เกิดอะไรขึ้น:
บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล (BCH) ตั้งเป้ารายได้ที่ ~1.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 17%YoY (ไม่รวมบริการโควิด) โดยได้แรงหนุนจากการเปิดศูนย์การแพทย์เฉพาะทางมากขึ้น (เช่น ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู และความร่วมมือกับ Bujeong ซึ่งเป็นคลินิกศัลยกรรมความงามที่มีความเชี่ยวชาญในเกาหลีใต้ เพื่อให้บริการศัลยกรรมความงามและบำรุงรักษาผิวหน้า ที่โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล รัตนาธิเบศร์) การยกระดับสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีอยู่เดิม การร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานประกันสังคม (สปส.) และบริษัทเอกชน ให้บริการตรวจสุขภาพ (คาดสร้างรายได้ 160 ล้านบาท) และจำนวนผู้ป่วยต่างชาติ (13% ของรายได้) ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภูมิภาคตะวันออกกลาง
สำหรับข้อเสนอที่โรงพยาบาลเอกชนที่ให้บริการผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมยื่นต่อ สปส. เพื่อขอปรับขึ้นอัตราเหมาจ่ายรายหัวประกันสังคม (SC) อีก 8-10% นั้น BCH คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเดือนเมษายน นอกจากนี้ สปส. ได้ริเริ่มโครงการนำร่องในการให้บริการรักษาโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง 5 โรค (โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็งเต้านม โรคนิ่วในไตและถุงน้ำดี และก้อนเนื้อที่มดลูก) สำหรับผู้ประกันตนที่โรงพยาบาลเอกชนใดก็ได้ที่เข้าร่วมโครงการ โดยโครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2566
และโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับค่ารักษาเพิ่มขึ้นจาก 12,000 บาทต่อ RW สู่ 15,000 บาทต่อ RW (เพิ่มขึ้น 25%) ซึ่งโรงพยาบาลในเครือ BCH 8 แห่งเข้าร่วมโครงการนี้ InnovestX Research ประเมินได้ว่ารายได้ SC ของ BCH จะเพิ่มขึ้น ~8% หากใช้สมมติฐานว่ามีการปรับเพิ่มค่าเหมาจ่ายรายหัว (เพิ่มขึ้น 4%) และมีการให้บริการรักษาโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง 5 โรคเต็มปี (เพิ่มขึ้น 4%) และจะทำให้ประมาณการกำไรปกติปี 2566 ปรับเพิ่มขึ้นได้อีก ~12%
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น BCH ปรับเพิ่มขึ้น 2.03%MoM สู่ระดับ 20.10 บาท ขณะที่ SET Index ปรับลดลง 0.58%MoM อยู่ที่ระดับ 1,610.52 จุด
แนวโน้มผลประกอบการปี 2566 และกลยุทธ์การลงทุน:
InnovestX Research ประมาณการกำไรปกติของ BCH ไว้ที่ 1.8 พันล้านบาท ในปี 2566 ลดลง 56%YoY โดยการลดลงของกำไรนั้นจะเกิดใน 1H66 เนื่องจากฐานที่สูงมากเป็นพิเศษจากบริการโควิดใน 1H65 ซึ่ง Upside ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการปรับเพิ่มค่าเหมาจ่ายรายหัว SC นั้นไม่มากพอที่จะเปลี่ยนทิศทางของกำไรให้เป็นขาขึ้นได้
นอกจากนี้ยังมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบเชิงลบต่อรายได้ค้างรับภายใต้บริการรักษาโรคโควิดของภาครัฐ โดยมีสาเหตุมาจากการลดอัตราการเบิกจ่ายลง ทั้งนี้ ใน 4Q65 BCH ได้บันทึกรายการพิเศษที่เกี่ยวข้องกับบริการโควิดจำนวน 115 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยการปรับลดรายได้ที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิดจำนวน 43 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายตั้งสำรองจำนวน 72 ล้านบาท BCH กล่าวว่า การตั้งสำรองมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องใน 2Q66 จนกว่ารัฐบาลจะตรวจสอบและชำระเงินเสร็จสิ้น แต่จำนวนเงินตั้งสำรองน่าจะต่ำกว่า 4Q65
ด้านราคาหุ้น BCH ที่ปรับตัวลดลง 2% แย่กว่า SETHELTH ที่เพิ่ม 1% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา โดยมีมุมมองที่ว่า BCH ขาดปัจจัยบวกเรื่องผลประกอบการ อย่างไรก็ดี กลยุทธ์การลงทุนยังคงคำแนะนำ Tactical Call ระยะ 3 เดือนสำหรับ BCH ไว้ที่ Neutral ด้วยราคาเป้าหมายสิ้นปี 2566 อ้างอิงวิธี DCF ที่ 24 บาทต่อหุ้น โดยปัจจัยกระตุ้นคือกำไรที่กลับสู่ทิศทางขาขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นใน 2H66
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น การเกิดโรคระบาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบทำให้ผู้ป่วยชะลอการเข้าใช้บริการ การแข่งขันรุนแรง การขาดแคลนบุคลากร และความเสี่ยงด้านกฎหมาย
บทความที่เกี่ยวข้อง
- หุ้นไทย แย่สุดอันดับ 3 ของโลก! ‘ดร.นิเวศน์’ ชี้ 4 สาเหตุสำคัญ ด้าน ‘หมอพงศ์ศักดิ์’ แนะนักลงทุนค้นหา ‘ความสามารถที่ยั่งยืน’ ของตัวเอง
- นักกลยุทธ์ลงทุน ยก ‘หุ้นจีน-อาเซียน’ สินทรัพย์ลงทุนที่เหมาะสุดยามเกิดภาวะ Soft Landing
- ทำความรู้จัก ‘หมี-กระทิง-พิราบ-เหยี่ยว’ และเหล่าสัตว์อื่นๆ มีความหมายอย่างไรในโลกการเงิน