ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า Apple เตรียมที่จะจัดงาน Worldwide Developers Conference (WDC) ซึ่งเป็นงานใหญ่ประจำปีอีกครั้ง และปีนี้เหล่าสาวกแฟนบอยและชาว Geek ทั้งหลายต่างเฝ้าจับตากันด้วยความคาดหวังมากกว่าหลายปีที่ผ่านมา
เพราะนี่อาจจะเป็นครั้งแรกที่ Apple จะเปิดตัวสิ่งที่เปลี่ยนแปลงโลกได้อีกครั้งอย่างแว่นตาที่ผสมผสานเทคโนโลยี Virtual Reality (VR) และ Augmented Reality (AR) เข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนคาดหวังว่าจะเป็นนวัตกรรมที่นำพาทุกคนไปสู่อนาคต
เราจะยังไม่รู้ชื่อจริงของเจ้าสิ่งนี้จนกว่า ทิม คุก ซีอีโอของ Apple จะบอกเราภายในงาน แต่เป็นที่รู้กันในชื่อรหัส ‘N301’ ที่คาดเดากันสนุกๆ ว่าน่าจะชื่อ ‘Apple Reality Pro’
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ของมันต้องมี! Hermès เปิดตัวเคสหนัง อุปกรณ์เสริม AirPods Pro สุดหรู ในราคาเข้าถึงง่าย 28,890 บาท
- ซัพพลายเออร์ Apple เร่งขยายฐานการผลิตนอกจีน ล่าสุด ‘Goertek’ ผู้ผลิต AirPods ทุ่ม 280 ล้านดอลลาร์ สร้างโรงงานที่เวียดนาม
- เปิดตัว AirPods Gen 3 ‘ไม่อินเอียร์’ ก็อินได้ MacBook Pro ชิปใหม่สุดพลัง M1 Pro และ M1 Max สรุปงานเปิดตัว Apple มีอะไรใหม่บ้าง
โปรเจกต์นี้ถือเป็นโปรเจกต์สำคัญในยุคของคุก โดยมีความพยายามที่จะลุยกันมานานถึง 7 ปีแล้ว ใช้พนักงานมากถึง 2,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีคนที่เคยอยู่ในหน่วยพัฒนา VR ของ NASA ด้วย ซึ่งสิ่งที่คนคาดหวังคือการที่มันจะช่วยพาเทคโนโลยีแห่งอนาคตนี้ไปได้ไกลกว่าสิ่งที่ Google (Google Glass ยังจำได้ไหม?) Sony, HTC และ Facebook ทำ
พาทุกคนเข้าไปสู่โลกเสมือนที่แท้จริงให้ได้! ฟังดูก็ยิ่งใหญ่แล้วใช่ไหม?
แต่บางทีความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ Apple ในยุคของคุกอาจไม่ใช่สุดยอดนวัตกรรมแว่น VR/AR ตัวนี้ที่หลายคนคาดหวังว่าจะเป็น ‘One More Thing’ เหมือนตอนเปิดตัว iPhone เมื่อ 16 ปีที่แล้ว
เพราะความจริงหลายคนอาจจะมีอยู่แล้วและอาจจะอยู่ในกระเป๋ากางเกงของเราเวลานี้
ไหนใครมี AirPods บ้าง?
หูฟังตัวเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ (หายง่ายแต่ขายกระฉูด)
หูฟังอะไรหน้าตาประหลาด? เหมือนมีติ่งอะไรยื่นมา? เสียงโคตรแย่
เหล่านี้คือเสียงสะท้อนที่เกิดขึ้นในช่วงแรกของการเปิดตัว AirPods ครั้งแรกเมื่อปี 2016 ซึ่งต้องบอกว่า Gen 1 นั้นถูกวิจารณ์ค่อนข้างหนักหน่วงพอสมควร ไม่เฉพาะในเรื่องของการดีไซน์ที่ในช่วงเวลานั้นดูแปลกตาและดูไม่เข้าท่าเอาเสียเลย
เสียงวิจารณ์ลามไปถึงเรื่องคุณภาพของอุปกรณ์ ทั้งคุณภาพของเสียงที่หูฟังทำได้ไม่ดีอย่างที่หลายคนคาดหวัง (แม้ว่าความจริงหากใครใช้ EarPods อยู่ก็ไม่ควรจะคาดหวังอยู่แล้ว…ยกเว้นแต่คนเคยใช้หูฟัง ‘ก้านสั้น’ ในตำนานของ iPod) และสิ่งที่โดนจวกยับคือเรื่องของความ ‘อึด ถึก ทน’ ที่น้อยเกินไป ทั้งแบตเตอรี่หมดไว เปราะบาง พังง่าย ไปจนถึงความทนทานของทั้งหูฟังและเคสซึ่งเป็นที่ชาร์จในตัวที่ใช้ได้แค่ราว 2 ปีก็ต้องเปลี่ยน
ยังไม่นับเรื่องคนโวยวายว่าหายง่ายเหลือเกิน (ผู้เขียนก็เคยมีประสบการณ์ตรงที่คิดว่าทำหูฟังหายเหลือแต่เคส ที่ไหนได้ตกซอกข้างเตียง!) ด้วยขนาดที่เล็กของมัน
แต่จากวันแรกจนถึงวันนี้ AirPods กลายเป็นอุปกรณ์ในประเภท Wearables ที่ขายดีที่สุดในโลก
Apple ไม่เคยเปิดเผยยอดขายของ AirPods ออกมา แต่มีการประเมินจาก IDC และ Bloomberg Intelligence ว่า AirPods นั้นเป็นสินค้าที่มียอดจำหน่ายเติบโตเร็วที่สุดของบริษัท
ขณะที่ Piper Sandler Cos ธนาคารเพื่อการลงทุน มีการประเมินว่า จากปี 2016-2021 AirPods สามารถทำยอดขายเพิ่มได้ถึง 245 เปอร์เซ็นต์ ทำยอดขายรวมได้ถึง 3.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.308 ล้านล้านบาท (อนุญาตให้ตกใจได้ดังๆ!) และมีการประเมินว่าในกลุ่มวัยรุ่นชาวอเมริกัน 3 ใน 4 คนจะเป็นเจ้าของ AirPods
หรือแม้แต่ในบ้านเราเองก็ตาม ไปตามแหล่งที่วัยรุ่นหรือหนุ่มสาวออฟฟิศอยู่เกือบทุกคนก็แทบจะใช้ AirPods กันทั้งนั้น น้อยครั้งที่จะเห็นว่าใช้แบรนด์คู่แข่งรายอื่นอย่าง Samsung, Jabra หรือแบรนด์เครื่องเสียงระดับไฮเอนด์ที่ลงมาจับตลาดด้วยอย่าง BeoPlay หรือ Devialet
ดูแล้วมันช่างสวนทางกับเสียงวิจารณ์เสียนี่กระไร
ชั่วโมงต้องมนตร์ในวังวนของ Apple
ความย้อนแย้งระหว่างเสียงวิจารณ์ที่สวนทางกับยอดขายและความสำเร็จของ AirPods กลายเป็นบทเรียนที่น่าสนใจว่า Apple ทำเรื่องนี้ได้อย่างไร
บังเอิญหรือตั้งใจ?
เรื่องนี้แท้จริงแล้วไม่ใช่ความบังเอิญ เพราะทุกอย่างเกิดจากการ ‘คิดมาแล้ว’ ทั้งสิ้น โดยเริ่มตั้งแต่การเปิดตัวของ AirPods ในปี 2016 ที่มาพร้อมกับการเปิดตัว iPhone 7 ซึ่งเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นแรกของ Apple ที่ไม่มีช่องเสียบหูฟัง 3.5 อยู่ด้วย ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ Apple บอกว่าเป็น ‘ความกล้าหาญ’ ที่จะแหกขนบของพวกเขา
ในกล่อง iPhone 7 นั้นมีหูฟัง EarPods แถมมาให้ตามปกติ แต่เปลี่ยนจากการเป็นแจ็กหูฟัง 3.5 สู่สาย Lighting ซึ่งโดนเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เพราะทำให้คนที่มีหูฟังแบบดั้งเดิมนั้นจะไม่สามารถใช้ได้เลย แต่ Apple ก็แก้เกรี้ยวด้วยการใส่อุปกรณ์เสริมเข้ามาเพื่อให้สามารถใช้หูฟังแบบดั้งเดิมได้มาให้ด้วย
แต่ลึกๆ แล้วสิ่งที่ Apple ต้องการคือการผลักดันให้คนหันไปใช้หูฟังไร้สาย และหูฟังไร้สายที่ดีที่สุดสำหรับผู้ใช้ iPhone ก็ย่อมเป็น AirPods อยู่แล้ว
ฟิล ชิลเลอร์ หัวหน้าฝ่ายการตลาดของ Apple ในขณะนั้น กล่าวในตอนเปิดตัว AirPods ว่าใครก็ตามที่ได้เจ้าหูฟังตัวเล็กนี้มาครอบครอง สามารถคาดหวังได้เลยว่าพวกเขาจะได้ตกอยู่ในภวังค์ ‘ชั่วโมงต้องมนตร์’ ในแบบของ Apple
เพราะนับตั้งแต่ที่คุณแกะกล่อง AirPods ออกมา ดึงกระดาษไขที่ห่อหุ้มมันออก ก็จะพบกับกล่องสีขาวสะอาดที่เป็นเอกลักษณ์สินค้าของ Apple มายาวนานตั้งแต่ iBook, iPod และ MacBook (ดั้งเดิม) ซึ่งทันทีที่คุณเปิดฝามันขึ้น แค่เสี้ยววินาที AirPods นี้ก็จะเป็นของคุณและคุณคนเดียวเท่านั้น
ประโยคข้างบนก็แอบเวอร์ไปนิด แต่ประสบการณ์ช่วงเวลาที่เปิดฝา AirPods ขึ้นมาแล้วมันทำความรู้จักกับ iPhone ของเราได้โดยไม่ต้องไปตั้งค่าอะไรให้วุ่นวาย ไม่ต้องไปเปิด Bluetooth ไม่ต้องใส่ค่า PIN ไม่ต้องทำอะไรทั้งนั้นนอกจากเปิดฝา คือช่วงเวลาที่น่าประทับใจจริงๆ
ความสะดวกสบายตรงนี้แหละคือรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในแบบที่ Apple ใส่ใจในเรื่องของ User Experience และกลายเป็นไม้ตายที่ทำให้สาวกไม่สามารถจะปันใจไปที่ไหนได้อีก
ต่อให้เสียงจะไม่ค่อยดีก็ไม่เป็นไร (แต่ความจริงเสียงมันก็ดีอยู่นะตั้งแต่ Gen 1 แล้ว) และต่อให้ AirPods จะมีอายุการใช้งานที่จำกัด ต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ตลอดเวลา ซึ่งราคาในการเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่เรียกว่า AirPods Replacement Program หรือพูดง่ายๆ ก็คือการเอาตัวใหม่มาให้นั้นมีสนนราคาพอสมควร
ก็ยังมีผู้ใช้จำนวนไม่น้อยที่เลือกที่จะทิ้งเพื่อที่จะซื้อตัวใหม่ รุ่นใหม่กว่ามาใช้ เพราะมีหลายตัวแทนจำหน่ายที่ทำราคาโปรโมชันได้น่าสนใจ
พวกเขาพร้อมจะมี AirPods เป็นเพื่อนคู่ใจต่อไปเรื่อยๆ ยากที่จะเปลี่ยนใจ
ป่าพิศวง Apple เดินเข้าแล้วหาทางออกไม่เจอ
แต่ความน่ากลัวของ Apple นั้นไม่ได้หยุดอยู่แค่ AirPods เพราะมันเป็นเพียงแค่หนึ่งในองค์ประกอบของระบบนิเวศทางธุรกิจ หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ ‘Ecosystem’ ที่ ทิม คุก ได้สร้างขึ้นมาอย่างยอดเยี่ยมราวกับใช้ไม้กายสิทธิ์เสกป่าพิศวงขึ้นมา
ใครก็ตามที่เข้ามาแล้วยากที่จะหาทางออกไปได้ เพราะทุกคนจะติดบ่วงทางใจกับหลายสิ่งหลายอย่าง
Apple ไม่ได้มีแนวคิดแค่เรื่องของการขายสินค้า (Product) เท่านั้น พวกเขาให้ความสำคัญกับเรื่องของบริการ (Service) อย่างมากในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เปิดตัว iPhone
จาก App Store แหล่งรวมแอปพลิเคชันจากนักพัฒนาทั่วโลกที่กลายเป็นขุมทรัพย์สุดขอบฟ้าให้ Apple กอบโกยได้อย่างมากมายมหาศาล พวกเขาพัฒนาหลายสิ่งหลายอย่างขึ้นมาเพื่อให้ครอบคลุมการใช้งานของผู้ใช้ตั้งแต่วินาทีแรกที่ตื่นนอนไปจนถึงวินาทีสุดท้ายก่อนที่จะเข้านอนเลยทีเดียว
ในเรื่องของสินค้านอกจาก AirPods แล้วยังมีสินค้าอีกมากมาย ทั้งในกลุ่มหลักอย่าง iPhone, iPad และ Mac ไปจนถึงสินค้าอื่นๆ เช่น Apple Watch, HomePod ที่แม้จะไม่ได้ประสบความสำเร็จไปทั้งหมด แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นเช่นนั้น
ในส่วนของบริการ iCloud คือไม้ตายที่ทำให้ผู้ใช้ถูกผูกยึดไว้ เพราะข้อมูล เรื่องราว ภาพ ความทรงจำ ยันรหัสเข้าอีเมล หรือบริการที่ต่างถูกเก็บไว้ใน Keychain ทำให้การจะเปลี่ยนใจไปใช้สมาร์ทโฟนคู่แข่งอย่าง Android ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก
หรือแม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ดูเหมือนจะไม่สำคัญอย่างการส่งข้อความด้วยตัว Emoji หากเป็นผู้ใช้ iPhone ด้วยกันก็จะมีรายละเอียด เช่น เวลาพิมพ์ข้อความอยู่ที่หน้าจอของคู่สนทนาจะขึ้นปุ่มจุดๆ ขยับเขยื้อนซึ่งเป็นการบอกว่ากำลังพิมพ์อยู่ รวมถึงมี Emoji แบบพิเศษที่ล้ำหน้ากว่าคนอื่นและหากส่งไปถึงคนอื่นมันจะไม่แสดงผล
เรื่องเล็กๆ แบบนี้สร้างความรำคาญใจให้แก่ผู้ใช้ Android อยู่เหมือนกัน ซึ่งความจริงมันก็มีทางแก้ด้วยการทำงานร่วมกันในการแก้ตามมาตรฐานของ Google ที่เรียกว่า RCS เพื่อให้มีฟีเจอร์แบบเดียวกัน
แต่เรื่องอะไรที่ Apple จะทำ? เมื่อถูกถามเรื่องนี้ว่า Apple จะร่วมแก้ด้วยไหม ทิม คุกก็บอกว่า “ซื้อ iPhone ให้แม่แทนสิ”
นี่คือภาพตัวอย่างเล็กๆ ของชีวิตในป่าพิศวงของ Apple ที่หากใครเผลอเข้ามาแล้วการจะหาทางออกเป็นเรื่องยาก ทุกคนจะถูกทำให้รู้สึกว่าพึงพอใจและมีความสุขดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องหาอะไรใหม่ นอกจากจะอยากซื้อของเล่นใหม่ที่ Apple ส่งมาขาย
แล้วเราจะทำอะไรได้นอกจากเดินงงในดง Apple ไป หูก็ใส่ AirPods ที่แขนก็ใส่ Apple Watch ส่วนในมือกำลังไถ iPhone อยู่ และในกระเป๋ามี iPad กับ MacBook อย่างละเครื่อง?
นี่คือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่แท้จริงของ Apple ในยุคของ ทิม คุก ในการทำให้อาณาจักรแห่งนี้เติบโตและแข็งแกร่งอย่างยั่งยืนจริงๆ ซึ่งมาจากการวางแผนทุกอย่างอย่างรอบด้าน คิดถึงทุกสิ่งทุกอย่างและใส่ใจทุกรายละเอียด (นี่เรายังไม่ได้พูดถึงเรื่องของซัพพลายเชนเลยนะ!)
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าแว่น VR/AR ที่กำลังจะเปิดตัวจะไม่น่าสนใจหรือไม่มีความหมาย
อย่างที่บอก มันอาจจะเป็นการเปิดยุคใหม่ของ Apple และมันคู่ควรที่เราจะคาดหวัง
อ้างอิง: