×

ร่างทรง (2021) หนังสยองขวัญสําหรับคนจิตแข็ง ว่าด้วยสังเวียนความเชื่อและสมรภูมิจิตวิญญาณ

28.10.2021
  • LOADING...
The Medium

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ร่างทรง’ ของ บรรจง ปิสัญธนะกูล ปรากฏอิทธิพลไม่โดยตรงก็โดยอ้อมของหนังอย่าง The Exorcist, The Blair Witch Project และ Paranormal Activities แต่ก็อีกนั่นแหละ วิธีการที่ผู้สร้างผสมผสานเนื้อหาที่บอกเล่าเข้ากับตำนานความเชื่อเรื่องภูตผีของภาคอีสานได้อย่างแนบแน่นเป็นอันหนึ่งอันเดียว ก็นำพาให้ตัวหนังหลุดพ้นจากความเป็นร่างทรงของหนังผีฝรั่งหรือหนังผีเกาหลีตามที่เอ่ยถึงข้างต้นอย่างลอยนวล หรือจริงๆ แล้วมันทำให้หนังมีทั้งรากเหง้าให้ยึดโยง ตลอดจนหนทางก้าวเดินที่เป็นตัวของตัวเอง
  • ไม่ว่าเจตนารมณ์ของคนทำหนังจะได้แก่อะไร คำถามที่ใหญ่โตมากๆ ของหนังและเกี่ยวข้องกับพวกเราคนดูโดยเฉพาะในห้วงปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่อง ‘ผีมีจริงหรือไม่’ แต่พวกเราจะรับมือกับความเชื่อ ความศรัทธา (หรือจะเรียกความงมงาย?) ที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นอย่างไร สืบสาน รักษา และต่อยอด หรือโยนมันทิ้งไว้ข้างทาง

The Medium

 

สองสามอย่างที่สรุปได้แน่ๆ และอย่างไม่ผิดพลาดเกี่ยวกับหนังเรื่อง ‘ร่างทรง’ ผลงานสยองขวัญล่าสุดของ บรรจง ปิสัญธนะกูล ก็คือนี่ไม่ใช่หนังจําพวกที่ใครจะสามารถเอนหลังหรือนั่งไขว่ห้างดูได้อย่างสบายอารมณ์ และยิ่งเวลาผ่านพ้นไป ผู้ชมก็ตกอยู่ในสถานะไม่ต่างจากตัวละครทั้งหมดในเรื่อง คือจนตรอกและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้มากขึ้นเรื่อยๆ 

 

อีกอย่างก็คือ ไม่ว่าเพดานสูงสุดของความไม่คาดฝันในหนังสยองขวัญไทยเคยอยู่ตรงไหนและอย่างไร หลายๆ ฉากและเหตุการณ์ในหนังของบรรจงก็พาผู้ชมไปป้วนเปี้ยนอยู่แถวๆ นั้น กระทั่งบางฉากหรือหลายฉากก็น่าจะติดตรึงความทรงจำอย่างชนิดที่ไม่หลุดลอกง่ายดาย สิ่งที่ควรระบุเพิ่มเติมก็คือ มันไม่ใช่ภาพหรือเหตุการณ์ที่เย้ายวนชวนมอง หรือว่ากันตามจริง ดีกรีความเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่ในขั้นที่ระคายเคืองความรู้สึกอย่างหนักหน่วงรุนแรง

 

กระนั้นก็ตาม สำหรับสาวกหนังสยองขวัญ เป็นเรื่องช่วยไม่ได้ที่ใครที่ได้ดูหนังเรื่อง ‘ร่างทรง’ แล้วจะนึกถึงหนังขึ้นหิ้งที่อยู่ก่อนหน้านั้นหลายๆ เรื่อง หากจะยกเว้น The Wailing ของนาฮงจิน ผู้ซึ่งเป็นทั้งเจ้าของเรื่องและโปรดิวเซอร์หนังเรื่อง ร่างทรง และปฏิเสธไม่ได้ว่าระหว่างหนังทั้งสองเรื่องมีหลายอย่างคล้ายคลึง 

 

หนังของบรรจงยังปรากฏอิทธิพลไม่โดยตรงก็โดยอ้อมของหนังอย่าง The Exorcist, The Blair Witch Project และ Paranormal Activities แต่ก็อีกนั่นแหละ วิธีการที่ผู้สร้างผสมผสานเนื้อหาที่บอกเล่าเข้ากับตำนานความเชื่อเรื่องภูตผีของภาคอีสานได้อย่างแนบแน่นเป็นอันหนึ่งอันเดียว ก็นำพาให้ตัวหนังหลุดพ้นจากความเป็นร่างทรงของหนังผีฝรั่งหรือหนังผีเกาหลีตามที่เอ่ยถึงข้างต้นอย่างลอยนวล หรือจริงๆ แล้วมันทำให้หนังมีทั้งรากเหง้าให้ยึดโยง ตลอดจนหนทางก้าวเดินที่เป็นตัวของตัวเอง

 

The Medium

 

ขณะที่กลวิธีการเล่าเรื่องแบบหนังสารคดีแนว Found Footage ที่คนทำหนังใช้เป็น ‘ข้ออ้าง’ ในการถ่ายทอดเรื่องทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่ของแปลกใหม่สำหรับ พ.ศ. นี้อีกแล้ว หรือจริงๆ แล้ว มันเกือบจะพ้นยุคสมัยด้วยซ้ำ ก็กลับเป็นสไตล์การนำเสนอที่เวิร์กในแง่ที่มันทำให้เรื่องที่น่าฉงนสนเท่ห์ หรือแม้กระทั่งเหลือเชื่อกลับดูเป็นไปได้มากขึ้น หรืออย่างน้อยมันหลอมรวมโลกความเป็นจริงกับเรื่องที่เสกสรรค์ปั้นแต่งขึ้นเข้าไว้ด้วยกัน

 

อีกทั้งท่าทีของ ‘คนทำหนังสารคดีนิรนาม’ ซึ่งรวมถึงทีมงานตากล้อง เรื่องนี้ก็ไม่ได้เริ่มต้นด้วยความเชื่อหรือไม่เชื่อเรื่องผีหรือไสยศาสตร์อย่างชนิดฟันธง ทว่าระหว่างพวกเขากับพวกเราคนดูยืนอยู่ตำแหน่งแห่งที่ใกล้เคียงกัน และนั่นคือความสงสัยใคร่รู้ในเรื่องที่หาหลักฐานหรือเหตุผลมาพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้

 

The Medium

 

ฉากหลังตามท้องเรื่องได้แก่หมู่บ้านเล็กๆ ทางภาคอีสาน ข้อความตัวหนังสือบอกให้รู้ว่า พวกเราคนดูอยู่ในหนังสารคดีที่ผู้สร้างกำลังสำรวจประเด็นความเชื่อเรื่องร่างทรง และซับเจกต์หรือบุคคลที่ถูกคัดเลือกได้แก่ป้านิ่ม (สวนีย์ อุทุมมา) ผู้ซึ่งปูพื้นให้พวกเราได้รับรู้เรื่องภูตผีอย่างย่นย่อทำนองว่า คนท้องถิ่นเชื่อว่ามีผีฝ่ายดีและผีฝ่ายร้าย และโคตรเหง้าศักราชของเธอเป็นตระกูลร่างทรงของย่าบาหยัน ซึ่งเป็นผีฝ่ายดีที่คอยปกปักรักษาชาวบ้านมาหลายชั่วอายุคน หรือจริงๆ แล้ว เธอถึงกับไล่เลียงสาแหรกการสืบทอดมรดกทางจิตวิญญาณนี้ (ที่ส่งผ่านเฉพาะญาติฝ่ายผู้หญิง) ทำนองว่า เป็นมาอย่างไรตำแหน่งนี้ถึงได้มาตกถึงตัวเธอ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วมันควรจะเป็นของ ‘ไอ้น้อย’ (ศิราณี​ ญาณกิตติกานต์) พี่สาวของเธอ ทว่าเจ้าตัวปฏิเสธ และเอาตัวรอดด้วยการไปเข้ารีตเป็นคาธอลิก ซึ่งผลพวงสืบเนื่องก็คือ มันนำพาให้ระหว่างเธอกับพี่สาวไม่สู้จะลงรอยเท่าใดนัก

 

ไม่ว่าจะอย่างไร ปมเรื่องจริงๆ เกี่ยวเนื่องกับมิ้ง (นริลญา กุลมงพลเพชร) ลูกสาวของน้อยที่จู่ๆ ก็เริ่มมีอาการผิดสำแดงทีละน้อย ความคลุ้มคลั่งและวิกลจริตของตัวละครก็ทวีความหนักหนาสาหัสมากขึ้น จนส่งผลให้ ‘คนทำหนังสารคดี’ ต้องเปลี่ยนโฟกัสจากตัวป้านิ่มมาตามติดชีวิตของหญิงสาว

 

ว่าไปแล้วลำพังเหตุการณ์ที่ดูสติแตกและประสาทเสียซึ่งเกิดขึ้นกับหญิงสาวที่ชื่อมิ้งก็เรียกร้องความสนใจในตัวมันเองอยู่แล้ว แต่ส่วนที่ยิ่งช่วยสร้างความแน่นหนาและรัดกุมให้ตัวหนัง ได้แก่การที่ผู้สร้างปูให้ผู้ชมได้รับรู้สิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นตื้นลึกหนาบางของสมาชิกครอบครัว ‘ยะสันเทียะ’ ของน้อยและมิ้ง  ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ามันแอบซ่อนทั้งความย้อนแย้ง (หรือจะเรียกว่า Irony ก็ได้) และความดาร์กอย่างคาดไม่ถึงทีเดียว

 

The Medium

The Medium

 

ข้อมูลที่หนังบอกผู้ชมว่าน้อยหลบเลี่ยงการรับมอบตำแหน่งร่างทรงประจำตระกูลด้วยการเปลี่ยนไปนับถือคริสต์ โดยที่เจ้าตัวไม่ได้เลื่อมใสจริงๆ จังๆ ฟังดูเป็นการแก้ปัญหาที่ตลก และสะท้อนวิธีคิดเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างตื้นๆ ง่ายๆ ของตัวละคร (พูดอีกอย่าง เธอทำให้การเปลี่ยนความเชื่อหรือศาสนาดูไม่แตกต่างจากการย้ายค่ายมือถือ) หรือจริงๆ แล้ว ฉากที่บาทหลวงไปร่วมงานสวดอภิธรรมศพสามีผู้วายชนม์ของเธอตอนต้นเรื่อง ก็บอกอะไรเกี่ยวกับชุมชนที่เธออาศัยอยู่ (ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ได้แตกต่างจากที่เรารับรู้ในโลกความจริงเท่าใดนัก) ทำนองว่ามันเป็นสังคมที่รวบรวบความเชื่อที่หลากหลายเอาไว้ในพื้นที่เดียวกัน

 

อีกเรื่องที่ดูเหมือนเป็นรายละเอียดปลีกย่อย ทว่ากลับอำพรางอารมณ์ขันอันแสนร้ายกาจของคนทำหนัง ได้แก่การที่หนังบอกว่าน้อยมีอาชีพขายเนื้อหมา ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องห้าม กระนั้นพวกเราก็ได้เห็นว่าที่บ้านของน้อยเลี้ยงหมาพุดเดิลสีขาวขนปุย น่ารักน่าชัง หรือจริงๆ แล้ว น้อยยังบอกคนทำหนังสารคดีเมื่อถูกถามถึงเรื่องดังกล่าว ทำนองว่าเธอไม่เห็นว่ามันเป็นเรื่องแปลกแต่อย่างใด (คนขายปลาก็ยังเลี้ยงปลา) แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่ครึ่งเดียวของมุกที่เฝ้าคอยการเพย์ออฟ

 

ทำนองเดียวกัน มิ้งก็มีสตอรีของตัวเอง เธอเป็นลูกคนเล็กและลูกคนเดียวของครอบครัว ด้วยเหตุที่ แม็ค พี่ชายประสบอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์คว่ำตาย (หรือพวกเราได้รับการบอกกล่าวอย่างนั้น) ชีวิตตอนกลางวันของเธอเป็นเจ้าหน้าที่ของศูนย์จัดหางานอำเภอ ขณะที่ชีวิตกลางคืนก็เรียกเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากสำมะเลเทเมาตามแรงกระตุ้นเร้าของฮอร์โมน หนังให้เห็นว่าเธอเข้ารีตตามแม่ของตัวเอง แต่จริงๆ แล้วเธอดูไม่มีศรัทธาหรือความเชื่อในเรื่องอะไรเลย และรวมถึงการทรงเจ้าเข้าผี กระทั่งยังทำเสียงผีเข้าสิงในทำนองล้อเลียน เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องไร้สาระ

 

หรือจะว่าไปแล้ว สถานะทางจิตวิญญาณของมิ้งจากที่หนังให้เห็นก็เป็นอย่างที่ใครคนหนึ่งเปรียบเปรยไว้อย่างน่าฟัง ‘รถยนต์ที่กุญแจถูกเสียบกุญแจคาไว้ ใครจะขับไปทางไหนก็ได้ทั้งนั้น’

 

The Medium

 

ข้อที่น่าครุ่นคิดสงสัยก็คือ ทั้งหมดทั้งมวลที่หนังบอกเล่าต้องการจะบรรลุประโยชน์โพดผลอะไร ดูผิวเผินแล้ว หนังของบรรจงก็เหมือนกับหนังสารคดีที่ซ้อนอยู่ในเรื่อง ไม่ได้ผูกมัดตัวเองกับความเชื่อเรื่องทรงเจ้าเข้าผีแต่อย่างใด และสิ่งที่บอกเล่าก็เป็นเหมือนการแสดงผลลัพธ์ของการที่ตัวละครดิ้นพล่านอยู่ในความเชื่อแบบนั้นๆ แต่ก็นั่นแหละ เป็นไปได้หรือไม่ว่าหนังของบรรจงเป็นคนละเรื่องกับตัวหนังสารคดี อย่างน้อยก็ในแง่ที่ฟุตเทจทั้งหลายถูกนำมาเล่นแร่แปรธาตุอีกทอดหนึ่ง ผ่านการขึ้นตัวหนังสือให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับผู้ชม (ซึ่งไม่น่าจะใช่ฝีมือคนทำหนังสารคดีแน่ๆ) การใส่เสียงแบบหนังสยองขวัญ การลำดับภาพ การเปิดเรื่อง ปิดเรื่องและการเรียงประเด็นบอกเล่า พูดอีกนัยหนึ่ง คนทำหนังสยองขวัญเรื่อง ร่างทรง ก็มี Agenda ของตัวเอง และไหนๆ ก็ไหนๆ พวกเขาก็ไม่ได้ตรงไปตรงมาเหมือนกับภาพเบื้องหน้าที่ดูเหมือนไม่มีการปรุงแต่งแต่อย่างใด

 

และไม่ว่าเจตนารมณ์ของคนทำหนังจะได้แก่อะไร คำถามที่ใหญ่โตมากๆ ของหนังและเกี่ยวข้องกับพวกเราคนดูโดยเฉพาะในห้วงปัจจุบันไม่ใช่เรื่อง ‘ผีมีจริงหรือไม่’ แต่พวกเราจะรับมือกับความเชื่อ ความศรัทธา (หรือจะเรียกความงมงาย?) ที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นอย่างไร สืบสาน รักษาและต่อยอด หรือโยนมันทิ้งไว้ข้างทาง และใช่หรือไม่ว่าสังคมไทยก็เปรียบได้กับร่างทรงในแง่ที่มันเป็นพื้นที่ความเชื่อ ความศรัทธาที่ครอบงำความนึกคิดของใครๆ มาแสนนาน และคล้ายๆ ว่าผู้คนมีแค่สองทางเลือกศิโรราบหรือต่อต้านและปฏิเสธไม่ได้ว่าจำนวนไม่น้อยอยากเห็นผีฝ่ายดีตัวอื่นมาเข้าสิงบ้าง

 

The Medium

The Medium

 

ส่วนที่ต้องปรบมือให้ดังๆ ได้แก่กลุ่มนักแสดงหลักของหนังเรื่อง ร่างทรง ที่สวมบทบาทกันได้อย่างเป็นธรรมชาติ ทั้งศิราณี​ ญาณกิตติกานต์ ในบท น้อย แม่ผู้ซึ่งไม่ว่าสถานการณ์จะดูริบหรี่แค่ไหน เธอก็ยังหวังว่าลูกสาวจะหลุดพ้นจากวิบากกรรม สวนี อุทุมมา ในบทป้านิ่มที่ทำให้ผู้ชมเชื่ออย่างไร้ข้อกังขาว่าเธอมีองค์อยู่ในตัว และแน่นอน นริลญา กุลมงพลเพชร ในบท มิ้ง หญิงสาวที่เรือนร่างของเธออยู่ใต้บงการความเชื่อความงมงายของอะไรต่ออะไร และเป็นการแสดงที่เรียกร้องการอุทิศและทุ่มเท ขณะที่อีกส่วนที่ควรพูดถึงก็คืองานกำกับภาพที่สร้างบรรยากาศที่น่าขนพองสยองเกล้า บรรดาภาพสั่นไหวทั้งหลายก็ส่วนหนึ่ง แต่ที่โดดเด่นจริงได้แก่ช็อตเปิดของหลายๆ ฉากที่เซ็ตมู้ดและโทนได้อย่างน่าพิศวงจริงๆ

 

หนังเรื่อง ร่างทรง จะได้รับการตอบรับจากผู้ชมบ้านเรามากน้อยแค่ไหนเป็นเรื่องที่คงทราบผลในเร็ววัน แต่ดูเหมือนหนังเรื่องนี้ไปได้สวยในหลายประเทศรอบบ้านเรา (เกาหลีใต้, ไต้หวัน, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์) บางทีสิ่งที่เกิดขึ้นน่าจะช่วยให้ผู้กุมนโยบายทางวัฒนธรรมของประเทศตระหนักได้ว่า เวลาพูดถึงซอฟต์พาวเวอร์ อย่ามัวนึกถึงแต่เพียงแค่นาฏศิลป์ วัดวาอาราม ขนบธรรมเนียมประเพณี สถานที่ท่องเที่ยว หรืออาหารการกิน

 

เพราะก็อย่างที่รู้กัน ผีไทยอาละวาดอย่างร้ายกาจและน่าหวาดหวั่นพรั่นพรึงในภูมิภาคนี้มาต่อเนื่องยาวนาน

 

ร่างทรง (2564)

กำกับ-บรรจง ปิสัญธนะกูล             

ผู้แสดง-นริลญา กุลมงพลเพชร, สวนีย์ อุทุม

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising