BCPG รุกสหรัฐอเมริกาต่อเนื่อง ทุ่มงบลงทุนเฉียด 9,000 ล้านบาท ซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเพิ่มอีก 2 แห่ง กำลังการผลิตติดตั้ง 426 เมกะวัตต์ จาก ‘แฟรงคลิน พาวเวอร์ โฮลดิ้ง’ หวังต่อยอดธุรกิจพลังงานสะอาด
นิวัติ อดิเรก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บีซีพีจี หรือ BCPG เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา BCPG USA Inc. ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ ได้ลงนามในสัญญาซื้อหุ้นในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในรัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งจำหน่ายไฟฟ้าเข้าสู่ตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรีพีเจเอ็ม (PJM) ตลาดซื้อขายไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ และครอบคลุมการขายไฟฟ้ากว่า 13 รัฐในสหรัฐอเมริกา
โดยการลงทุนครั้งนี้ บริษัทฯ ใช้เงิน 260 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 8,919 ล้านบาท คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการถือหุ้นรวม 426 เมกะวัตต์ โดย BCPG USA Inc. ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นเพื่อเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าจำนวน 2 โครงการ โดยมีรายละเอียดดังนี้
- โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติฮามิลตั้น ลิเบอร์ตี้ (ลิเบอร์ตี้) มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 848 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่เขตอไซลัม (Asylum) รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ผ่านการเข้าซื้อหุ้นร้อยละ 25 ของฮามิลตั้น โฮลดิ้ง ซึ่งจะทำให้บีซีพีจีถือหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าลิเบอร์ตี้ทางอ้อม ในสัดส่วนร้อยละ 25 การลงทุนดังกล่าวคิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทฯ เท่ากับ 212 เมกะวัตต์
- โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติฮามิลตั้น เพทรีออต (เพทรีออต) มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 857 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่เขตคลินตัน (Clinton) รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ผ่านการเข้าซื้อหุ้นร้อยละ 25 ของฮามิลตั้น โฮลดิ้ง ซึ่งจะทำให้บีซีพีจีถือหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าเพทรีออตทางอ้อม ในสัดส่วนร้อยละ 25 การลงทุนดังกล่าวคิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทฯ เท่ากับ 214 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ เมื่อรวมกับการเข้าซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้บีซีพีจีมีกำลังการผลิตในสหรัฐอเมริการวม 577 เมกะวัตต์
“การเข้าลงทุนครั้งนี้สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ของบริษัทฯ ในการขยายธุรกิจผลิตไฟฟ้าซึ่งเป็นธุรกิจหลัก โดยโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติดังกล่าวเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2559 ทำให้บริษัทฯ สามารถรับรู้ส่วนแบ่งกำไรได้ทันทีภายหลังจากการเข้าลงทุน” นิวัติกล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าทั้ง 2 โครงการมีความได้เปรียบสูงในการแข่งขันเพื่อประมูลขายไฟฟ้าในตลาดไฟฟ้าเสรี PJM ซึ่งเป็นตลาดที่มีความต้องการการใช้ไฟฟ้าสูงที่สุดในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตต่ำเมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติอื่นในตลาด กล่าวคือ เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติที่ใช้เทคโนโลยีพลังงานความร้อนร่วม Combined Cycle Gas Turbines (CCGT) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้กังหันก๊าซและกังหันไอน้ำร่วมกันเพื่อผลิตไฟฟ้า ทำให้การผลิตไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงขึ้น มีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงต่ำ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ทำเลที่ตั้งของโรงไฟฟ้าอยู่ใกล้แหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ (Marcellus Shale Gas) ทำให้เข้าถึงก๊าซธรรมชาติได้ในราคาต่ำกว่าภูมิภาคอื่นของประเทศ
สำหรับฮามิลตั้น โฮลดิ้ง เป็นบริษัทในเครือคาร์ลาย กรุ๊ป กลุ่มกองทุนที่จัดการโดยบริษัทการลงทุนกองทุนระดับโลก และบริหารจัดการโดยบริษัท โคเจนทริกซ์ เอนเนอร์ยี่ แมเนจเม้นท์ (โคเจนทริกซ์) ซึ่งคาร์ลาย กรุ๊ป และโคเจนทริกซ์ มีทรัพย์สินภายใต้การบริหารกว่า 10,000 เมกะวัตต์ ทั่วสหรัฐอเมริกา จึงมีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเป็นอย่างดี
“บีซีพีจียังคงมุ่งมั่นขยายการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด การลงทุนโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติควบคู่กับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เป็นการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ตอบสนองความต้องการการใช้ไฟฟ้าของประชาชนอย่างเพียงพอ ช่วยรักษาสภาพแวดล้อม และสร้างความยั่งยืนให้กับโลกของเรา” นิวัติกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- พลังงานไฮโดรเจนมาแน่! กฟผ. บินญี่ปุ่นถก 5 บริษัทยักษ์ใหญ่ ศึกษาผลิตไฟจากไฮโดรเจน-แอมโมเนีย
- ‘กฟผ.-ธอส.’ เผย ‘โครงการบ้านเบอร์ 5’ ลดค่าไฟฟ้าได้ 44 ล้านบาทต่อปี ลดปล่อยก๊าซคาร์บอน 5,300 ตันต่อปี ตั้งเป้าปี 66-68 สร้างเพิ่ม 5,000 หลัง
- ‘กลุ่มทุนจากจีน’ ชนะการประมูล ‘เหมืองลิเธียม’ ในโบลิเวีย ประเทศที่มีแร่หายากมากที่สุดในโลก เสริมแต้มต่อในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า