“ภูฏานไม่ได้รับผลกระทบจากภาษีของสหรัฐฯ เพราะเศรษฐกิจเชื่อมโยงแน่นแฟ้นกับอินเดีย” ดาโช เชริง โตบเกย์ นายกรัฐมนตรีภูฏาน กล่าวในระหว่างให้สัมภาษณ์พิเศษกับ ณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว THE STANDARD ระหว่างการเยือนไทย พร้อมมองในแง่ดีต่อบทบาทของ BIMSTEC (ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ) ในการผลักดันเศรษฐกิจภูมิภาค
หลังการประชุมสุดยอด BIMSTEC ครั้งที่ 6 ที่กรุงเทพมหานครปิดฉากลง นายกฯ ภูฏาน ได้ให้สัมภาษณ์กล่าวถึงจุดยืนของภูฏานท่ามกลางบริบทภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลง และความเคลื่อนไหวของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา
“ในฐานะประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็ก เราแทบไม่ได้รับผลกระทบจากภาษีของสหรัฐฯ เพราะภูฏานส่งออกไปยังสหรัฐฯ ในสัดส่วนที่น้อยมาก” นายกฯ ภูฏานกล่าว
“เศรษฐกิจของเราพึ่งพาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอินเดีย ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของภูฏาน คิดเป็นสัดส่วนถึง 80% ของการค้าทั้งหมด เรามีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับอินเดียในทุกด้าน ทั้งการพัฒนา เศรษฐกิจ และการเมือง”
แม้ในการประชุมสุดยอด BIMSTEC จะไม่มีการหารือโดยตรงถึงการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
แต่ผู้นำทั้ง 7 ประเทศสมาชิกให้คำมั่นว่า จะส่งเสริมการค้าในภูมิภาคให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ลดการพึ่งพาภายนอก และเชื่อมโยงเศรษฐกิจในเอเชียใต้-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ใกล้ชิดขึ้น
ในมิติของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ภูฏานลงนามในข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศไทย ซึ่งนายกฯ โตบเกย์ มองว่าเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ให้แก่ภูฏาน ทั้งในด้านการนำเข้า-ส่งออก และการลงทุนในอนาคต
เมื่อถูกถามถึงจุดยืนของภูฏานที่ตั้งอยู่ระหว่างจีนและอินเดีย สองประเทศมหาอำนาจของภูมิภาค นายกฯ โตบเกย์ตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า: “โดยภูมิศาสตร์ เราอยู่ระหว่างจีนกับอินเดียก็จริง แต่เรามองว่าตัวเอง ไม่ได้ถูกบีบอยู่ระหว่างสองยักษ์ใหญ่ แต่กำลังเบ่งบานอยู่ท่ามกลางพวกเขา”
“อินเดียคือมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของเรา ส่วนกับจีน เรามีความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรและเรียบง่าย ไม่มีปัญหาสำคัญใดๆ”
บนเวทีที่ภูมิรัฐศาสตร์กำลังปรับเปลี่ยน ภูฏานในฐานะประเทศเล็กที่มีประชากรไม่ถึง 800,000 คน กำลังพิสูจน์ให้เห็นว่า ประเทศเล็กก็สามารถมีเสียง มีความร่วมมือ และมีอนาคตที่ออกแบบได้เอง