×

Beyond Inverted Yield Curve ผลกระทบของพันธบัตรสหรัฐฯ ต่อการเงินโลกและไทย

18.04.2022
  • LOADING...
Beyond Inverted Yield Curve

ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ตลาดพันธบัตรทั่วโลกต่างเผชิญกับความผันผวนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในยูเครน ส่งผลทำให้นักลงทุนให้ความสนใจถือสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น พันธบัตรเพิ่มมากขึ้น จนส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวลดลง ซึ่งมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น เนื่องจากในเดือนมีนาคม ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ประกาศแผนการลดขนาดสินทรัพย์ที่ถือครอง และประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2561 

 

การประกาศแผนดำเนินนโยบายใหม่ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ถือว่ามีผลต่อตลาดพันธบัตรเป็นอย่างมาก เนื่องจากการประกาศในครั้งนี้มีการเปลี่ยนแปลงท่าทีการสื่อสารจากทั้ง ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ผู้ว่าการธนาคารในหลายรัฐ และสมาชิกในคณะกรรมการนโยบายการเงินหลายท่าน ถึงความจำเป็นและความสามารถในการดำเนินนโยบายทางการเงินที่ตึงตัวมากขึ้นในปีนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เงินเฟ้อที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ จึงมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากความกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากการดำเนินนโยบายที่เข้มงวด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ประเด็นหลักที่มีการกล่าวถึงกันมาก คือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จนเกิดเหตุการณ์ Inverted Yield Curve ขึ้น โดยสาเหตุหลักของการเกิดภาวะ Inverted Yield Curve เกิดจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นในช่วงระยะเวลาต่ำกว่า 2 ปีปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 1.93% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ขึ้นมาอยู่ที่ 2.76% ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน 2565 ซึ่งถือเป็นสถิติอัตราผลตอบแทนที่สูงที่สุดในรอบกว่าสามปี ขณะเดียวกัน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 2 ปี มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 1.44% ในเดือนกุมภาพันธ์ ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 2.53% ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนเมษายนที่ผ่านมา 

 

ลักษณะเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรเช่นนี้ บ่งบอกถึงความคาดหวังของตลาดต่อการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต ขณะเดียวกัน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวที่มีรูปร่างแบนราบก็บ่งบอกถึงความกังวลใจที่ตลาดมีต่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งหากมีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อเศรษฐกิจ จนทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจจำเป็นต้องมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในท้ายที่สุด

 

แม้ประเด็น Inverted Yield Curve อาจส่งผลให้เกิดความกังวลต่อความเสี่ยงการถดถอยของเศรษฐกิจในอนาคต และเป็นประเด็นที่มีการพูดถึงมากในช่วงที่ผ่านมา แต่การเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อตลาดการเงินโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทยในด้านอื่นๆ ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ในประเด็นดังต่อไปนี้ด้วยเช่นกัน 

 

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรเอเชียมีความน่าสนใจลดลง เพิ่มความเสี่ยงเงินทุนไหลออก

การเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของประเทศอื่นๆ ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยอัตราการเปลี่ยนแปลงผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ เกิดขึ้นในอัตราที่รวดเร็วกว่าการเปลี่ยนแปลงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของประเทศอื่นๆ ทำให้ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของประเทศอื่นๆ ปรับตัวเข้าหากันมากยิ่งขึ้น จนในบางประเทศ ส่วนต่างที่เคยเป็นบวกกลับมีทิศทางที่เปลี่ยนแปลงไปจนกระทั่งติดลบ ตัวอย่างชัดเจนที่สุดเกิดขึ้นกับพันธบัตรจีนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ กับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจีนที่เคยเป็นบวกมาโดยตลอด กลับมีทิศทางติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2553 อันเนื่องมาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ

 

ส่วนต่างผลตอบแทนที่กลับมาติดลบอีกครั้ง ก่อให้เกิดความกังวลถึงแนวโน้มเงินทุนที่จะไหลออกจากตลาดพันธบัตรจีน เพื่อย้ายการลงทุนไปที่ตลาดตราสารหนี้สหรัฐฯ ที่ให้อัตราผลตอบแทนที่ดีกว่า โดยในช่วง 2 เดือนนี้กองทุนต่างประเทศที่ลงทุนในพันธบัตรจีนได้มีการเริ่มขายพันธบัตรออกมาแล้วรวมมูลค่ากว่า 14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดในประเทศจีนที่ยังคงทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ธนาคารกลางจีนจำเป็นต้องดำเนินนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายเพิ่มขึ้นเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ อันเป็นแนวทางที่สวนทางกับการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของทั้งสองประเทศจะยิ่งติดลบมากขึ้น และนำมาซึ่งการเทขายพันธบัตรจีนเพิ่มขึ้นในอนาคต  

 

ผลกระทบต่อเนื่องที่เกิดขึ้นจากการขายพันธบัตรของนักลงทุน คือสกุลเงินของพันธบัตรในประเทศนั้นๆ โดยเมื่อนักลงทุนเลือกที่จะขายสินทรัพย์ออกจากประเทศ สกุลเงินของพันธบัตรนั้นจะได้รับผลกระทบในทิศทางที่อ่อนลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ดังเช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบันกับสกุลเงินเยน ที่มีการออกมาตรการควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield Curve Control) ของธนาคารกลางญี่ปุ่นในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้นักลงทุนเลือกที่จะเทขายพันธบัตรญี่ปุ่น ทำให้ในเดือนเมษายน สกุลเงินเยนมีการอ่อนค่าทำสถิติสูงสุดในรอบ 20 ปี เมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 15 ปีเมื่อเทียบกับสกุลเงินบาทไทย

 

ต้นทุนการกู้ยืมของธุรกิจไทยในตลาดหุ้นกู้เพิ่มสูงขึ้น ทำให้การกู้ยืมผ่านธนาคารพาณิชย์น่าสนใจมากขึ้น   

สำหรับประเทศไทย การปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ส่งผลคล้ายคลึงกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย โดยพันธบัตรระยะยาวอายุ 10 ปีของไทย ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 2.19% ในเดือนกุมภาพันธ์ มาอยู่ที่ 2.35% ในเดือนมีนาคม และยังคงปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับ 2.44% ในช่วง 10 วันแรกของเดือนเมษายน อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรไทย เกิดขึ้นช้ากว่าเมื่อเทียบกับพันธบัตรสหรัฐฯ ส่งผลทำให้ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยและสหรัฐฯ กลับมาติดลบอีกครั้งนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ก่อนการระบาดของโรคโควิด

 

การเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทย ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ที่พึ่งพาการกู้ยืมผ่านตลาดหุ้นกู้ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรส่งผลทำให้ต้นทุนในการกู้ยืมเพิ่มสูงขึ้น อธิบายให้เข้าใจ คือต้นทุนการกู้ยืมผ่านตลาดตราสารหนี้ จะประกอบไปด้วย อัตราผลตอบแทนพันธบัตร บวกกับ Credit Spread ซึ่งเป็นอัตราที่แสดงถึงความเสี่ยงของหุ้นกู้นั้นตาม Credit Rating ที่ธุรกิจนั้นได้รับ แสดงให้เห็นว่าธุรกิจยิ่งมีขนาดใหญ่และความเสี่ยงต่ำ ย่อมมี Credit Rating ที่ดีส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมผ่านตลาดหุ้นกู้ต่ำกว่าการกู้ยืมผ่านทางธนาคารพาณิชย์ ซึ่งโดยทั่วไปอาศัยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำ (MLR) ในการคำนวณอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมเงิน  

 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยที่ยังมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่เปลี่ยนแปลงมุมมองในการกู้ยืมของภาคธุรกิจขนาดใหญ่ เพราะเนื่องจากในช่วงที่ต้นทุนการกู้ยืมผ่านทางตลาดหุ้นกู้กำลังปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต้นทุนการกู้ยืมผ่านธนาคารพาณิชย์ กลับมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับเดิม เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำ (MLR) มีความสัมพันธ์สอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่มีแนวโน้มคงที่ที่ระดับ 0.5% ตลอดทั้งปี 2565 เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย 

 

เมื่อลองพิจารณาต้นทุนการกู้ยืมของธุรกิจที่ต้องการออกหุ้นกู้ในช่วงเวลา 5 ปี โดยนำข้อมูลอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำ (MLR) ที่เป็นต้นทุนการกู้ยืมผ่านธนาคารพาณิชย์ เปรียบเทียบต้นทุนการกู้ยืมผ่านตลาดหุ้นกู้ โดยคำนวณจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 5 ปี และ Credit Spread ของหุ้นกู้ที่ Rating BBB พบว่า การปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยมีผลต่อต้นทุนการกู้ยืมในตลาดหุ้นกู้อย่างชัดเจน ยิ่งไปกว่านั้น ส่วนต่างระหว่างต้นทุนการกู้ยืมผ่านธนาคารพาณิชย์และตลาดหุ้นกู้ ปรับตัวเข้าหากันมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2553 ส่วนต่างที่แคบลงมากสามารถบ่งบอกได้ถึงความน่าสนใจในการ กู้ยืมผ่านธนาคารพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ยอดสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ในธนาคารพาณิชย์ไทยปี 2565 นี้มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง 

 

 

กล่าวโดยสรุป หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากความกังวลต่อการดำเนินนโยบายทางการเงินที่ตึงตัวมากขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐฯ มีความเป็นไปได้สูงที่ตลาดพันธบัตรในเอเชียจะยังคงเผชิญแรงกดดันเพิ่มมากขึ้น และภาคธุรกิจไทยจำเป็นต้องแบกรับจากการกู้ยืมในตลาดหุ้นกู้เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ช่องทางการกู้ยืมผ่านธนาคารพาณิชย์มีความน่าสนใจมากขึ้นตลอดปี 2565 นี้  

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X