ช่วงนี้มักได้ยินข่าวเกี่ยวกับผลตอบแทนพันธบัตร บอนด์ยีลด์ (Bond Yield) บ่อยขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุเพราะ ‘ราคาพันธบัตร’ ปรับลดลงแรง จึงทำให้ Bond Yield พุ่งขึ้นค่อนข้างแรงเช่นกัน
โดย Bond Yield ที่เพิ่มขึ้นส่งผลต่อเนื่องไปยังตลาดหุ้นที่ปรับตัวลดลงด้วย หลายคนอาจมีคำถามว่าแล้ว Bond Yield คืออะไร เกี่ยวข้องกับตลาดหุ้นอย่างไร ทีมข่าว THE STANDARD WEALTH จะเล่าให้ฟัง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ‘ECB’ เร่งยุติโครงการซื้อคืนพันธบัตร เตรียมขึ้นดอกเบี้ยภายในปีนี้ สกัดเงินเฟ้อพุ่งแรง
- จีนถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่มครั้งแรกในรอบ 8 เดือน สวนทางญี่ปุ่นถือลดลง
- ปริมาณการถือครองพันธบัตรรัฐบาลของ BOJ พุ่งทำสถิติทะลุ 50%
Bond Yield ถ้าแปลตรงตัวก็คือ ‘อัตราผลตอบแทนจากการถือครองพันธบัตร’ ซึ่งผู้ลงทุนจะได้ผลตอบแทนในรูปของ ‘ดอกเบี้ย’ จากการถือพันธบัตรนั้นๆ ดังนั้นแล้วการเคลื่อนไหวของ Bond Yield จึงมักจะ ‘สวนทาง’ กับราคาของพันธบัตรเสมอ
กล่าวคือหาก Bond Yield ปรับตัวลดลง จะหมายความว่าราคาพันธบัตรนั้นๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้น เพราะราคาพันธบัตรที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยที่ได้รับ ผลตอบแทนจึงถือว่าลดลง
ในทางตรงกันข้าม หาก Bond Yield ปรับตัวเพิ่มขึ้นก็จะหมายความว่าราคาพันธบัตรนั้นๆ ปรับตัวลดลง ทำให้ผลตอบแทนจากการถือพันธบัตรเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยที่ได้รับปรับเพิ่มขึ้นนั่นเอง
โดย Bond Yield ที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจและคอยติดตามดูการเคลื่อนไหวคือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รุ่นอายุ 10 ปี
แล้ว Bond Yield เกี่ยวพันอย่างไรกับตลาดหุ้น
เมื่อ Bond Yield หรืออัตราผลตอบแทนปรับตัวสูงขึ้น สิ่งที่ตามมาคือความกังวลของนักลงทุนที่ห่วงว่าธนาคารกลางจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรุนแรง
สำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้น หากอัตราดอกเบี้ยค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้นเพราะเศรษฐกิจมีการขยายตัวที่ดี กรณีนี้ถือว่าเป็นข่าวบวก แต่เมื่อไรที่อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แทนที่จะสะท้อนถึงเศรษฐกิจที่เติบโตได้ดี ในทางตรงกันข้ามจะเป็นตัวบั่นทอนการขยายตัวของกำไรบริษัทต่างๆ เพราะต้นทุนในการกู้ยืมเพื่อทำธุรกิจจะสูงขึ้น
นอกจากนี้ในสายตาของนักลงทุน เมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจะทำให้ดอกเบี้ยที่ได้รับจากการลงทุนตราสารหนี้สูงขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นหากการลงทุนหุ้นยังให้ผลตอบแทนโดยรวมไม่ต่างจากเดิม แต่การลงทุนตราสารหนี้กลับมีโอกาสได้รับดอกเบี้ยที่สูงขึ้น จึงทำให้เสน่ห์หรือความน่าสนใจของการลงทุนในตลาดหุ้นลดลงไปด้วยนั่นเอง
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: