×

บทสนทนาสองผู้นำ ‘ไบเดน’ ขู่คว่ำบาตรรัสเซียหากบุกยูเครน ขณะที่ปูตินโต้ ความสัมพันธ์รัสเซีย-สหรัฐฯ อาจพังทลายถ้าคว่ำบาตร

31.12.2021
  • LOADING...
ไบเดน

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ต่างส่งคำเตือนถึงกันและกันเกี่ยวกับประเด็นยูเครน ในระหว่างการหารือทางโทรศัพท์เมื่อวานนี้ (30 ธันวาคม) ตามเวลาท้องถิ่น โดยไบเดนได้เตือนปูตินเกี่ยวกับการใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียหากมีการรุกรานใดๆ ต่อยูเครน ขณะที่ผู้นำรัสเซียก็บอกว่า การคว่ำบาตรต่อรัสเซียอาจนำไปสู่การพังทลายของความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและสหรัฐฯ อย่างสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม ทั้งสองประธานาธิบดีแสดงความสนับสนุนให้มีการดำเนินการทางการทูตต่อไปในประเด็นความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน

 

การพูดคุยยาวนาน 50 นาทีดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการพูดคุยครั้งที่ 2 ในรอบ 3 สัปดาห์ ขณะที่ ยูรี ยูชาคอฟ ที่ปรึกษาด้านนโยบายต่างประเทศของรัสเซีย ระบุกับผู้สื่อข่าวว่า ปูตินพอใจกับการพูดคุยโดยภาพรวม และบอกว่าการพูดคุยครั้งนี้สร้างบรรยากาศที่ดีของการเจรจาในอนาคต ขณะที่เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ ที่ไม่เปิดเผยชื่อระบุว่า น้ำเสียงในการพูดคุยนั้นจริงจังและมีสาระสำคัญ

 

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และรัสเซีย มีกำหนดหารือที่กรุงเจนีวาต่อไปในวันที่ 9-10 มกราคม 2022 และจะตามด้วยการประชุมระหว่างรัสเซียและสภาขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ในวันที่ 12 มกราคม และการเจรจาที่องค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรปที่กรุงเวียนนา ในวันที่ 13 มกราคม

 

ด้าน เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาวระบุผ่านแถลงการณ์ว่า ไบเดนนั้นแสดงให้เห็นชัดเจนว่า สหรัฐฯ พันธมิตร และหุ้นส่วน จะตอบโต้อย่างเด็ดขาด หากรัสเซียรุกรานยูเครนต่อไป และย้ำว่าความคืบหน้าที่สำคัญในการเจรจาเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ในสภาพแวดล้อมของการลดความตึงเครียดเท่านั้น

 

การพูดคุยครั้งนี้เป็นความพยายามครั้งล่าสุดที่จะคลี่คลายความตึงเครียดบริเวณชายแดนด้านตะวันออกของยูเครนกับรัสเซีย ซึ่งเจ้าหน้าที่ยูเครนระบุว่า มีการส่งทหารรัสเซียไปแล้วราว 1 แสนนาย ซึ่งทำให้เกิดความกังวลในชาติตะวันตก โดยสหรัฐฯ ขู่ปูตินด้วยมาตรการคว่ำบาตร ‘อย่างที่ปูตินไม่เคยเห็นมาก่อน’ หากยูเครนถูกโจมตี แต่รัสเซียระบุว่า กำลังทหารดังกล่าวเป็นไปในฐานะมาตรการป้องกันต่อการขยายตัวของ NATO ซึ่งรัสเซียต้องการหลักประกันที่มีผลผูกพันทางกฎหมายว่า NATO จะไม่เพิ่มสมาชิกไปทางตะวันออก และจะไม่มีการส่งอาวุธไปยังยูเครนหรือประเทศใกล้เคียง ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่สหรัฐฯ ปฏิเสธ

 

อนึ่ง ยูเครนมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับ NATO แม้ยังไม่ได้ถูกเสนอสถานะสมาชิกก็ตาม

 

ภาพ: PAVEL GOLOVKIN, ERIC BARADAT / AFP / POOL

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising