หมายเหตุ: บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์ BEEF
ยอดเยี่ยมสมคำร่ำลือสำหรับซีรีส์เรื่อง BEEF คนหัวร้อน ทาง Netflix จากค่าย A24 จนไม่แปลกใจที่ได้คะแนนจาก Rotten Tomatoes เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งจากฝั่งคนดูและนักวิจารณ์ เพราะมันไม่ใช่แค่หนังตลกที่ว่าด้วยคนสองคนทะเลาะกันจากจุดเล็กๆ แล้วลุกลามใหญ่โต แต่ค้นลึกไปถึงบาดแผลที่ฝังใจตัวละคร ที่สำคัญมันเชื่อมโยงกับคนดูทุกชาติ ทุกภาษา โดยเฉพาะถ้าคุณถูกเลี้ยงดูมาแบบชาวเอเชียก็น่าจะอินเป็นพิเศษ
BEEF เริ่มต้นจากอุบัติเหตุเล็กๆ เมื่อ Danny Cho (Steven Yeun) ผู้รับเหมาก่อสร้าง ขับรถออกจากไฮเปอร์มาร์ตแห่งหนึ่ง แล้วถูกรถ SUV สีขาวสุดหรูบีบแตรใส่ ผู้ที่ขับรถคันนั้นคือ Amy Lau (Ali Wong) เจ้าของธุรกิจขายต้นไม้ที่กำลังจะมีผู้ลงทุนรายใหม่เข้ามาซื้อกิจการ เรื่องนี้คงจบลงง่ายๆ ถ้าก่อนหน้านั้นทั้งคู่ไม่ได้กดดันจากปัญหารอบด้านจนใกล้ระเบิด การบีบแตรแค่นิดเดียวจึงกลายเป็นมหากาพย์การจองล้างจองผลาญทำลายชีวิตกันและกันไปเรื่อยๆ รู้สึกตัวอีกทีทั้งคู่ก็รู้สึกดีที่ได้ระบายความคับข้องใจไปลงที่ใครสักคน และพบว่าความบรรลัยของชีวิตฝังอยู่ในร่างของพวกเขามานานแล้ว เพียงแต่รอวันที่มันจะปะทุออกมา
ซีรีส์ค่อยๆ พาเราเข้าไปทำความรู้จักที่มาที่ไปของตัวละคร ทั้งตัว Amy ที่มองจากภายนอกมีชีวิตสมบูรณ์แบบ เธอแต่งงานกับ George Nakai (Joseph Lee) ทายาทตำนานศิลปินสุดหล่อ และมีลูกสาวที่น่ารัก แต่เนื้อใน George คือชายไม่เอาถ่านผู้เหมือนเกิดมาท่ามกลางทุ่งลาเวนเดอร์ และไม่แม้แต่จะรับฟังความรู้สึกของภรรยา
ในขณะที่แม่สามี (Patti Yasutake) ก็ดูจะไม่เคยพอใจในตัวลูกสะใภ้ ทั้งๆ ที่เธอพยายามทุกทาง ทั้งเรื่องส่วนตัวและหน้าที่การงาน หนำซ้ำยังต้องมาเจอกับความกวนประสาทของ Jordan (Maria Bello) มหาเศรษฐีที่กำลังจะเข้ามาร่วมลงทุนในธุรกิจ ทำให้ Amy กลายเป็นคนขี้กังวล หมกมุ่นอยู่กับเรื่องเงินและรักษาสถานภาพของตัวเอง
ยิ่งผนวกเข้ากับการถูกเลี้ยงดูแบบผู้หญิงเอเชียที่ต้องเก็บความรู้สึก ทุกอย่างจึงเหมือนคุกรุ่นอยู่ในใจ การได้ระบายความก้าวร้าวใส่ Danny จึงเหมือนการปลดปล่อยให้เธอรู้สึกเป็นอิสระจากกรงทอง
ในขณะที่ Danny คือลูกชายคนโตของครอบครัวเกาหลี-อเมริกัน ผู้ที่แบกรับความคาดหวังจากพ่อแม่ เขาพยายามทุกทางที่จะประสบความสำเร็จและทำให้พ่อแม่ภูมิใจ โดยต้องใช้ชีวิตอยู่กับ Paul Cho (Young Mazino) น้องชายที่ดูเหมือนไม่เอาไหน แต่ก็วางแผนชีวิตแบบคนรุ่นใหม่และดูจะไปได้ดีกว่าเขาด้วยซ้ำ ทำให้ Danny ต้องรับบทบาทพี่ชายที่แสนดี แต่ลึกๆ มีอะไรมากกว่านั้น Danny เป็นตัวอย่างของคนใน Gen X ตอนปลาย Gen Y ตอนต้น ที่ติดอยู่กึ่งกลางคือ ไม่ได้มั่งคั่งเหมือนเจเนอเรชันก่อนหน้า ในขณะเดียวกันก็ตามเด็กรุ่นใหม่ไม่ทัน
การแก้แค้นเริ่มต้นจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แล้วค่อยๆ บานปลายไปสู่จุดอ่อนของแต่ละคน Amy จับพลัดจับผลูมีความสัมพันธ์กับ Paul และได้รู้ถึงเบื้องลึกเบื้องหลังความสัมพันธ์ของพี่น้องคู่นี้ ขณะที่ Danny คิดว่าตัวเองคือผู้ดูแล แต่ Paul ต่างหากที่ต้องคอยเทกแคร์ความรู้สึกของพี่ชายตัวเอง ในขณะที่ Danny ก็มองความเป็น Amy ออกตั้งแต่ต้น จนเหมือนไปนั่งอยู่ในใจของเธอด้วยซ้ำ
“คุณเป็นแค่แม่บ้านชานเมืองน่าเบื่อ มีความฝันยิ่งใหญ่แต่ไม่ได้ทำอะไรสักอย่าง และติดอยู่ในชีวิตที่คุณไม่เคยต้องการ คุณมีทุกอย่างแต่ข้างในคุณว่างเปล่า คุณรู้สึกอ่อนแอและอยากกลับมาควบคุมมันได้”
ความสนุกของเรื่องคือ การแก้แค้นแสบๆ คันๆ ที่ให้เราหัวเราะหึหึในลำคอ แต่มากไปกว่านั้น ยิ่งได้ดูก็ยิ่งเห็นตัวเราผ่านชีวิตของตัวละคร โดยเฉพาะถ้าคุณเป็นลูกชายคนโตหรือลูกสาวในครอบครัวเอเชีย กรอบความคิดและความคาดหวังที่อยู่บนบ่าของ Danny และ Amy ก็อยู่บนตัวเราเหมือนกัน
Amy ถูกเลี้ยงดูให้เก็บความรู้สึกและตัวตนเอาไว้ ต้องเสแสร้งตลอดเวลาโดยไม่รู้ว่ามันเริ่มต้นเมื่อไร จนติดเป็นนิสัยและกลายเป็นความอึดอัดและหาทางออกไม่ได้ ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ความเชื่อของคนเอเชียในเจเนอเรชันเก่าที่ว่า ‘เมื่อเราไม่พูดถึงมัน สิ่งนั้นก็จะหายไปเอง’ ยิ่งกดให้แผลในใจลงลึกเข้าไปอีก
ส่วน Danny ความคาดหวังกับนิยาม ‘พี่ชายคนโต’ ในแบบเอเชีย ต้องเป็นที่พึ่ง ต้องเป็นผู้ดูแลครอบครัว ทั้งๆ ที่ตัวเขาก็อ่อนแอและต้องการที่พึ่งทางใจ เมื่อมองซ้ายมองขวาก็มีแค่น้องชาย ทำให้เอาชีวิตไปยึดติดกับชีวิตน้องภายใต้หน้ากากแห่งความหวังดี แต่จริงๆ แล้วมันคือความเห็นแก่ตัวที่ต้องการเหนี่ยวรั้งน้องเอาไว้ จนตัดสินใจอะไรบางอย่างที่ยากจะให้อภัย
ในเรื่องมีการพูดถึงความสัมพันธ์ทางจิตวิญญาณผ่านเรื่องเล่าของ George และพนักงานในร้านของ Amy แต่คนที่ผูกพันทางจิตวิญญาณกันจริงๆ กลับกลายเป็น Amy และ Danny ไม่ได้ออกมาในรูปแบบความรัก แต่คือความโกรธเกรี้ยวต่อกัน แม้ตอนกลางของซีรีส์ความบาดหมางจะบรรเทาเบาบางลงไป และทั้งคู่ก็เหมือนจะได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ อย่างไรก็ตามก็ยังหาความสุขไม่ได้ ถ้าบาดแผลในใจยังไม่ได้รับการสะสาง นำไปสู่ทางลงสุดเซอร์ไพรส์ที่สามารถคลี่คลายทุกประเด็นของเรื่องได้อย่างลงตัว
นอกจากประเด็นเรื่องการเลี้ยงดูแบบเอเชีย ในเรื่อง BEEF ยังสะท้อนถึงความว่างเปล่าของระบบทุนนิยมผ่านชีวิตของ Jordan มหาเศรษฐีจอมหลงตัวเอง และ Naomi (Ashley Park) แม่บ้านผู้มีชีวิตสุขสบายแต่ก็ไร้ค่า รวมทั้งการสะท้อนภาพปัญหาชีวิตในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความเครียด จนพร้อมที่จะระเบิดได้ตลอดเวลา
ดังนั้นถึงแม้จะไม่อินกับความเป็นเอเชีย แต่เนื้อหาของ BEEF ก็ยังเชื่อมโยงกับใครก็ได้ในโลกยุคนี้ และได้รับคำชื่นชมมากมายจนกลายเป็นซีรีส์ที่อยากแนะนำ