ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา พี่น้องแรงงานในฝรั่งเศสจำนวนไม่น้อยทยอยรวมพลังออกมาประท้วงใหญ่ตามเมืองต่างๆ ทั่วฝรั่งเศส สร้างความท้าทายในการบริหารประเทศให้กับรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง อีกระลอก
เกิดอะไรขึ้นที่ฝรั่งเศส ทำไมประชาชนถึงออกมาประท้วงใหญ่
พี่น้องแรงงานและประชาชนจำนวนไม่น้อยเข้าร่วมการประท้วงใหญ่ที่จัดขึ้นตามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อเรียกร้องให้มีการจ่ายค่าตอบแทนในอัตราที่สูงขึ้นและสอดคล้องกับค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้นอย่างมาก หลังฝรั่งเศสเผชิญภาวะเงินเฟ้อสูงถึง 6.2% ซึ่งถือเป็นสถิติที่สูงสุดในรอบหลายทศวรรษ
โดยภาวะเงินเฟ้อสร้างแรงกระเพื่อมให้กับเศรษฐกิจโลก ซึ่งสืบเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดที่ยืดเยื้อมานานเกือบ 3 ปี ประกอบกับผลกระทบจากวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ดำเนินมานานเกือบ 8 เดือนแล้ว ส่งผลให้ราคาอาหารและเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
กระแสการประท้วงใหญ่เริ่มระอุขึ้น ภายหลังจากที่สหภาพแรงงาน CGT ของฝรั่งเศส ปฏิเสธข้อตกลงของบริษัทด้านพลังงานยักษ์ใหญ่อย่าง TotalEnergies ที่ยังคงหาจุดร่วมและทางออกของวิกฤตนี้ไม่ลงตัว โดยสหภาพแรงงาน CFDT และ CFE-CGC ซึ่งเป็นตัวแทนเสียงส่วนใหญ่ของพี่น้องแรงงานในฝรั่งเศส เห็นพ้องที่จะเรียกร้องให้มีการจ่ายค่าตอบแทน รวมถึงโบนัส เพิ่มขึ้นราว 7% ในขณะที่สหภาพแรงงาน CGT เรียกร้องให้จ่ายเพิ่มขึ้น 10% ทำให้สถานการณ์การประท้วงในฝรั่งเศสยังไม่คลี่คลายลง
โดยกลุ่มของผู้ที่ปฏิเสธดีลดังกล่าวมองว่า ค่าตอบแทนที่พวกเขาควรจะได้รับเป็นสัดส่วนที่สูงขึ้นจากผลกำไรที่มาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงต่างๆ ที่มีเพิ่มสูงขึ้น ในช่วงเวลาที่วิกฤตความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนกำลังลุกลาม พร้อมทั้งยังเรียกร้องให้นัดหยุดงานทั่วประเทศ เรียกร้องให้แรงงานในภาคส่วนอื่นๆ เช่น ในภาคอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่ในสถานศึกษาของรัฐ เข้าร่วมการประท้วงดังกล่าวนี้ด้วย
ผลกระทบจากการประท้วงใหญ่
การประท้วงใหญ่ส่งผลให้การคมนาคมสาธารณะ โดยเฉพาะรถไฟหลายสายระงับการให้บริการชั่วคราว รวมถึงรถโดยสารสาธารณะอย่างรถเมล์ ในโซนกรุงปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเศสเองก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
สหภาพแรงงานเรียกร้องให้พี่น้องแรงงานในภาคส่วนต่างๆ เข้ามาร่วมต่อสู้ ฝ่าวิกฤตค่าครองชีพ โดยมีแนวโน้มว่าการประท้วงจะยืดเยื้อต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 4 และอาจยาวนานกว่านั้น
จากผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนชาวฝรั่งเศส โดย Elabe group พบว่า ชาวฝรั่งเศสราว 1 ใน 3 กำลังเตรียมความพร้อมที่จะเข้าร่วมการประท้วงครั้งใหญ่ในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้ เพื่อเรียกร้องให้เพิ่มค่าตอบแทนสู้กับภาวะเงินเฟ้อ
การประท้วงในครั้งนี้ส่งผลให้โรงกลั่นน้ำมันของฝรั่งเศสกว่า 60% ระงับสายพานการผลิตลงชั่วคราว หรือคิดเป็นราว 7.4 แสนบาร์เรลต่อวัน สร้างแรงขับให้ทางการฝรั่งเศสจะต้องนำเข้าพลังงานเชื้อเพลิงเพิ่มมากยิ่งขึ้น หลังจากซัพพลายและราคาน้ำมันในตลาดโลกผันผวนสูงมาก
ท่าทีจากฟากฝั่งรัฐบาลฝรั่งเศส
ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ต้องการให้ทุกฝ่ายเร่งแก้ไขปัญหาและหาทางออกร่วมกันโดยเร็ว พร้อมทั้งมีการใช้อำนาจผู้นำประเทศ วอนผู้ชุมนุมประท้วงชุมนุมโดยสันติ ลดโอกาสที่จะเกิดการปะทะและบานปลายกลายเป็นการใช้ความรุนแรงระหว่างกัน รวมถึงเรียกร้องให้กลุ่มผู้ชุมนุมเปิดพื้นที่ให้โรงกลั่นและคลังน้ำมันกลับมาเปิดทำการได้อีกครั้ง
ทางด้าน เอลิซาเบธ บอร์น นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส เผยว่า จากสถานการณ์การประท้วงใหญ่ที่เกิดขึ้น ทำให้รัฐบาลฝรั่งเศสอาจจำเป็นต้องใช้อำนาจพิเศษตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ที่จะผ่านร่างงบประมาณปี 2023 โดยไม่ผ่านการลงคะแนนเสียงในรัฐสภา เพื่อบรรเทาเหตุประท้วง และแก้ไขวิกฤตเงินเฟ้อและค่าครองชีพขึ้นสูงอย่างเร่งด่วน
แม้มาครงจะเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส จนสามารถดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศเป็นสมัยที่ 2 ได้ เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่แนวนโยบายและการบริหารประเทศของมาครงก็มีแนวโน้มทำให้ชาวฝรั่งเศสจำนวนไม่น้อยลดการสนับสนุนเขา เขาได้รับคะแนนเสียง 58.55% ในการเลือกตั้งปี 2022 ซึ่งถือว่าลดลงอย่างมากจากการเลือกตั้งในปี 2017 ที่มาครงได้รับคะแนนสนับสนุนไปมากถึง 66.10% ในขณะที่กระแสความนิยมในตัวผู้นำประชานิยมปีกขวาของฝรั่งเศสอย่าง มารีน เลอ แปน กลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ภาพ: Alain Jocard / AFP
อ้างอิง:
- https://www.aljazeera.com/news/2022/10/18/explainer-why-are-workers-striking-and-protesting-across-france
- https://www.aljazeera.com/news/2022/10/18/france-begins-nationwide-strikes-copes-with-major-disruptions
- https://www.france24.com/en/europe/20221018-france-braces-for-major-disruptions-as-unions-call-transport-strike
- https://www.reuters.com/world/europe/france-braces-nationwide-strikes-amidst-soaring-inflation-2022-10-18/