×

‘BECARE กล่องยูเอชที รีไซเคิลได้’ โครงการที่จะพาคุณไปค้นพบความมหัศจรรย์ของกล่องยูเอชทีใช้แล้ว 1 กล่อง ในวงจรของการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน [ADVERTORIAL]

โดย THE STANDARD TEAM
20.12.2021
  • LOADING...
BECARE กล่องยูเอชที รีไซเคิลได้

HIGHLIGHTS

1 min. read
  • กล่องยูเอชทีใช้แล้ว 1 กล่อง สามารถแยกเป็นเยื่อกระดาษได้ราว 75% พลาสติกและอะลูมิเนียมฟอยล์ 25% เมื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เยื่อกระดาษสามารถผลิตเป็นผลิตภัณฑ์กระดาษต่างๆ เช่น ลัง ถุง สมุด หรือแม้แต่กระดาษทำสื่ออักษรเบรลล์ 
  • แต่การเดินทางของมันจริงๆ แล้วสามารถสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างยั่งยืนด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งที่ บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด กำลังผลักดันร่วมกับพันธมิตรในภาคอุตสาหกรรมและในวงจรรีไซเคิลให้เกิดขึ้นจริง ในโครงการ BECARE ‘กล่องยูเอชที รีไซเคิลได้’
  • BECARE ‘กล่องยูเอชที รีไซเคิลได้’ ยังเป็นหนึ่งในโครงการที่ Tetra Pak ดำเนินการอยู่ภายใต้ขอบเขตของ ‘Go Carton Collection’ โดยมีพันธกิจระดับโลกร่วมกันคือ การสร้างเครือข่ายของการรีไซเคิลทั่วโลก บอกเล่าผ่านแคมเปญสื่อสารระดับโลก Go Nature. Go Carton. ที่วางเป้าหมายใหญ่ที่ Tetra Pak ต้องการแสดงให้เห็นความมุ่งมั่นที่จะสร้างบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนที่สุดในโลก 

เคยสงสัยหรือไม่ว่า หลังจากเราที่เก็บกล่องยูเอชทีใช้แล้วส่งไปรีไซเคิลจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น และปลายทางของพวกมันจะถูกนำไปรีไซเคิลเป็นอะไรได้บ้าง



3 วัสดุหลัก ได้แก่ เยื่อกระดาษ 75% พลาสติกและอะลูมิเนียมฟอยล์ 25% เมื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เยื่อกระดาษสามารถผลิตเป็นผลิตภัณฑ์กระดาษต่างๆ เช่น ลัง ถุง สมุด หรือแม้แต่กระดาษทำสื่ออักษรเบรลล์ ส่วนที่เหลือกลายไปเป็นแผ่นบอร์ด หลังคา หรือโต๊ะ เก้าอี้

 

 

หลายคนอาจจะผ่านตากับโครงการ ‘กล่องยูเอชที รีไซเคิลได้’ หรือ ‘BECARE (Beverage Carton Recycling)’ และข่าวเกี่ยวกับกิจกรรม ‘พี่มีกล่อง น้องขอนะ BeCare Be Kind Book for the Blind’ เปลี่ยนกล่องยูเอชทีในมือให้เป็นสื่ออักษรเบรลล์ โดยมีองค์กรผู้สนับสนุนและดำเนินการหลายภาคส่วน ได้แก่ บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ศูนย์รีไซเคิลกล่องเครื่องดื่ม โดยบริษัท ไฟเบอร์ พัฒน์ จำกัด และกลุ่มกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมกล่องวิเศษ (บริษัท กล่องวิเศษ จำกัด) โดยถึงตอนนี้ก็เดินทางเข้าสู่ปีที่ 6 (ตั้งแต่ปี 2556) แล้ว

 

วัตถุประสงค์ตั้งต้นของโครงการก็เพื่อสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจให้กับชุมชนและพันธมิตรว่าทำอย่างไรจึงจะเปลี่ยนจาก ‘ขยะ’ ให้เป็น ‘วัสดุ’ เพื่อนำกลับมาใช้ได้อีกครั้ง และเน้นไปที่การสร้างเครือข่ายร่วมกับพันธมิตร เพื่อสร้างระบบการจัดเก็บกล่องเครื่องดื่มและนำกลับมารีไซเคิลอย่างยั่งยืน

 

ประเด็นที่น่าสนใจจนทำให้เราต้องพูดคุยกับ ปฏิญญา ศิลสุภดล ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืน บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด ก็คือ หลังจากที่ ‘เต็ดตรา แพ้ค’ (Tetra Pak) ประเทศสวีเดน ประกาศแคมเปญสื่อสารระดับโลก ‘Go Nature. Go Carton.’ เมื่อปี 2020 เพื่อแสดงความมุ่งมั่นของการสร้างบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนที่สุดของโลก โดยใช้วัสดุที่เป็นวัสดุทดแทนจากธรรมชาติ หรือวัสดุรีไซเคิลมาใช้ในการทำบรรจุภัณฑ์ และสามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้ทุกส่วน โดยมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ ขณะเดียวกันต้องตอบโจทย์เรื่องการขนส่งแบบไม่ต้องแช่เย็นเพื่อรักษาคุณค่าของอาหารที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ โดยเป็นไปตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัยทางอาหาร

 

‘BECARE’ จึงถูกจัดให้เข้าไปอยู่ภายใต้กลุ่มงาน ‘Go Carton Collection’ ซึ่งเป็นการเดินทางในเฟสที่สองของแคมเปญนี้ ที่มีพันธกิจระดับสากลร่วมกันคือการสร้างเครือข่ายของการรีไซเคิลทั่วโลก เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ทำให้แนวทางของโครงการ ‘BECARE’ นับจากนี้จะไม่ใช่แค่การจัดกิจกรรมเพื่อร่วมรับบริจาค หรือการสร้างเครือข่ายพันธมิตรในการจัดเก็บเท่านั้น แต่ยังจะต้องสร้างประสิทธิภาพให้ทั้งระบบแข็งแกร่งจนก่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน

  



“Go Nature. Go Carton. เหมือนเป็นการย้ำเตือนให้ทุกคนในองค์กรตระหนักอยู่เสมอถึงความมุ่งมั่นของเราว่า หน้าที่ของการเป็นผู้ประกอบการที่ดีประกอบด้วยอะไรบ้าง และควรจะเดินหน้าไปด้วยแนวทางไหน และ BECARE ก็เป็นกิจกรรมหลักในประเทศไทยที่เราลงมือทำในสิ่งที่พูด” ปฏิญญา กล่าว 


เมื่อถามถึงผลลัพธ์ทั้งในแง่ของตัวเลขขยะรีไซเคิลที่จัดเก็บ และเป้าหมายในการขยายเครือข่ายพันธมิตร ไปจนถึงความตระหนักของคนในชุมชนจนถึงตอนนี้เป็นอย่างไร ปฏิญญา บอกว่า “ประเด็นสำคัญอยู่ที่ความต่อเนื่อง ช่วง 3-4 ปีแรก ตัวเลขจัดเก็บเพิ่มขึ้น เนื่องจากเรามีการขยายเครือข่าย ปัจจุบันเรามีเครือข่ายกระจายไปถึง 20 จังหวัด ทำให้ตัวเลขจัดเก็บเพิ่มขึ้น หากนับเป็นจำนวนตันก็เกินกว่า 2,700 ตัน หรือประมาณ 300 ล้านกล่อง 

 

“ผลลัพธ์ที่ดียังสะท้อนการขยายตัวของเครือข่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงหลังๆ จะเห็นเทศบาลและองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นติดต่อเข้ามาขอเข้าร่วมโครงการมากขึ้น จริงๆ แล้วในแต่ละเฟสที่เราดำเนินงาน เราไม่ได้ตั้งเป้าที่จะขยายพื้นที่มากนัก เพราะยังมีข้อจำกัดเรื่องการขนส่ง เราร่วมกับโรงงานรีไซเคิลเพียงแห่งเดียวในขณะนี้ แต่เสียงตอบรับจากเทศบาลและชุมชนที่ต้องการเข้าร่วมมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และขอให้เราขยายการจับเก็บออกไป เราจึงตอบรับและมุ่งมั่นที่จะสร้างเครือข่ายให้เข้มแข็งขึ้น

 

“ขณะเดียวกันในมุมของความตระหนักรู้จะเห็นว่า ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการมีความเข้าใจมากขึ้น เพราะเราจะมีการรายงานผลอย่างต่อเนื่องให้กับเครือข่าย นอกจากโครงการ กล่องยูเอชทีรีไซเคิลได้ ยังมีโครงการอื่นๆ ที่เราทำด้วย ก็มีส่วนให้ผู้บริโภคเองและคนในชุมชนเข้าใจถึงความสำคัญของการรีไซเคิลมากขึ้น เพราะการลงชุมชน เราจะมีการจัดกิจกรรม โดยเฉพาะเครือข่ายที่เซ็น MOU ร่วมกับทางโครงการ เราจะมีทีมงานให้ความรู้ ส่วนทาง อบต. หรือเทศบาลก็จะเรียกประชุมผู้นำหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน หรือบางครั้งก็จะมีโรงเรียนที่เป็นตัวแทนท้องถิ่นมาร่วมอบรม มีหลายครั้งที่เขาขอให้เราไปจัดกิจกรรมตามสถานศึกษาหรือตามแหล่งชุมชน เพื่อนำตัวอย่างการจัดเก็บและตัวอย่างที่รีไซเคิลแล้วไปแสดงให้ดู”   


พันธมิตรที่เข้มแข็ง ชุมชนที่แข็งแกร่ง คือรากฐานที่ดีของระบบโครงสร้างที่ยั่งยืน 

ปฏิญญายังกล่าวถึงความสำคัญของการสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและการสร้างพันธมิตร ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของโครงการ “ยกตัวอย่างชุมชนที่เราได้ร่วมทำงานด้วยกัน เช่น เทศบาลตำบลบ้านฉาง จังหวัดระยอง และเทศบาลเมืองปู่เจ้าสมิงพราย จังหวัดสมุทรปราการ มีการวางระบบการกระจายข้อมูลและสื่อสารภายในชุมชนของเขาเองให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ให้ความรู้เกี่ยวกับโครงการเพื่อเตรียมตัวจัดเก็บกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วอย่างเหมาะสม มีการนัดหมายวันจัดเก็บกล่องเครื่องดื่มภายในชุมชน โรงเรียน หรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กภายในชุมชนอย่างชัดเจน เพื่อให้ง่ายต่อทีมของเทศบาลที่ช่วยรวบรวมกล่องเครื่องดื่ม ทำให้การจัดเก็บทำได้อย่างต่อเนื่อง การทำงานในแต่ละชุมชน เราก็มีความยืดหยุ่นพอสมควร พร้อมทั้งคอยอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์ให้กับพันธมิตรมากที่สุด และจัดส่งกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วในโครงการไปส่งให้กับโรงงานรีไซเคิล

 

“ในลักษณะของการจับมือกับผู้ผลิตกล่องเครื่องดื่มด้วยกันนั้น จะเป็นความร่วมมือในเรื่องการจัดเก็บและการสร้างเครือข่าย ให้ความรู้ เพราะเรามีแนวคิดที่ว่า ถึงจะเป็นคู่แข่งทางการค้า แต่หากต้องการให้โครงการด้านสิ่งแวดล้อมบรรลุผลจริง เราควรทำงานร่วมกับคนในอุตสาหกรรมเดียวกัน เพื่อผลเชิงบวกกับโลกและสังคมโดยรวม

 

“ส่วนราชการก็เป็นผู้สนับสนุนโครงการ เราก็จะรายงานผลและนำเสนอข้อมูลให้กับภาครัฐ เพื่อนำไปดำเนินนโยบายต่อได้ BECARE เราได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และในการลงพื้นที่เราได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานของภาครัฐในส่วนท้องถิ่น การมีนโยบายส่วนกลางสนับสนุนโดยที่มีหน่วยงานท้องถิ่นเป็นฝ่ายปฏิบัติการ ก็จะทำได้อย่างสบายใจ ราบรื่น และต่อเนื่อง”  

 



 

เร่งพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ระบบการจัดเก็บและขนส่ง

ทุกโครงการที่ เต็ดตรา แพ้ค ดำเนินการจะเน้นการทำงานแบบมองภาพรวมทั้งระบบ หากมีขั้นตอนไหนมีแนวโน้มว่ากำลังจะสร้างภาระให้กับโลก นั่นจะกลายเป็นประเด็นที่ เต็ดตรา แพ้ค ต้องเร่งจัดการทันที 

 

“ตลอดระยะเวลาที่เราดำเนินโครงการ เราพบประเด็นเรื่องต้นทุนระบบขนส่งไปยังโรงงานรีไซเคิลและประสิทธิภาพด้านปริมาณในการจัดเก็บที่เราสามารถทำให้ดีได้กว่านี้ แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนแรกจะเน้นไปที่การปรับปรุงประสิทธิภาพ ปัจจุบันเรายังไม่มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างเครือข่ายที่เป็นระบบ ทำให้การส่งรถออกไปจัดเก็บกล่องยูเอชทีใช้แล้วจากเครือข่ายกลับมาไม่เต็มคันรถ หรือพลาดการจัดเก็บในจุดอื่นๆ ส่วนที่สองคือ ประสิทธิภาพของเครือข่ายท้องถิ่นในการดำเนินการจัดเก็บกล่องเครื่องดื่มหลังทำการประชาสัมพันธ์กับชุมชนแล้ว

 

“จะเห็นว่ามันมีปัญหาที่ซ่อนอยู่ภายใต้ระบบที่ยังไม่มีประสิทธิภาพคือการใช้ทรัพยากรไม่คุ้มค่า การนำรถออกไปหนึ่งครั้ง เราต้องใช้พลังงานหลายส่วน หากบริหารจัดการได้ดีขึ้น รู้ว่าแต่ละจุดมีกล่องยูเอชทีที่ต้องเก็บเท่าไร จะทำให้การวางแผนเดินรถดีขึ้น ประหยัดต้นทุนได้ รวมถึงการช่วยให้เครือข่ายมีประสิทธิภาพด้วย เช่น บางเทศบาลมี 60 ชุมชน มีชุมชนเข้าร่วมโครงการอยู่ 30-40 ชุมชน ในจำนวนนั้นบางทีก็ไม่ได้ไปรับตามกำหนดเวลา หรือมีปริมาณกล่องจำนวนไม่มากในการขนส่งในแต่ละครั้ง ปีหน้าคงจะมุ่งเน้นในประเด็นนี้ด้วย คือ ให้การสนับสนุนชุมชนมากขึ้น และเพิ่มเครือข่ายพันธมิตรเพื่อเข้ามาช่วยเรื่องประสิทธิภาพและการบริหารจัดการในการขยายขอบเขต”

 

“เราเริ่มมีการนำแอปพลิเคชันมาทดลองใช้ ตอนนี้อยู่ระหว่างนำร่อง วัตถุประสงค์ก็เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดเก็บและขนส่ง รวมถึงอำนวยความสะดวกให้การจัดเก็บทำได้อย่างเต็มรูปแบบ และลดต้นทุน หากทำได้สำเร็จ จะช่วยทำให้เข้าใจตรงกันเรื่องปริมาณของกล่องยูเอชทีที่ชัดเจนยิ่งขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นในพื้นที่จำกัด ปัจจุบันเวลาคุยกันในเครือข่ายจะเป็นการพูดแบบกว้าง เช่น ตอนนี้มีกล่องยูเอชทีเยอะหรือเต็มห้องจัดเก็บแล้วนะ แต่พอเราส่งรถไปรับอาจจะมีแค่ 50 กิโลกรัม ซึ่งรถกระบะหนึ่งคันควรจะโหลดกล่องยูเอชทีได้สัก 500 กิโลกรัม จึงจะคุ้มกับค่าน้ำมัน และช่วยลดก๊าซคาร์บอนฯ จากพลังงานที่เสียไปจากการขนส่งที่ไม่เต็มประสิทธิภาพ  แต่หากเรามีอุปกรณ์การบีบอัดขนาดเล็กที่ทำให้กล่องยูเอชทีถูกบีบให้มีขนาดเล็กลงเป็นก้อนๆ หรือยูนิต แต่ละเครือข่ายเพียงแจ้งว่าตอนนี้มีกี่ยูนิต เวลาส่งรถไปจัดเก็บ จะสามารถเช็กได้ว่าแต่ละเส้นทางสามารถจัดเก็บได้ครบตามยูนิตที่กำหนดหรือไม่ และการใช้ข้อมูลเชื่อมถึงกันยังเปิดโอกาสให้เราทำโครงการที่ลดต้นทุน ลดการใช้พลังงานในวงจรการจัดเก็บได้มากกว่านี้”

 

 

กล่องยูเอชทีใช้แล้ว 1 กล่อง สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างไร? 

“เรามองว่าการรีไซเคิลไม่ใช่เรื่องของการจัดเก็บและลดภาระ แต่ยังสามารถสร้างมูลค่าในห่วงโซ่ได้อย่างไร นั่นก็คือ เกิดงานสำหรับผู้จัดเก็บ เอาวัสดุกลับเข้าระบบเพื่อใช้ประโยชน์ต่อ แม้กระทั่งนำไป Upcycle ก็ตาม” 

 

“ตอนนี้พันธมิตรในกลุ่มผู้ประกอบการรีไซเคิลยังมีไม่เยอะ เราสามารถแยกได้ว่ารับกล่องเข้ามาในโครงการเท่าไรและจัดส่งไปที่ใคร แต่เมื่อถึงจุดที่เราสามารถสร้างระบบการซื้อขายกล่องยูเอชทีใช้แล้วขึ้นมาในประเทศ กลายเป็นวัสดุรีไซเคิลที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้เหมือน Packaging ประเภทอื่นๆ อาจจะต้องหากระบวนการเพิ่มเติม เพราะถ้าถึงจุดนั้นก็น่าจะมีพาร์ตเนอร์รีไซเคิลเพิ่มมากขึ้น เชื่อว่าเขาก็จะรับซื้อขายกันตามกลไกตลาด เราก็อยากถึงจุดนั้นเร็วๆ เพื่อสร้างเครื่องมือในการติดตามผลต่อไป”  

 

ปฏิญญา กล่าวเสริมว่า เรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียนมันเป็นมากกว่าคอนเซปต์ และหากจะมองว่าโครงการ BECARE เหมือนเป็นตัวอย่างของการสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนย่อยๆ ก็เห็นจะได้ “โครงการ BECARE มันเริ่มจากสร้างความรู้ ความเข้าใจ บริหารจัดการขยะอย่างถูกต้อง รวมถึงการสร้างระบบ ไม่ว่าจะเป็นจุดจัดเก็บ จุด Drop Point มีระบบขนส่ง มีการร่วมมือกับโรงงานรีไซเคิล ไปจนถึงโปรโมตสินค้ารีไซเคิล รับบริจาคกล่องเพื่อไปทำเป็นสื่ออักษรเบรลล์ให้ผู้พิการทางสายตา 13 โรงเรียนในประเทศไทย ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างของการสร้างมูลค่าเพิ่มจากกล่องยูเอชทีใช้แล้ว” 

 

“เราเชื่อว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนมันเกิดขึ้นแล้วและเกิดขึ้นได้ อย่างในกลุ่มเครือข่ายเองก็มีความเห็นว่า ในเมื่อเราสามารถสร้างเครือข่ายที่แข็งแรงแล้ว เอาเฉพาะชุมชนที่เกี่ยวกับภาครัฐก็มีกว่า 180 จุด ทุกคนก็มีความเห็นตรงกันว่า หากพวกเขาสามารถทำประโยชน์ได้มากขึ้น และเป็นผู้มีส่วนร่วมในวงจรของเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับวัสดุอื่นนอกเหนือจาก กล่องยูเอชทีได้ด้วยเขาก็ยินดี แต่ตัวเราเองก็ต้องดูความพร้อมด้วย อาจจะคุยกับพันธมิตรด้านการรีไซเคิลเพิ่ม ต้องหาพันธมิตรที่จะมาจัดการตรงนี้ก่อน เราคงไม่ได้มองแค่การแก้ปัญหาจากต้นทางแต่ต้องมองให้ครบจบไปจนสุดทาง” 

 

 

เป้าหมายต่อไปของ ‘BECARE’

ปฏิญญา ย้ำชัดถึงเป้าหมายอันใกล้ที่จะต้องจริงจังกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บและขนส่งเพื่อลดคาร์บอนตลอดกระบวนการและลดต้นทุน รวมถึงการสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่ง “ตอนนี้เราเริ่มมีการคุยกันว่า ต่อไป BECARE จะปรับจากโครงการรายปีให้เป็นโครงการระยะยาว เพื่อให้เครือข่ายพันธมิตรเชื่อมั่นว่าหลังจากจัดเก็บกล่องมาแล้วจะยังคงจัดการต่อเนื่องไปตามกระบวนการรีไซเคิล และเราควรจะเป็นแกนกลางในการรวมกลุ่มพันธมิตร รวมไปถึงเจ้าของแบรนด์ต่างๆ ให้เข้ามาร่วมกันโดยมี BECARE เป็นศูนย์กลาง”



ปฏิญญา ยังเชื่อว่า ยังมีอีกหลายองค์กรในไทยที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ไม่แพ้กัน แต่หากต้องการให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริง ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องช่วยกันสร้างโครงสร้างพื้นฐานไว้รองรับ แล้วค่อยกำหนดทิศทางที่ชัดเจน หลังจากนั้นค่อยสื่อสาร เพราะเมื่อคนตระหนักเขาก็ทำได้ทันที

 

“ผมเชื่อว่าคนไทยมีความตระหนักในเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว แต่ถ้าเราไม่สามารถสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับในระยะยาว ถึงจะตระหนักแต่ก็ยังไม่อาจเปลี่ยนพฤติกรรม บางคนไม่สามารถเปลี่ยนได้ด้วยข้อจำกัด ผมว่าการลงเงินในเรื่องการสื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักโดยที่ยังไม่มีโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ต่างอะไรกับตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” 

 

THE STANDARD ก็เชื่อเช่นกันว่า หากคุณเป็นคนหนึ่งที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้ แปลว่าคุณเองก็สนใจประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมไม่น้อยไปกว่าใคร


หากอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการต่อเติมโครงสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เข้มแข็ง เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการส่งต่อกล่องยูเอชทีใช้แล้วไปสู่กระบวนการที่ถูกต้องก่อนก็ได้ ติดตามโครงการ ‘กล่องยูเอชที รีไซเคิลได้’ ที่ facebook.com/UHTBECARE  

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising