×

เจาะเบื้องหลังการแสดง ญดา นริลญา ทำอย่างไรให้ ‘มิ้ง’ ร่างทรง น่ากลัวได้ขนาดนี้

19.11.2021
  • LOADING...
Narilya Gulmongkolpech

“น้องคนนี้ไปอยู่ไหนมา แสดงดีขนาดนี้น่าจะดังได้แล้วนะ”

 

โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล เคยพูดถึง ญดา-นริลญา กุลมงคลเพชร ที่มารับบทเป็น ‘มิ้ง’ ทายาทร่างทรงองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่อง ร่างทรง กลายเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุด และขึ้นแท่นเป็น ‘นางเอกร้อยล้าน’ คนล่าสุดของประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อย

 

เพื่อทำความรู้จักและเข้าใจทั้งความรู้สึกในฐานะนักแสดง และวิธีการเข้าถึงบทบาทของ ‘มิ้ง’ THE STANDARD POP ชวน ญดา มาพูดถึงเบื้องหลังการถ่ายทำ การตีความตัวละคร และวิธีการเข้าถึงบทบาทการแสดงแบบเจาะลึก 

 

เพื่อยืนยันคำพูดที่โต้งเคยพูดเอาไว้ว่า ในเมื่อแสดงได้ดีขนาดนี้ ก็ถึงเวลาที่สปอตไลต์จะส่องแสงไปที่นักแสดงที่เต็มไปด้วยความสามารถและความตั้งใจคนนี้แล้วจริงๆ 

 

ชมรายการ POP Live ร่างทรง ได้ที่นี่

 

 

อ่านบทความ ร่างทรง (2021) หนังสยองขวัญสําหรับคนจิตแข็ง ว่าด้วยสังเวียนความเชื่อและสมรภูมิจิตวิญญาณ ได้ที่ 

 

ชมตัวอย่างภาพยนตร์ได้ที่นี่

 

 


 

Narilya Gulmongkolpech

 

ลองทบทวนตัวเองตั้งแต่วันแรกจนมาถึงตอนนี้ ญดารู้สึกอย่างไรบ้างที่ได้รับบท มิ้ง ในภาพยนตร์เรื่องร่างทรง?

รู้สึกดีใจมากๆ เลยค่ะ ญดาเจอตัวละครมิ้งครั้งแรกคือตอนแคสติ้ง รู้เลยว่าเป็นตัวละครที่ยากมาก เพราะหลายๆ อย่างที่คาแรกเตอร์มิ้งเป็นค่อนข้างห่างไกลจากตัวเรามาก 

 

ตอนนั้นก็เริ่มรับรู้ถึงความท้าทายที่เราต้องเผชิญกับตัวละครมิ้ง แต่ไม่ได้รู้สึกเครียด รู้สึกแค่ว่าอยากจะหาทางทำมันให้สำเร็จให้ได้ในความท้าทายนี้ มันเลยกลายเป็นความสนุกมากกว่า

 

หลังจากนั้นก็เริ่มไปฝึกพูด ฝึกเดิน ทัศนคติ ความคิด ให้เป็นแบบมิ้ง พูดไม่ค่อยชัด  ห้วนๆ ไม่เต็มคำ และวิธีการเดินจะไม่ได้เดินแบบสง่างาม ต้องเดินลักษณะไม่เรียบร้อย ห้าวๆ นิดหนึ่ง

 

จากพื้นฐานที่ไม่เหมือนกัน อะไรที่ทำให้ ญดา กลายเป็น ‘มิ้ง’ ได้ง่ายที่สุด?

ความศรัทธาและความเชื่อ ตอนนั้นคิดว่าเราไม่ใช่ญดาแล้ว เหมือนเป็นการลดอัตตาในตัวตน เอาสิ่งที่คิดว่าเป็นเราออกไป แล้วเอาวิญญาณมิ้ง สิ่งที่ทำการบ้าน สิ่งที่ตีความ มาใส่ในตัวเราให้หมด

 

ในวันที่ได้ดู ร่างทรง ญดาเดินออกจากโรงภาพยนตร์ด้วยความรู้สึกแบบไหน 

ตอนนั้นไม่ได้มีความคาดหวังอะไรเลย เดินออกมาจากโรงก็เมาท์มอยกับเพื่อนว่า ตลกมาก ตกใจช็อตนั้นช็อตนี้ หลังจากนั้นก็ได้รับฟีดแบ็กกลับมาหลากหลายความคิดมากๆ รู้สึกแปลกใจและเหนือความคาดหมา ยเพราะทุกอย่างไม่ได้คาดคิดเอาไว้ก่อนเลย

 

บางคนดูแล้วรู้สึกชอบ ขอบคุณสิ่งที่เราทุ่มเทลงไปกับชิ้นนี้ ซึ่งญดาบอกครอบครัวเสมอว่า เรามีความมั่นใจและทุ่มเทอยู่ในทุกๆ งาน แต่ไม่เคยมีใครเอามาพูดหรือตะโกนออกมาให้คนรับรู้เยอะขนาดนี้ อยากขอบคุณทุกกำลังใจ เสียงชม คำอวยพร ช่วงแรกที่อ่านก็ร้องไห้ดราม่าอยู่คนเดียว (หัวเราะ) ญดาดีใจมากจริงๆ และสัญญาว่าจะทำทุกๆ อย่างที่ได้รับออกมาให้ดีที่สุด

 

ในส่วนการตีความภาพยนตร์ก็เมามันมาก ทั้งคนรอบตัวที่คุยและฟีดแบ็กในโซเชียลมีเดียมันไปคนละทิศคนละทางเลย นั่งอ่านเยอะมาก นั่งคุยกับคนที่มาสอบถามเรื่องเกี่ยวกับหนัง พี่โต้งเก่งมากที่ทำได้ และพี่โต้งคงจะยิ้มสะใจอยู่ที่บ้านแล้วว่า ทำให้คนได้ปวดหัวแล้วตีกันขนาดนี้ (หัวเราะ) ซึ่งต้องบอกว่าหลายคนเขาดู ร่างทรง แบบละเอียดมาก การตีความบางอย่างเราก็นึกไม่ถึงเหมือนกัน

 

Narilya Gulmongkolpech

 

คนดูพูดถึงวิธีการถ่ายทำแบบ Mockumentary (สารคดีปลอม) ของ ร่างทรง ในมุมมองที่หลากหลายมาก ในฐานะนักแสดงรู้สึกอย่างไรกับวิธีนี้?

เป็นรูปแบบการนำเสนอที่น่าสนใจ เป็นวิธีตามติดตัวละครที่แตกต่างจากทุกเรื่องที่เคยผ่านมา เรื่องการแสดงพี่โต้งจะบอกว่าขอเถื่อนๆ ดิบๆ เหมือนไม่แสดง ให้ละลายเทคนิคการแสดงพวกจังหวะ เทคนิค การพูดไปให้หมด แล้วนำเสนอสิ่งที่เหมือนเราเป็นอยู่ในชีวิตออกมา

 

อีกเรื่องหนึ่งที่แตกต่างจากการแสดงละครหรือซีรีส์ที่ผ่านมา คือบทของ ร่างทรง จะมาเป็น Sequence ไม่ได้เน้นไดอะล็อกระหว่างตัวละคร บอกแค่บริบทสถานการณ์ที่เกิดขึ้น คีย์เวิร์ดของสิ่งที่แต่ละตัวละครพูดในฉากนั้น เพื่อที่จะเชื่อมไปสู่ฉากต่อไป มันก็ค่อนข้างยากตั้งแต่เริ่มอ่านบทแล้ว

 

เมื่อ ร่างทรง เป็นบทภาพยนตร์ที่ไม่ได้เน้นไดอะล็อก เรามีวิธีการทำงานกับบทแบบนี้อย่างไรบ้าง?

พอบทไม่ได้เขียนมาละเอียดขนาดนั้น ขั้นแรกของการทำบ้านก็คือวิธีเดียวกับที่เคยทำตอนเล่นละคร คือจะต้องมานั่งดูว่าตัวละครนี้เติบโตมาอย่างไร เขามีนิสัย ความคิดแบบนี้ เขาน่าจะถูกปลูกฝังอะไรมา หล่อหลอมมาเป็นอย่างไรจนมาเป็นเขาในวันนี้ 

 

เป็นการทำงานที่ยากมาก จำได้ว่าเขียนภูมิหลังของตัวละครนี้เละเทะมาก เขียนแล้วก็รู้สึกว่าอันนี้ไม่ใช่ก็เขียนใหม่แทบจะทุกหน้าในบท พูดคุยกับพี่โต้งตลอดว่าตัวละครมันควรจะเป็นอย่างไร 

 

และทำการบ้านอีกอย่างก็คือ ไปสังเกตจากคนรอบตัว หรือคนจริงๆ ที่เขามีการเติบโตมาลักษณะใกล้เคียงกับตัวละคร มิ้งอยู่ต่างจังหวัดก็ไปสังเกตคนที่อยู่ในชุมชนต่างจังหวัด หรือดูจากคนรอบตัวที่ใกล้เคียงกับมิ้ง เขามีวิธีคิด วิถีชีวิตอย่างไร ไปนั่งดู ไปพูดคุย สัมภาษณ์เขาบ้าง ขออนุญาตถ่ายวิดีโอเขาบ้าง แล้วก็ส่งให้พี่โต้งดูว่าลักษณะแบบนี้พอที่จะสามารถเทียบเคียงเป็นมิ้งได้ไหม 

 

การทำการบ้านกับตัวละครที่หาเรเฟอเรนซ์จากคนจริงๆ พอเราดู สังเกต แล้วเรามีการทำการบ้านต่ออย่างไร?

หลังจากที่เฝ้าสังเกต สอบถามอาการระยะหนึ่ง ก็ได้มาทดลองจริงในห้องเวิร์กช็อปกับครูเงาะ (รสสุคนธ์ กองเกตุ-แอ็กติ้งโค้ช) และนักแสดงท่านอื่นๆ หาทางในลักษณะที่คิดว่ามิ้งน่าจะเป็นแบบนี้ พี่โต้งก็คอยให้คำแนะนำด้วยในตอนนั้น 

 

ทุกๆ ฉากก่อนที่เราไปถ่ายทำจริง เราได้มีการซ้อมมาทั้งหมด และพี่โต้งจะให้อิสระตอนที่เราเวิร์กช็อปเยอะมาก อันไหนที่เขาคิดว่ามันใช่ อันไหนที่มันไม่ใช่ มันเป็นช่วงในการทดลองตอนที่เราได้เวิร์กช็อปและได้ลองปฏิบัติจริงในตอนนั้น

 

Narilya Gulmongkolpech

 

มีเวิร์กช็อปไหนบ้างที่รู้สึกว่าช่วยให้เราทำความเข้าใจตัวละครมิ้ง ก่อนไปออกกองถ่ายทำจริงได้มากที่สุด

ทุกอย่างตั้งแต่เวิร์กช็อปแรกที่ครูเงาะให้ทำ คือการดึงให้เรารู้สึกโกรธ เศร้า ดีใจ เคียดแค้นแบบสุดโต่งก่อน แล้วค่อยเอามาจับกับความรู้สึกของตัวละครอีกที ซึ่งช่วงนี้เราจะได้การบ้านกลับมา ให้แยกออกมาว่าหลังวิญญาณร้ายเข้ามามีอะไรอยู่ในตัวมิ้งบ้าง เช่น คนแก่ เด็ก สัตว์ ฯลฯ 

 

แล้วให้ลองเลียนแบบเสียงและท่าทางของสัตว์นั้นๆ เลียนแบบพฤติกรรมของเด็ก หรือคนแก่ที่คิดว่าสิงอยู่ในมิ้ง ดูวิดีโอเรเฟอเรนซ์ ฝึกทำท่าทาง ยิ้ม หัวเราะ ร้องไห้ ซึ่งเป็นช่วงที่กลับไปทำการบ้านเยอะมากๆ แล้วก็นำสิ่งพวกนี้ไปใช้ตอนถ่ายทำจริง

 

ในเรื่องมีการใช้ร่างกายในการสื่อสารเยอะมาก ได้มีการเวิร์กช็อปเรื่องเหล่านี้เพิ่มบ้างไหม?

มีค่ะ เรื่องท่าทางที่เห็นในเรื่องส่วนใหญ่จะเป็นช่วงที่มิ้งอาการผิดปกติ ซึ่งทีมเกาหลีส่งวิดีโอเรเฟอเรนซ์ของคุณพัคเยจิน ที่เป็นคนออกแบบท่าทางให้กับ Train to Busan และ The Wailing ของคุณนาฮงจิน แล้วเราก็มาซ้อมหาวิธีทำให้อาการพวกนี้น่ากลัว สยอง สดใหม่ ไม่เหมือนกับมนุษย์ปกติทั่วไป และเป็นแบบที่เราคิดว่าดีที่สุด

 

มีวิธีการซ้อมท่าทาง การเคลื่อนไหวร่างกายอย่างไรบ้าง?

เริ่มจากการวอร์มร่างกายก่อนเลย เพราะต้องมีความยืดหยุ่นค่อนข้างสูง ตอนนั้นได้รับบรีฟจากทางเกาหลีมาว่า คนปกติจะคลานแบบขยับสะโพก ซึ่งถ้าทำแบบนั้นจะไม่แตกต่าง เขาเลยขอให้เป็นการคลานในรูปแบบที่สะโพกต้องไม่ขยับ ท่าทางจะมีความคล้ายกับสัตว์ วิญญาณชั่วร้าย 

 

Narilya Gulmongkolpech

 

พื้นฐานความเชื่อของญดากับเรื่องผี และหนังผีเป็นอย่างไรบ้าง?

ไม่ชอบดูหนังผีเลย ไม่สามารถดูคนเดียวได้ ถ้าเรื่องไหนอยากดูจริงๆ ต้องลากคนในบ้านมาดูด้วย และจะไม่ดูหนังผีตอนกลางคืนเด็ดขาด 

 

ญดาเชื่อว่าผีมีจริงๆ เพราะตอนเด็กๆ เราเคยมีการรับรู้ และมีเหตุการณ์อะไรที่มันเหมือนจะเป็นผี แล้วเราหาเหตุผลมาบอกตัวเองไม่ได้ว่า สิ่งที่เจอมันใช่ผีหรือเปล่า เลยเหมือนกลายเป็นปมที่อยู่ในใจว่า ผีต้องมีจริงแน่ๆ

 

การที่เป็นทั้งคนกลัวผีและไม่ชอบดูหนังผี แต่ต้องไปดูตัวเองที่แสดงบทแบบนี้ มีความรู้สึกอย่างไรบ้าง ต้องรวบรวมความกล้าเยอะไหม?

อยากจะให้มีกล้องตัวเล็กๆ มาถ่ายรีแอ็กตอนดูมาก เรากลายเป็นเหมือนคนที่ไม่เคยรับรู้อะไรเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้มาก่อน สมองโล่งไปหมด อาการตอนนั้นเรานั่งดูในลักษณะที่ไม่สบายตัวเลย รู้สึกไม่ปลอดภัยตั้งแต่ตอนแรก

 

โดยเฉพาะช่วงที่มีเสียงพี่เอี้ยง (สวนีย์ อุทุมมา รับบทเป็น ป้านิ่ม ใน ร่างทรง) แสดงออกมาแบบ Realistic สุดๆ บรรยากาศทุกอย่างที่เล่าว่าผีมีอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง มันก็ทำให้ซึมไปกับโลกของภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว 

 

พอช่วงหลังๆ ที่อีมิ้งมันเริ่มมาเยอะขึ้น อาการคือไม่ต่างจากทุกคนเลย จะมีฉากที่ตกใจมากๆ กรี๊ดเสียงดัง ตลกมากเลยทั้งที่เป็นคนแสดงเอง แต่กลับกลัวสิ่งที่ตัวเองแสดง

 

Narilya Gulmongkolpech

 

ญดาค้นพบอะไรเพิ่มเติมบ้างไหม จากการการลดน้ำหนัก 10 กิโลกรัมภายใน 1 เดือน?

ตอนแรกญดารู้สึกว่ามันเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องลดน้ำหนัก ระหว่างทางทำให้เราได้อะไรมาเยอะมาก ทั้งวิธีคิด สิ่งที่มิ้งกำลังเผชิญอยู่ตอนนั้น กลายเป็นความตั้งใจอยากลดน้ำหนักให้ได้จริงๆ 

 

อีกเรื่องคือทำให้ปลงกับการกินเยอะมาก จากที่จะกินแต่ของอร่อย ของไม่มีประโยชน์ แต่พอเราได้มาลองกินอาหารที่เราไม่เคยกินมาก่อน มันก็ทำให้ได้เรียนรู้ ปลงชีวิต เรื่องรสชาติไม่สำคัญ ขอให้มีอาหารกินก็มีชีวิตอยู่ได้แล้ว 

 

มีวิธีการอย่างไรบ้าง เพื่อลดน้ำหนักให้ได้แบบที่ต้องการ?

มีนักโภชนาการคอยดูแล ช่วงแรกเริ่มจากมื้อปกติแล้วค่อยๆ ลดจำนวนไปเรื่อยๆ  เน้นผักต้ม เนื้อสัตว์ ที่ไม่ได้มีการปรุงรส จืดชืด กินแล้วจะอาเจียน (หัวเราะ) พอกินไปเรื่อยๆ ก็เริ่มชินปลงกับการกิน 

 

พอช่วงหลังที่ลดมากๆ จะมีสัปดาห์ที่ญดาเรียกว่า ‘สัปดาห์สโนว์ไวท์’ คือสัปดาห์หนึ่งจะกินข้าวได้แค่มื้อเดียว นอกนั้นเป็นอาหารที่เขาเตรียมให้ ทั้งวันจะกินแค่ผลไม้ เช่น ฝรั่ง 1 ลูกต่อมื้อ ได้กินแค่ 3 ลูกต่อวัน นอกนั้นจะกินแค่น้ำเปล่า เป็นช่วงที่พีกสุดๆ แล้ว เป็นช่วงที่ร่างกายสามารถปรับตัวได้ และไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในตอนนั้น

 

การลดน้ำหนักแบบนั้นส่งผลกระทบกับการแสดงอย่างไรบ้าง?

อย่างแรกคือมีผลกระทบด้านจิตใจ หงุดหงิด น้อยใจ เสียใจง่าย ซึ่งตรงนั้นเราใช้วิธีทำสมาธิก่อนเข้าฉากทำการแสดง กับปัญหาอีกอย่างคือก่อนลดน้ำหนัก เราได้ซ้อมการแสดงฉากที่ต้องใช้พลังเยอะมากๆ จนรู้ว่าเรามีกำลังแสดงออกมาแค่ไหน แต่พอลดน้ำหนัก แล้วไปแสดงฉากนั้นอีกครั้ง ญดาคิดว่าใส่เต็มกำลังแล้ว แต่จริงๆ มันหายไปครึ่งหนึ่งเลย

 

ส่วนที่มาชดเชยแรงที่หายไปได้ คือกำลังใจจากทุกคนในกองถ่ายที่เต็มที่กับการทำงานทั้งเช้า กลางวัน เย็น ไม่ใช่มีแค่เราที่เหนื่อย ทีมงานทุกคนก็เหนื่อยมาก ญดารู้สึกอยากตอบแทนให้กับทีมงาน และอยากทำให้ออกมาดีที่สุด เลยทำให้มีแรงสู้ ญดาว่ากำลังใจมันสำคัญมากๆ มันทำให้กำลังเรามีมากขึ้น

 

Narilya Gulmongkolpech

 

ตัวละครมิ้งในเรื่องร่างทรงมีหลายชั้นมาก ตั้งแต่ปกติจนไปถึงเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เรามีวิธีจัดการกับความซับซ้อนของตัวละครนี้อย่างไร? 

เราต้องทำความเข้าใจลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวละคร เรียงลำดับ แล้วแยกย่อยออกมา เช่น พฤติกรรมนี้ที่มิ้งกำลังเป็นอยู่มันคือวิญญาณอะไรที่อยู่ในตัวเขา เราแยกประเภทออกมา พอถึงเวลาถ่ายทำจริงเราจะได้ไม่งง 

 

การเป็นมิ้งที่มีต้องอินเนอร์เยอะ มีบ้างไหมที่เมื่อสั่งคัตแล้วเราออกจากตัวละครไม่ได้

ไม่เป็นเลยค่ะ พอสั่งคัตก็ออกได้เลยทันที เพราะว่าไม่อยากเป็นมิ้งนาน มันเหนื่อย มีทั้งความเครียด ความเหนื่อยทางด้านร่างกาย ใช้พลังเยอะมาก 

 

การเป็นร่างทรง คือการมีอะไรบางอย่างเข้ามาทรงอยู่ในตัว ญดาคิดว่าการเป็นนักแสดงก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของร่างทรงไหม?

ใช่เลยค่ะ เราต้องลดอัตตาในตัวตนลง แล้วเอาวิญญาณของตัวละครนั้นเข้ามาสู่ตัว มันก็ไม่ต่างอะไรกับการเป็นร่างทรง แต่ตอนนั้นจะเป็นญดาทรงมิ้ง หรือมิ้งทรงญดาก็ไม่รู้ (หัวเราะ)

 

Narilya Gulmongkolpech

 

ญดาบอกว่าช็อกที่เห็นตัวเองครั้งแรกในฉากที่ถูกเข้าสิงอย่างสมบูรณ์แบบ เราคาดหวังหรือจินตนาการตัวเองไว้ว่าอย่างไร ทำไมถึงช็อกกับการเห็นตัวเองครั้งแรก? 

อย่างที่บอกว่าพอจบแต่ละฉาก หนูจะออกจากตัวละครเร็วมาก จบวันนั้นก็เริ่มวันใหม่ แล้วก็จะลืมทุกเรื่องที่ผ่านมาอย่างรวดเร็ว เราพอมีความคาดหวังในใจว่ามันต้องออกมาดีมากๆ แต่ภาพยังไม่ชัด พอได้เห็นตัวจริงๆ ก็รู้เลยว่ามันเกินความคาดหมาย

 

ครั้งแรกคือตอนที่ทีมงานตัดบางส่วนในบางฉากมาดู จำได้ว่าน้ำตาไหลแบบไม่รู้ตัวเลย เพราะมันเป็นภาพที่เกินจินตนาการ รู้สึกว่านี่คือฝีมือของทีมเราจริงๆ เหรอ นี่ฝีมือของพี่สีบาน (นฤพล โชคคณาพิทักษ์) ตากล้องเราจริงๆ เหรอ คำถามในหัวตีกันไปหมด 

 

รู้สึกทึ่งกับความสามารถของทีมงานบ้านเราที่ทำได้ขนาดนี้ ยอมรับว่ายังไม่เคยเห็นภาพยนตร์ในไทยที่สื่อสารแล้วทำออกมาในรูปแบบนี้ เป็นความรู้สึกภูมิใจ ดีใจ เหนือความคาดหมายในหลายๆ ฉาก เลยรู้สึกช็อกมากๆ

 

Narilya Gulmongkolpech

 

จากความรู้สึกที่ โต้ง บรรจง บอกว่าเห็นเทปแคสต์ของญดา แล้วรู้สึกว่า “น้องคนนี้ไปอยู่ไหนมา แสดงดีขนาดนี้น่าจะดังได้แล้วนะ” วันนี้มันน่าจะใกล้เคียงกับสิ่งที่พี่โต้งได้บอกไว้แล้ว ญดารู้สึกอย่างไรบ้าง?

อย่างที่บอกว่าทุกๆ ผลงานแสดงในวงการบันเทิงที่เดินทางมา 7 ปีแล้ว ญดามีความตั้งใจ ทุ่มเทกับทุกๆ ผลงาน คิดว่ามันอยู่ที่จังหวะเวลา โอกาสที่เหมาะสม ซึ่งไม่รู้ว่ามันคือพรหมลิขิต หรือความบังเอิญที่ทำให้ทุกอย่างเกิดขึ้นในวันนี้

 

ญดาไม่ได้คาดคิด วางแผนไว้ว่าจะต้องประสบความสำเร็จจนมีชื่อเสียงโด่งดังในอาชีพนักแสดง เพราะแค่เราได้แสดง ทำในสิ่งที่รัก มันก็ได้ผลตอบแทนมาเป็นความสุข เราไม่ได้ต้องการอะไรไปมากกว่านี้ 

 

แล้วพอวันนี้มันอาจจะใกล้เคียงกับสิ่งที่พี่โต้งบอกว่า ควรจะดังไปตั้งนานแล้ว เราก็คิดว่ามันเหนือความคาดหมายของเราแล้ว

 

รู้สึกอย่างไรกับการได้เป็นหนึ่งในนางเอกของโต้ง บรรจง?

รู้สึกว่า ใช่เหรอ จริงเหรอ เราไม่เคยคิดแบบนี้มาก่อน และดูเป็นคำพูดที่ไม่น่าจะเป็นไปได้เลย (หัวเราะ) แต่ก็ดีใจที่ได้เป็นหนึ่งในนั้น คุณแม่เคยพูดไว้ว่า ในฐานะนักแสดง ถ้าวันหนึ่งได้เล่นภาพยนตร์ของ GDH เป็นตัวอะไรก็ได้ แค่นี้ก็ดีใจแล้ว แต่วันนี้มาอยู่ในฐานะที่มันเกินจากสิ่งที่ครอบครัวหรือเราคิดไป ก็ไม่รู้จะพูดว่าอะไรเลย

 

Narilya Gulmongkolpech

 

ไอดอลในการแสดงของญดาคือใคร ได้เรียนรู้วิธีการแสดงของเขามาปรับใช้บ้างไหม?

ฝั่งต่างประเทศชอบ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ ตั้งแต่เล่นเรื่อง Titanic แล้วรู้สึกว่าเขาเป็นคนที่สวมบทบาท และตีความตัวละครที่ได้รับในแต่ละเรื่องได้ดีมากๆ จนเรารู้สึกว่าจำภาพเขาในตัวละครเรื่องอื่นๆ ไม่ได้ แล้วจะได้เห็นในสิ่งที่เขากำลังสื่อสารออกมาเป็นตัวละครนั้นๆ ไปเลย  

 

ไอดอลอีกคนในไทยตอนนี้คือ พี่เอี้ยง-สวนีย์ อุทุมมา พี่เขาเก่งมาก เรียกว่าเป็นชั้นครู 

 

ก่อนหน้านี้ยอมรับว่าไม่รู้เลยว่าพี่เอี้ยงมีประสบการณ์ด้านการแสดง และอยู่วงการบันเทิงมานานมากๆ จนมารู้ว่าผลงานพี่เอี้ยงเยอะจริงๆ ไม่แปลกใจว่าทำไมเขามีฝีมือการแสดงขนาดนี้ 

 

เป็นคนที่ถ่ายทอดความเป็นตัวละครได้ดีมากๆ ช่วงแรกของ ร่างทรง ที่ติดตามชีวิตป้านิ่ม เราไม่รู้สึกเลยว่ากำลังดูภาพยนตร์อยู่ เพราะพี่เอี้ยงถ่ายทอดวิถีชีวิตของตัวละครป้านิ่มออกมาได้ลึกซึ้ง แนบเนียนสุดๆ

 

ในมุมมองส่วนตัว ญดาคิดว่า ‘การแสดง’ คืออะไร?

การแสดงคือการถ่ายทอด การเลียนแบบสิ่งที่มนุษย์เป็นในความเป็นจริง อย่างเวลาเราทำการบ้านกับการแสดง เราก็ใช้วิธีการสังเกตรายละเอียด สังเกตวิถีชีวิต  ความเป็นอยู่ของผู้คน ลักษณะท่าทาง พฤติกรรม ความคิด ทัศนคติ ไปจนถึงความรู้สึกในจิตใจของตัวละคร เราเอามาจากความรู้สึกที่เกิดขึ้นจริงทั้งนั้น

 

ญดาคิดว่าความสำเร็จเรื่องการแสดง มีตัวชี้วัดอยู่ที่อะไรบ้าง? 

มีความรู้สึกหนึ่งในฐานะที่เราเป็นคนดู แล้วรู้สึกว่าเนื้อเรื่องหรือการแสดงที่เราเห็นมาตรงกับชีวิตจริง แล้วเราสามารถเอาสิ่งเหล่านั้นมาปรับใช้กับวิธีคิดและการดำเนินชีวิตของเราให้ดีขึ้นได้

 

เพราะฉะนั้นถ้าในฐานะนักแสดง เราได้สวมบทบาทใดบทบาทหนึ่ง แล้วทำให้คนดูได้ข้อคิดจากสิ่งที่เราพยายามสื่อสาร หรือทำให้คนดูอยู่ในช่วงเวลาแห่งความสุข ลืมโลกแห่งความเป็นจริงของเขาไปชั่วขณะ ก็ถือว่าเราประสบความสำเร็จแล้วในฐานะนักแสดงคนหนึ่ง 

 

ภาพ: GDH และ @yadarilya / Instagram

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising