สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หนึ่งในข่าวที่เรียกเสียงฮือฮาได้เป็นอย่างมากในโลกออนไลน์ของไทยคือ การที่บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ WORK แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ได้ให้บริษัทย่อยเข้าถือหุ้น 49% ด้วยวงเงินไม่เกิน 216 ล้านบาทในบริษัท โคตรคูล จำกัด ที่ประกอบธุรกิจผลิตและออกอากาศรายการผ่านช่องทางออนไลน์ในแพลตฟอร์มต่างๆ เป็นหลัก
เหตุผลที่ทำให้ผู้คนสนใจเป็นอย่างมากเพราะโคตรคูลคือบริษัทที่ก่อตั้งและถือหุ้น 100% โดย โอ๊ต-ปราโมทย์ ปาทาน ศิลปินที่มีเอกลักษณ์ติดตัวคือความขี้เล่น ประกอบกับมุกตลก และเสียงร้องเพราะๆ ที่หลายคนชื่นชอบ
จากศิลปินที่ครั้งหนึ่งเกือบจะหันหลังให้กับวงการ จนมาปั้นบริษัทที่วันนี้มีมูลค่าหลักร้อยล้าน จนแม้แต่เวิร์คพอยท์ หนึ่งในยักษ์ใหญ่ของวงการ สนใจเข้ามาถือหุ้น ทำไมต้องเป็นเวิร์คพอยท์ และหลังจากนี้ความเป็นโคตรคูลจะเปลี่ยนไปหรือไม่ นี่คือคำถามหลักที่ THE STANDARD WEALTH ได้พูดคุยกับ โอ๊ต ปราโมทย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ถึง ‘อัลกอริทึม’ จะเดาใจไม่ได้ แต่ Facebook และ Instagram ยังครองแชมป์งบโฆษณาดิจิทัลของไทยกว่า 8,183 ล้านบาท แม้ลดลงจากปีก่อนหน้า 6%
- การมาถึงของ Generative AI อาจแตะเบรกเม็ดเงินโฆษณาในไทย แนะนักการตลาดต้องรู้เท่าทัน และพัฒนาทักษะที่ AI ยังไม่สามารถทำได้
- คาดเม็ดเงินโฆษณาโต 2.5% คิดเป็นตัวเลข 83,031 ล้านบาท แม้ตั้งรัฐบาลได้สำเร็จแต่คงกระตุ้นได้ไม่มาก
โอ๊ต ปราโมทย์ เล่าว่า โคตรคูลก่อตั้งมาได้ 6 ปีแล้ว โดยมีช่องหลักใน YouTube อย่าง ‘โคตรคูล’ ที่มีผู้ติดตาม 3.03 ล้าน ทำ 6-7 รายการ และ ‘โคตรคูล LIVE’ มีผู้ติดตาม 2.69 แสนคน ทำอยู่ 4 รายการด้วยกัน
จุดเริ่มต้นที่ทำให้โคตรคูลถูกทาบทามในการลงทุนธุรกิจมาจากการติด 1 ใน 50 สุดยอดองค์กรในฝันของคนรุ่นใหม่ จากการสำรวจของ WorkVenture ทำให้มีผู้สนใจอยากเข้ามาร่วมทุนไม่น้อยกว่า 10 ราย
“ตอนที่เราเริ่มทำเราไม่มีความฝันเลย โดยเริ่มจากพนักงาน 1-2 คน ทำแบบมวยวัดเลย ไม่ได้มีความรู้เรื่องธุรกิจ มีแต่อยากทำคอนเทนต์ที่เราอยากทำ” โอ๊ตเล่า “จนวันหนึ่งเราเดินเข้าออฟฟิศแล้วพบว่าเราจำชื่อพนักงานบางคนไม่ได้เพราะมีทั้งหมด 50 คนแล้ว เลยมองว่าองค์กรมีขนาดใหญ่ขึ้นแล้ว และเป็น Pain Point ที่ต้องรีบแก้”
เหตุที่บอกว่าเป็น Pain Point เพราะโอ๊ตยังต้องรับหน้าที่ส่วนใหญ่ในการบริการ ไล่ตั้งแต่การเป็น HR รวมไปถึงเรื่องต่างๆ ขณะที่บัญชียังต้องใช้บริษัทนอกทำ ดังนั้นจึงมองว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับองค์กร เพื่อทำให้เดินไปข้างหน้าอย่างแข็งแรงและยั่งยืน
“ที่เลือกเวิร์คพอยท์เพราะนอกจากได้มีโอกาสทำงานร่วมกันหลายครั้งแล้ว ยังได้ปรึกษากับพี่กร (ชลากรณ์ ปัญญาโฉม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานดิจิทัล เวิร์คพอยท์) ในหลายๆ เรื่อง จึงมองว่าเวิร์คพอยท์นี่แหละที่เหมาะจะมาเติมเต็มซึ่งกันและกัน”
ตามเอกสารที่แจ้งในตลาดหลักทรัพย์ฯ เวิร์คพอยท์ระบุว่า การลงทุนครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพธุรกิจรายการต่างๆ ในช่องทางออนไลน์ และเพิ่มความหลากหลายของการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งสร้างโอกาสในการเติบโตร่วมกันของทั้ง 2 ฝ่าย
ไม่แปลกที่เวิร์คพอยท์จะมองอย่างนั้น เพราะแม้วันนี้เม็ดเงินโฆษณาหลักๆ จะยังอยู่ที่สื่อทีวีที่คิดเป็นตัวเลขนับหมื่นล้านบาท แต่ในอนาคตถูกมองว่าเม็ดเงินส่วนนี้กำลังจะลดน้อยลงไปเพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป และการเข้ามาของสื่อดิจิทัล
อ้างอิงข้อมูลของ Nielsen ระบุว่า เม็ดเงินโฆษณาของสื่อทีวีในปี 2565 คิดเป็นมูลค่า 62,680 ล้านบาท ขณะที่สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ประเมินว่า ในปี 2566 แพลตฟอร์มและสื่อดิจิทัลในประเทศไทยมีมูลค่าการใช้จ่ายด้านโฆษณามากถึง 28,999 ล้านบาท โดยตัวเลขที่เติบโตขึ้นจากปี 2565 อยู่ที่ 13%
ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ มูลค่าการใช้จ่ายด้านโฆษณากลับเติบโตเป็นเลขสองหลัก ชี้ให้เห็นว่าธุรกิจต่างๆ ให้ความสนใจกับธุรกิจออนไลน์มากขึ้น
“เวิร์คพอยท์จะเข้ามาเติมเต็มในระบบหลังบ้าน เราเองก็ยังต้องการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจ รวมถึงเส้นทางการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอนาคต ขณะที่เวิร์คพอยท์ก็ต้องการเรียนรู้ด้านโลกออนไลน์ จังหวะการตัดต่อ และเรื่องคน”
โอ๊ต ปราโมทย์ ย้ำว่า แม้เวิร์คพอยท์จะเข้ามาถือหุ้น แต่ DNA ของโคตรคูลจะยังไม่เปลี่ยนแปลง “เพราะผมยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และทางเวิร์คพอยท์เองก็ไม่ได้ต้องการเข้ามาเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ ซึ่งหลังจากนี้จะมีการพูดคุยในเรื่องของการวางแผนธุรกิจในด้านต่างๆ ต่อไป”
จากวันนั้นจนถึงวันนี้โอ๊ตบอกว่า สามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำแล้วว่าโคตรคูลนั้นประสบความสำเร็จ เมื่อมองจากคอนเทนต์ที่คนดู รวมไปถึงรายได้ที่เกิดขึ้น
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงรายได้และกำไรของบริษัท โคตรคูล จำกัด ไว้ดังนี้
- ปี 2561 รายได้ 29,413,562.16 บาท กำไร 4,212,416.97 บาท
- ปี 2562 รายได้ 29,650,490.34 บาท กำไร 4,655,268.73 บาท
- ปี 2563 รายได้ 37,416,525.63 บาท กำไร 2,517,415.17 บาท
- ปี 2564 รายได้ 80,222,271.10 บาท กำไร 6,079,140.46 บาท
- ปี 2565 รายได้ 112,461,003.70 บาท กำไร 18,186,874.23 บาท
“เราไม่คิดว่าบริษัทที่เริ่มจาก 0 ทำแบบมวยวัด จะเติบโตจนมีรายได้ 100 ล้าน และถูกตีมูลค่ากว่า 400 ล้านบาท ซึ่งผมตกใจมาก” โอ๊ตกล่าวติดหัวเราะ พร้อมเสริมด้วยคำพูดที่จริงจังว่า “ตลอด 6 ปีผมมองว่าโคตรคูลเป็นเหมือนผ้าใบสีขาวที่ได้ลงสีสันต่างๆ ลงไปจนคนดูชอบ และอีกอย่างคือการที่ได้เห็นน้องๆ ในทีมได้เติบโตและเก่งขึ้น เป็นเรื่องที่ดีใจมากๆ ซึ่งความท้าทายต่อไปคือการทำให้โคตรคูลสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน”
ท้ายนี้ โอ๊ต ปราโมทย์ ระบุว่า จะไม่ทิ้งบทบาทของการเป็นศิลปินและร้องเพลง โดยจะทำควบคู่ไปกับการบริหารโคตรคูล ซึ่งในปีหน้าเตรียมปล่อยเพลงใหม่ 4 เพลงที่อัดไว้หมดแล้ว “ผมเลิกร้องเพลงไม่ได้หรอก เพราะไม่อย่างนั้นผมจะเป็นบ้า”