เมื่อวานนี้ (26 เมษายน) โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และยุนซอกยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ บรรลุข้อตกลงใหม่ร่วมกันว่า เกาหลีใต้จะไม่ติดตั้งและพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แลกกับแผนงานการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่สหรัฐฯ นำเสนอไว้ เพื่อรับมือกับการโจมตีและการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ
การบรรลุข้อตกลงครั้งใหม่นี้มีขึ้นขณะที่ยุนซอกยอล พร้อมด้วยคิมคอนฮี สตรีหมายเลขหนึ่งของเกาหลีใต้ เดินทางเยือนกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ของสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ และร่วมเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 70 ปีของความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีใต้
ทางการสหรัฐฯ เผยว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ปฏิญญาวอชิงตัน’ (Washington Declaration) ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการช่วยส่งเสริมงานด้านหน่วยข่าวกรองและข้อมูลเชิงลึกให้กับทางการเกาหลีใต้ พร้อมทั้งเพิ่มช่องทางในการติดต่อสื่อสารระหว่างกันผ่านหน่วยงานอย่าง U.S.-Republic of Korea Nuclear Consultative Group (NCG) ที่จะมีบทบาทสำคัญในการประชุมหารือระหว่างกัน หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นบนคาบสมุทรเกาหลีในอนาคต
นอกจากนี้ไบเดนยังกล่าวถึงพันธกรณีที่ทางการสหรัฐฯ เคยให้ไว้กับเกาหลีใต้ในช่วงสิ้นสุดสงครามเกาหลีเมื่อปี 1953 ที่มีเนื้อหาระบุว่า สหรัฐฯ จะร่วมสนับสนุนเกาหลีใต้ในการปกป้องตนเอง โดยเฉพาะจากการโจมตีของเกาหลีเหนือ
แม้ในข้อตกลงดังกล่าวจะไม่ได้มีการระบุชัดว่า สหรัฐฯ จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการปกป้องเกาหลีใต้หากถูกเกาหลีเหนือโจมตี แต่ไบเดนก็ยังได้เน้นย้ำว่า “การที่เกาหลีเหนือโจมตีสหรัฐฯ รวมถึงบรรดาชาติพันธมิตรและหุ้นส่วนสำคัญต่างๆ ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ถือเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ และจะส่งผลให้ระบอบการปกครองใดๆ ก็ตามที่ดำเนินการดังกล่าวต้องยุติลง”
ทั้งนี้ไบเดนยังเรียกร้องให้เกาหลีใต้ยังคงเป็นรัฐที่ไม่เป็นรัฐนิวเคลียร์ และเป็นผู้สนับสนุนต่อหลักการ ‘การไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์’ โดยสหรัฐฯ มองว่าการโน้มน้าวให้เกาหลีใต้ไม่ติดตั้งหรือพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ถือเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ ต้องให้ความสำคัญ เพราะหากว่าล้มเหลว มีโอกาสที่อีกหลายประเทศจะดำเนินรอยตาม และประชาคมโลกอาจตกอยู่ภายใต้บรรยากาศของความตึงเครียดและความหวาดกลัวที่เกิดขึ้นจากการแข่งขันกันด้านอาวุธนิวเคลียร์ได้อีกในอนาคต
ภาพ: Jim Watson / AFP
อ้างอิง: