บิล แอ็กแมน นักลงทุนระดับมหาเศรษฐี เปิดเผยว่า เขาได้ยกเลิกการเดิมพันกับการลดลงของมูลค่าพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ โดยได้ปิดสถานะชอร์ต (Cover Short) แล้ว ขณะที่ บิล กรอส ผู้ร่วมก่อตั้ง Pacific Investment Management ระบุว่า เขากำลังซื้อสัญญาซื้อ-ขายล่วงหน้า (Futures) ของอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น หลังคาดว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยภายในสิ้นปีนี้
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีที่พุ่งไปแตะ 5% ก่อนที่อัตราดอกเบี้ยจะลดลงกลับมาต่ำกว่าระดับดังกล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (23 ตุลาคม) ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 16 ปี ท่ามกลางความผันผวนอย่างต่อเนื่องในตลาดตราสารหนี้ทั่วโลก โดยอัตราดอกเบี้ย ณ วันปิดการซื้อ-ขายล่าสุดอยู่ที่ระดับ 4.85%
มุมมองที่เปลี่ยนไปของนักลงทุนชื่อดังทั้งสองรายจะกลายเป็นจุดสูงสุดของ Bond Yield ในปัจจุบันหรือไม่ก็คงต้องติดตามกันต่อไป แน่นอนว่านักวิเคราะห์บางรายก็ยังเชื่อว่า Bond Yield 10 ปีนั้นอาจพุ่งสู่ระดับ 6%
พันธบัตรรัฐบาลมักเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยสำหรับนักลงทุนในยามที่เศรษฐกิจอ่อนแอหรือเกิดความผันผวนในตลาดอย่างต่อเนื่อง แม้ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและฮามาสจะทำให้เกิดการลงทุนในพันธบัตรเป็นอย่างมากภายในเดือนนี้ แต่ก็ถูกละเลยอย่างรวดเร็ว เนื่องจากนักลงทุนมุ่งเน้นไปที่ปัจจัยภายในประเทศที่กำลังผลักดันให้ต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีสัญญาณมากมายที่ทำให้นักลงทุนมีความเห็นต่อมุมมองตลาดแตกต่างกันไป เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งสัญญาณว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวที่สูงขึ้นจะช่วยลดแรงกดดันในการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวด ตลาดตอบสนองด้วยการลด Fed Fund Futures เนื่องจากเทรดเดอร์คลายการเดิมพันถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากการประชุมนโยบายของ Fed ในเดือนพฤศจิกายน
ขณะเดียวกันความกังวลในสงครามอิสราเอลกับฮามาสที่อาจลุกลามไปทั่วภูมิภาค ยังคงกดดันให้นักลงทุนเน้นแผนลงทุนอย่างปลอดภัยเช่นกัน
บิล แอ็กแมน เขียนบนโพสต์ใน X หรือเดิมในชื่อ Twitter ว่า สภาวะในปัจจุบันมีความเสี่ยงมากเกินไปที่จะชอร์ตพันธบัตรในยามที่ Bond Yield อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ จากข้อมูลล่าสุดยังแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจอาจชะลอตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้
เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แอ็กแมนเปิดเผยว่า เขามีมุมมองเชิงลบต่อพันธบัตรสหรัฐฯ โดยผ่านการใช้ Options เพื่อป้องกันความเสี่ยงสำหรับการลงทุน
แอ็กแมนมองว่า การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เช่น โลกที่มีความเป็นโลกาภิวัตน์น้อยลงและการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน จะกระตุ้นให้เกิดแรงกดดันจากเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง และเสริมว่า จำนวนพันธบัตรที่ท่วมท้นและการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ ที่เพิ่มสูงขึ้น อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ Bond Yield ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน
บิล กรอส หนุนความเห็นของแอ็กแมน โดยให้มุมมองอื่นๆ เช่น ความวุ่นวายของธนาคารในภูมิภาคและการเพิ่มขึ้นของยอดการผิดนัดชำระสินเชื่อรถยนต์กำลังบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจอาจเข้าสู่การชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญ
กรอสเปิดเผยว่า เขากำลังซื้อ Futures อัตราดอกเบี้ยข้ามคืนที่มีหลักประกัน ซึ่งจะครบกำหนดในเดือนมีนาคม 2025 และเป็นการเดิมพันที่จะได้ผลตอบแทนหากอัตราดอกเบี้ยลดลง นอกจากนี้กรอสยังกล่าวว่า ส่วนต่างๆ ของ Yield Curve เช่น ช่องว่างระหว่างอัตราผลตอบแทน 2-10 ปี จะมีค่าเป็นบวกก่อนถึงสิ้นปีนี้
อ้างอิง: