงสามารถป้องกันการติดเชื้อได้

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ในแอฟริกาใต้เตือนว่าวัคซีนต้านโควิด-19 ที่มีอยู่ อาจมีประสิทธิภาพลดน้อยลง เมื่อเจอกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ 501Y.V2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่ระบาดรุนแรงกว่าสายพันธุ์อังกฤษ และกำลังทำให้เกิดการแพร่ระบาดที่รุนแรงระลอกสองในแอฟริกาใต้

 

โดย ซาลิม อับดุล คาริม หัวหน้าที่ปรึกษาด้านโควิด-19 ของรัฐบาลแอฟริกาใต้ ระบุว่า ยังไม่พบหลักฐานชัดเจนว่าวัคซีนต้านโควิด-19 ที่มีอยู่นั้น มีประสิทธิภาพต้านทานเชื้อไวรัสสายพันธุ์ 501Y.V2 หรือไม่

 

“ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนมีความแตกต่างกันและอาจได้รับผลกระทบหรือไม่ก็ได้ เรายังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าวัคซีนนั้นมีผลกับไวรัสสายพันธุ์ 501Y.V2 หรือไม่ โดยกำลังศึกษาอยู่” เขากล่าว

 

ภาพ: JACK GUEZ / AFP

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X