ควันหลงหลัง อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซียในฐานะประธานอาเซียน 2025 ตัดสินใจใช้กรุงเทพฯ เป็น ‘พื้นที่กลาง’ ในการเจรจาสันติภาพเมียนมากับ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นับเป็นการเจรจาหารือกันระหว่างผู้นำอาเซียนและผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาครั้งแรก ทั้งยังร่วมหารือผ่านระบบออนไลน์กับ อู มาน วิน ข่าย ตาน (U Mahn Win Khaing Than) ผู้แทนรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา (NUG) อีกด้วย
ประธานอาเซียนระบุว่า การเดินทางเยือนไทยในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างมาเลเซีย-ไทยในมิติต่างๆ โดยเฉพาะการค้า การลงทุน ความมั่นคงชายแดนและการพัฒนาพื้นที่ชายแดนร่วมกันแล้ว ประเด็นเรื่องสันติภาพในเมียนมาก็เป็นวาระสำคัญในการเดินทางเยือนไทยเช่นเดียวกัน โดยใช้ประโยชน์จากเวทีการประชุมอย่าง ‘ไม่เป็นทางการ’ พร้อมคณะที่ปรึกษาประธานอาเซียน เพื่อรับฟังความคิดเห็นโดยตรงจากทุกฝ่าย เป้าหมายเพื่อเปิดทางช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน และยุติความรุนแรงอย่างครอบคลุม
เมื่อไทยเป็น ‘พื้นที่กลาง’ ในการเจรจา?
รศ. ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายกสมาคมภูมิภาคศึกษา มองว่า การพบกันของอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย และ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย และที่ปรึกษาพิเศษประธานอาเซียนปีนี้ ซึ่งยังได้มีการพบปะกับพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาถือเป็น ‘จุดเริ่มต้นที่น่าสนใจ’ ที่ทำให้อาเซียนเข้ามาคุยกับผู้นำรัฐบาลทหารอย่าง พลเอก อาวุโส มิน อ่อง หล่าย อย่างใกล้ชิดมากขึ้น
ทำให้ไทยมีจุดยืนที่ชัดขึ้นในการประสานกับประธานอาเซียน ในฐานะที่ไทยเองก็ได้แสดงบทบาทเป็น ‘Connector’ ประสานความร่วมมือร่วมกันหลายๆ ประการ เพื่อให้เกิดการพัฒนาสันติภาพในเมียนมาที่ยืดเยื้อมานาน
ขณะที่ลักษณะการพบปะกันนั้น น่าสนใจตรงที่นายกฯ อันวาร์ ที่มีสาระมาพบกับแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย ในมุม รศ. ดร.ดุลยภาค มองว่านี่เป็นการทูต Track 1 คือการพบปะทางการทูตที่เป็นหลัก เป็นตัวแทนรัฐมาพบกัน
ส่วนการพบปะกันระหว่างทักษิณ นายกฯ อันวาร์ และพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เป็นการทูต Track 2 หรือการทูต sideline ข้างเคียง ที่นายกฯ อันวาร์วางไว้ ซึ่งถือว่าเป็นการวางเกมที่ชาญฉลาดอย่างยิ่ง
เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมา สิ่งที่ดูเหมือนเป็นธรรมเนียมของอาเซียนคือในการประชุมซัมมิตคือ การห้ามมิให้พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เข้ามาร่วมประชุมด้วย ดังนั้น จึงได้เห็นความพยายามจัดวงประชุมนอกรอบแบบไม่เป็นทางการ ออกเป็น Track 2 เป็นในรูปแบบกลุ่มคณะนักวิชาการ เป็นต้น ซึ่งมีการดึงนายกฯ อันวาร์ และพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เข้ามาร่วมพูดคุยด้วย
รศ. ดร.ดุลยภาค มองว่า นี่เป็นความก้าวหน้าทางการทูตเช่นเดียวกัน ในการให้พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย มาอยู่ใกล้ตัว เนื่องจากการเจรจาการหยุดยิง หรือการขยายระยะเวลาการหยุดยิง จำเป็นต้องคุยกับกองทัพรัฐบาลทหารเมียนมา
ขณะที่สิ่งที่ถูกจับตาต่อจากนั้นคือ หากประธานอาเซียนมีการคุยกับผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาแล้ว แล้วฝ่ายรัฐบาล NUG หรือแม้แต่กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ จะมีคำถามหรือไม่ว่าทำไมไม่คุยกับพวกเขาด้วย ซึ่งตรงนี้ นายกฯ อันวาร์ก็ทำการบ้านมาอย่างดี เพราะหลังจากพบปะกับพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย แล้ว มีการประชุมออนไลน์กับ รัฐบาล NUG แล้ว และเป็นไปในทิศทางที่ดี แต่ความน่าสนใจของรายละเอียดเชิงลึกจากการขยายระยะเวลาหยุดยิง ยังคงมีการสู้รบกันอยู่ทุกวันนี้ ท่ามกลางความพยายามของหลายฝ่าย ซึ่งคงต้องเป็นโจทย์ที่ท้าทายของอาเซียนว่าจะร่วมพัฒนาสถาบันเชิงสันติภาพที่ทำให้การหยุดยิงมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงอย่างไร หรือแม้แต่การคุยต่อยอดเรื่องการเลือกตั้งในเมียนมา เป็นต้น
ไทยได้อะไรจากการพบกัน?
ผศ. ดร.ลลิตา หาญวงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองเมียนมามองว่า การพบกันครั้งนี้ทำให้ไทยได้ ‘สปอตไลต์’ จากสังคมไทยและสังคมโลกในประเด็นเรื่องเมียนมา อย่างไรก็ตามอาจารย์ไม่เชื่อว่า สังคมไทยและสังคมโลกจะมองไทยเป็นบวกมากขนาดนั้น เนื่องจากยังคงมีการตั้งคำถามถึงวัตถุประสงค์ที่แน่ชัดของการพบกันที่ไทย ยังไม่นับรวมกระแสต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารที่เกิดขึ้นตามมาอีก
อาจารย์มองว่า การพบกันนี้สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทิศทางอาเซียน ภายใต้การนำของประธานอาเซียนคนปัจจุบันจากมาเลเซีย ที่มีการปรับเปลี่ยนความคิดว่า ถ้าต้องการให้เกิดสันติภาพในเมียนมา ยังไงก็จะต้องคุยกับมิน อ่อง หล่าย
กรณีนี้เราสามารถวิเคราะห์ได้กว้างๆ ว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ อันวาร์ก็อยากจะได้สปอตไลต์ และต้องการสร้างผลงานในฐานะประธานอาเซียนด้วย รวมถึงเป็นการยื่นข้อเสนอให้กับเพื่อนเก่าแก่อย่างอดีตนายกฯ ทักษิณว่า ช่วยทำงานขับเคลื่อนเรื่องเมียนมาด้วยกัน เพราะว่าถ้าไม่มีสถานะที่ปรึกษาประธานอาเซียน อาจทำให้ทักษิณเคลื่อนไหวได้ยากเหมือนกันในประเด็นที่เกี่ยวกับเมียนมา
ขณะที่ รศ. ดร.ดุลยภาค เชื่อว่า ธงรัฐบาลเพื่อไทยอาจต้องการมุ่งหมายอย่างน้อย 2 เรื่อง คือ 1. ต้องดับไฟใต้ให้จบโดยเร็ว และ 2. ไทยต้องเด่นขึ้น โดยเฉพาะการเข้ามามีบทบาทของทักษิณในการจัดการปัญหาสันติภาพในเมียนมา กับการนั่งเป็นที่ปรึกษาประธานอาเซียน ทั้งยังอธิบายได้ว่า วาระการคุยกันเรื่องปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ของไทยและมาเลเซีย เอื้อต่อการคุยหารือต่อในประเด็นเมียนมา ในฐานะที่ไทยเองมีจุดภูมิรัฐศาสตร์เชื่อมเมียนมา ในขณะเดียวกันก็เพื่อเปิดช่องทางสื่อสารกับพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อการเจรจาหารือในอนาคต
ถือเป็นการยกระดับการทูตไทย?
ผศ. ดร.ลลิตา มองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการยกระดับทางการทูตของไทยได้ และนี่เป็นโอกาสครั้งสำคัญในการเดินหน้าเรื่องสันติภาพในเมียนมา แต่อาจารย์ไม่มั่นใจเรื่องศักยภาพของรัฐบาลไทยในปัจจุบันว่าจะทำได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศของไทยไม่เคยมีนโยบายที่เกี่ยวกับเมียนมามายาวนานมากแล้ว
โดยอาจารย์ลลิตาเชื่อว่า การประชุมในลักษณะนี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งอีกแล้วในอนาคตเนื่องจาก การที่พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เดินทางออกนอกประเทศบ่อยๆ ไม่ใช่เรื่องที่ดี เหตุผลสำคัญมาจากประเด็นเรื่องความปลอดภัย อีกทั้งไทยเองก็คงไม่ได้อยากให้ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาใช้ไทยเป็นพื้นที่ที่เขาจะสามารถมาใช้ได้เรื่อยๆ มาใช้ได้บ่อยๆ ถ้าจะมีการหารือกันอีกหลังจากนี้ก็น่าจะเป็นการหารือกันผ่านระบบออนไลน์หรือวิดีโอคอนเฟอเรนซ์
อาจารย์มองว่า รัฐบาลไทยต้องเทคแอ็กชันมากยิ่งขึ้น ต้องมานั่งคุยกันว่าจะเอายังไงต่อไป ไม่ใช่ใครร้องขอมาแล้วต้องทำตามนั้น เราต้องมานั่งคิดกรอบนโยบายก่อนว่ายุทธศาสตร์ที่มีต่อเมียนมา เราอยากเห็นอะไร เราต้องการอะไร เพราะอะไร ถ้าเรามียุทธศาสตร์ที่แน่ชัด เราก็จะสามารถเดินต่อไปได้อย่างมีทิศทาง
ขณะที่ รศ. ดร.ดุลยภาค ระบุว่า การหารือสันติภาพในเมียนมาครั้งนี้ เป็นการสร้างโอกาสจากคอนเน็กชันส่วนตัวของทักษิณ จึงนำมาซึ่ง ‘ความง่าย’ ในการให้ไทยเป็นเหมือน ‘สะพานเชื่อม’ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจุดเริ่มต้นนี้จะเริ่มขึ้นด้วยทิศทางที่ดี แต่ก็ต้องดูต่อไปเพราะจากนี้มีอีกหลายสิ่งที่ต้องทำต่อไปในการพัฒนาสันติภาพในเมียนมา เช่น ในอนาคตอาเซียนจะดึงคู่ขัดแย้งมานั่งโต๊ะเจรจากันในรูปแบบไหน หรืออาเซียนเองก็ไม่ได้มีบทบาทแต่เพียงฝ่ายเดียว เพราะว่าต้องอย่าลืมบทบาทในกระบวนการสันติภาพนี้ว่ามีจีนด้วย
ดังนั้น อาเซียนต้องแบ่งบทบาทหน้าที่ตัวเองกับจีนอย่างไร หรือต้องไปรวมกับอินเดียหรือไม่ หรือประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยังตอบไม่ได้ ซึ่งถ้าดูที่ผ่านมา คู่ขัดแย้งเมียนมาเองก็มองอาเซียนเป็นเพียงช่องทางหนึ่งเท่านั้น เพราะยังมีมหาอำนาจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
โจทย์ของเมียนมาในวันนี้จึงเป็น ‘โจทย์ยาก’ ที่นับรวมเรื่องของการเมืองมหาอำนาจ รวมถึงภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งขึ้นอยู่กับอาเซียนเองด้วยที่จะมองเมียนมาในมุมไหน เช่น ถ้ามองแบบระบบขั้วอำนาจเดียวที่มีจีนคุมเบ็ดเสร็จทั้งหมดในเมียนมา ไทยกับอาเซียนจะวางตัวหรือจะทำอย่างไร จะเป็นพันธมิตร หรือเป็นผู้ช่วยจีนหรือไม่ หรืออีกระบบคือระบบหลายขั้วอำนาจ ที่จีนเป็นใหญ่ แต่มีมหาอำนาจอย่าง สหรัฐฯ รัสเซีย หรือแม้แต่พันธมิตรอย่าง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไทยจะสามารถแทรกเข้ามาเป็นอีกขั้วอำนาจหนึ่งได้หรือไม่ ซึ่งน่าจับตามองต่อไป