×

ตัวเลือกรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ของไบเดน สะท้อนความหวังฟื้นสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน

โดย THE STANDARD TEAM
24.11.2020
  • LOADING...
ตัวเลือกรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ของไบเดน สะท้อนความหวังฟื้นสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน

โจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐฯ ประกาศชื่อ แอนโทนี จอห์น บลินเคน ที่ปรึกษาด้านนโยบายต่างประเทศของเขา เป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ 

 

ความเคลื่อนไหวนี้ทำให้สื่อท้องถิ่นจีนอย่าง South China Morning Post ตีแผ่บทวิเคราะห์จากนักวิชาการจีน ซึ่งหลายคนมองไปในทิศทางเดียวกันว่า หัวหอกการทูตคนใหม่ของสหรัฐฯ จะเป็นบุคคลที่มีความเป็นกลางมากพอที่รัฐบาลปักกิ่งจะสามารถร่วมมือทำงานด้วยได้

 

เจี่ยชิ่งกั๋ว ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยปักกิ่งมองว่า บลินเคนอาจเป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ คนแรกในรอบ 4 ปี ที่จีนสามารถจับมือทำงานเพื่อสร้างเสถียรภาพในความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชาติได้ หลังจากที่เผชิญความตึงเครียดต่อเนื่องในยุคของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ และไมค์ ปอมเปโอ ที่รับหน้าที่รัฐมนตรีต่างประเทศตั้งแต่ปี 2018

 

“ใครก็ตามที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ คนต่อไป ย่อมดีกว่าคนปัจจุบัน” ศาสตราจารย์เจี่ยกล่าว ขณะที่เขาเชื่อว่ารัฐบาลจีนไม่คาดหวังมากนัก ที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ คนใหม่จะสนับสนุนจีน แต่หวังให้ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล เพื่อผลประโยชน์ของทั้งคู่

 

“จีนไม่คาดหวังว่าจะได้รัฐมนตรีต่างประเทศที่สนับสนุนจีน จีนคาดหวังว่าจะมีใครสักคนที่สามารถจัดการกับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน ด้วยวิธีการที่สมเหตุสมผล เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ตราบใดที่มีการดำเนินการอย่างสมเหตุสมผล ก็มีประเด็นมากมายที่สหรัฐฯ สามารถทำงานร่วมกับจีน ซึ่งจะเหมาะสมกับผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย”

 

ศาสตราจารย์เจี่ยยังมองว่า บลินเคนมีแนวโน้มที่จะนำวอชิงตันกลับสู่ยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศหลังสงคราม ในการพัฒนาผลประโยชน์ของอเมริกา ด้วยการรักษากฎระเบียบโลกที่เป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ ซึ่งหมายความว่า นโยบายที่มีต่อจีนนั้นจะคาดเดาได้มากกว่าในยุครัฐบาลทรัมป์

 

ขณะที่ ลู่เสียง ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการสหรัฐฯ จากสถาบันสังคมศาสตร์จีน มองว่าการที่ไบเดนเลือกบลินเคนให้รับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ นั้นถือเป็นความเคลื่อนไหวในทางบวกสำหรับจีน

 

“จากประสบการณ์ของเขา ไบเดนมีแนวโน้มที่จะตัดสินใจครั้งสำคัญบางอย่างเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศ บลินเคนไม่ใช่คนที่มีเสน่ห์ดึงดูดหรือเป็นประเภทยั่วยุ แต่เขาเป็นคนชอบปฏิบัติ ถ้าเขาได้รับการโหวตอนุมัติ ส่วนตัวผมมองว่ามันเป็นข่าวดี” ลู่กล่าว

 

บลินเคน วัย 58 ปี นั้นเป็นที่ปรึกษาของไบเดนมายาวนาน ทั้งที่ปรึกษาระดับสูงในคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของวุฒิสภา และที่ปรึกษาด้านความมั่นคงระหว่างปี 2009-2013 ซึ่งเป็นช่วงที่ไบเดนดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ภายใต้การนำของบารัก โอบามา และเคยรับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศระหว่างปี 2015-2017 

 

ซึ่งในช่วงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศนั้น เขาได้พบปะเจ้าหน้าที่การทูตระดับสูงของจีนหลายคน รวมถึง หวังอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน และหยางเจี๋ยฉือ ซึ่งตอนนี้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการประจำกรมการเมือง (โปลิตบูโร) และนักการทูตระดับสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

 

แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็มีท่าทีความสัมพันธ์ที่ดีต่อไช่อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวันคนปัจจุบัน โดยเคยพบปะกันที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในปี 2015 ระหว่างที่ไช่นั้นยังเป็นผู้สมัครชิงประธานาธิบดี นอกจากนี้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้แทนของไต้หวันในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ยังได้โทรศัพท์สายตรงถึงบลินเคน เพื่อแสดงความยินดีที่ไบเดนคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งด้วย

 

ก่อนหน้านี้บลินเคนเคยกล่าวว่า ไบเดนจะข้องเกี่ยวกับจีนด้วยจุดยืนที่แข็งแกร่ง และจะมุ่งเน้นการฟื้นฟูประชาธิปไตยของสหรัฐฯ และความสัมพันธ์ที่มีต่อชาติพันธมิตร

 

ขณะที่เขายังเคยยอมรับว่ามีมุมมองต่อความแตกต่างระหว่างสองฝ่าย โดยมองจีนว่าเป็นอุปสรรคและความท้าทายที่สำคัญ และให้คำมั่นว่าจะนำพันธมิตรของสหรัฐฯ เข้าร่วมเผชิญหน้ากับจีนในประเด็นต่างๆ เช่น แนวปฏิบัติทางการค้า

 

“เมื่อเราทำงานร่วมกับพันธมิตรและหุ้นส่วน ขึ้นอยู่กับว่าใครที่เรานำเข้ามาร่วมด้วย มันคิดเป็น 50 หรือ 60 เปอร์เซ็นต์ของ GDP นั่นเป็นน้ำหนักที่มากกว่ามาก และยากกว่ามากที่จีนจะเพิกเฉย” บลินเคนกล่าวระหว่างร่วมงานที่สถาบันฮัดสันในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อเดือนกรกฎาคม

 

ซึ่งในงานเดียวกันนี้ เขายังเน้นย้ำความสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ว่าเป็นภารกิจอันดับหนึ่งในนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไบเดน และเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับการร่วมมือกับรัฐบาลจีน

 

อย่างไรก็ตาม ลู่มองว่าบลินเคนไม่ต่างจากทีมที่ปรึกษาด้านนโยบายต่างประเทศคนอื่นๆ ของไบเดน ตรงที่มีประสบการณ์ในนโยบายความสัมพันธ์ต่อตะวันออกกลาง มากกว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน

 

“บลินเคน และ เจค ซัลลิแวน (ที่ปรึกษาของไบเดน) มีส่วนอย่างมากในการเจรจาข้อตกลงยุติโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ทั้งในการเจรจาอย่างเปิดเผย และการทูตแบบปิดก่อนหน้านั้น” ลู่กล่าวอ้างถึงการทำข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านในยุครัฐบาลโอบามาเมื่อปี 2015 ก่อนที่ทรัมป์จะถอนตัวจากข้อตกลงในปี 2018 ซึ่งยังไม่แน่ว่าประสบการณ์ทางการทูตในภูมิภาคตะวันออกกลาง จะส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนมากแค่ไหน 

 

“มันยังต้องดูต่อไปว่า ประสบการณ์นั้นจะเป็นประโยชน์ต่อความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน หรือไม่” เขากล่าว

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

https://www.scmp.com/news/china/diplomacy/article/3111060/us-china-relations-bidens-pick-secretary-state-seen-someone

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising