×

“โอกาสของธุรกิจค้าปลีกไม่ใช่แค่ในไทย แต่รวมไปถึงเวียดนามและ สปป.ลาว” จับตา ‘บิ๊กซี รีเทล’ กับการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก่อนขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ

08.06.2023
  • LOADING...
บิ๊กซี รีเทล

แม่ทัพใหญ่ ‘บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชัน’ ออกมาเคลื่อนไหวหลัง BJC นำ ‘บิ๊กซี’ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยก้าวต่อไปของบิ๊กซีจากนี้จะเป็นบริษัทเรือธงที่พร้อมเดินหน้าขยายสาขาทุกโมเดลทั้งในไทยและต่างประเทศ รองรับโอกาสการเติบโตที่มีอยู่รอบด้าน 

 

“โอกาสของธุรกิจค้าปลีกยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างมาก ไม่ใช่แค่ในไทย แต่รวมไปถึงเวียดนามและ สปป.ลาว หลังจากทุกอย่างคลี่คลาย นักท่องเที่ยวกลับมา ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ปรับไปในทิศทางที่ดี ทำให้คนเริ่มกล้าที่จะจับจ่ายมากขึ้น ทั้งหมดเป็นโอกาสที่เราจะสร้างรายได้และกำไรให้เติบโตขึ้นได้” อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ BRC กล่าว

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ก้าวต่อไปของ BRC จะเดินหน้าขยายสาขาบิ๊กซีทุกโมเดลเริ่มจากในไทย โดยโมเดลที่นำไปเปิดในแต่ละจังหวัดจะแตกต่างกัน ซึ่งจะพิจารณาจากพฤติกรรมการจับจ่ายของลูกค้าเป็นหลัก

 

สิ่งที่น่าสนใจคือโมเดลใหม่ภายใต้ชื่อ Big C Place ที่รีโนเวตมาจากบิ๊กซีไฮเปอร์มาร์เก็ต เตรียมเปิด 2 สาขาแรกที่ลำลูกกาและรัชดา ซึ่งโมเดลดังกล่าวจะมีความแตกต่างจากโมเดลอื่นตรงที่มุ่งเป็น Top Destination มีทั้งพื้นที่ช้อปปิ้ง ร้านอาหาร และมีพื้นที่แฮงเอาต์เข้ามารวมอยู่ในที่เดียวกัน เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ 

 

นอกจากนี้ยังมีการรีโนเวตสาขาเดิมอีก 15 แห่ง ให้ทันสมัยและเพิ่มพื้นที่เช่ามากขึ้น โดยจะเริ่มจากปรับปรุงไฮเปอร์มาร์เก็ตในกรุงเทพฯ ก่อน ตามด้วยสาขาที่เหลือทั้งหมดให้ครบตามเป้าในปี 2566 ซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มสัดส่วนรายได้ขึ้นประมาณ 8% ในเวลา 1 ปี หลังจากรีโนเวตเสร็จ ส่วนร้านโดนใจและร้านเอเชียบุ๊คสก็มีแผนขยายเพิ่มในปีนี้เช่นกัน 

 

เช่นเดียวกับตลาดต่างประเทศอย่างกัมพูชาและ สปป.ลาว ที่ยังมีศักยภาพอย่างมาก ก็จะเร่งขยายต่อ โดยใน สปป.ลาว เตรียมเป็นร้านไฮเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่สาขาแรก ซึ่งกำลังสร้างอยู่ คาดว่าจะแล้วเสร็จไตรมาส 1/67 เรียกได้ว่าการเปิดสาขาที่ต่างประเทศได้นำโมเดลในไทยไปปรับใช้ และแม้กระทั่งจีนก็ได้นำสินค้าไปจำหน่ายในแพลตฟอร์มในจีน ทำให้มีการเติบโตต่อเนื่อง และยังเตรียมเปิดตัวจิ๊กซอว์ตัวใหม่ที่จะมาเสริมธุรกิจในจีน ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาและเจรจาอยู่ คาดว่าจะได้เห็นเร็วๆ นี้

 

และอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ต้องทำควบคู่กันไปคือการหารายได้จากพื้นที่เช่าผ่านโมเดล Talad Market Format จากตลาดนัด 2 แห่ง ที่รวมๆ กันแล้วมีพื้นที่เฉลี่ยประมาณ 5,000 ตารางเมตร ปัจจุบันมีผู้เช่า 600-700 ราย

 

หัวเรือใหญ่ ‘บิ๊กซี รีเทล’ กล่าวต่อไปว่า กลยุทธ์ทั้งหมดนี้จะช่วยเพิ่มขีดการแข่งขันให้กับ BRC รวมไปถึงจุดแข็งของระบบ Data และ Omni-Channel ที่จะช่วยให้บิ๊กซีสามารถนำสินค้าและประสบการณ์ใหม่ๆ เข้ามาตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

 

ควบคู่ไปกับการจัดแคมเปญและโปรโมชันผ่านช่องทางออนไลน์ให้กับสมาชิก โดยปัจจุบัน บิ๊กซีมีฐานสมาชิกบิ๊กพอยต์มากกว่า 18 ล้านราย ใช้เวลาภายใน 3 ปี สมาชิกเติบโตขึ้น 29.5% ซึ่งมียอดใช้จ่ายมากกว่า 3 เท่าตัว ซึ่งมีรายได้จากสมาชิกบิ๊กพอยต์ประมาณ 60-80%

 

ทั้งนี้ บิ๊กซี รีเทล เคยอยู่ภายใต้การบริหารของ BJC สร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 60% ของรายได้รวมกลุ่ม BJC และถือส่วนแบ่งการตลาดของไฮเปอร์มาร์เก็ตประมาณ 42% ปัจจุบันได้แยกตัวออกมาเป็นบริษัทใหม่ภายใต้ชื่อบริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ BRC พร้อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และยื่นไฟลิ่งขาย IPO ซึ่งยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงาน ก.ล.ต. 

 

จากนี้ BRC จะเป็นบริษัทเรือธงของกลุ่ม BJC และกลุ่มบริษัทไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น โดยทุกๆ บริษัทในเครือจะเข้ามาสนับสนุนการเติบโตในอนาคต 

 

อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของ BRC ไตรมาส 1/66 สร้างรายได้รวม 27,432.9 ล้านบาท เติบโตขึ้น 2.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไรรวม 931.7 ล้านบาท เติบโตขึ้นถึง 17.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งหลักๆ มาจากการขายสินค้าและรายได้ค่าเช่าที่ฟื้นตัวขึ้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising