นักดาราศาสตร์ยืนยันการค้นพบดาว Barnard b ดาวเคราะห์หินที่โคจรรอบดาว Barnard’s Star ดาวฤกษ์ดวงเดี่ยวที่อยู่ใกล้กับระบบสุริยะที่สุด
ระบบดาวดังกล่าวอยู่ห่างจากโลกไปประมาณ 6 ปีแสง และเป็นระบบดาวที่อยู่ใกล้ระบบสุริยะเป็นอันดับสองต่อจากระบบ Alpha Centauri อันประกอบด้วยดาวฤกษ์ 3 ดวง และดาวเคราะห์อย่างน้อย 1 ดวง ทำให้ Barnard’s Star เป็นดาวฤกษ์ดวงเดี่ยว (เหมือนดวงอาทิตย์) ที่โคจรอยู่ใกล้โลกที่สุด
ดาวเคราะห์ Barnard b เป็นดาวเคราะห์หินที่มีมวลประมาณ 0.37 เท่าของโลก ถูกพบด้วยข้อมูลจากอุปกรณ์ ESPRESSO ของกล้องโทรทรรศน์ Very Large Telescope ของ ESO ที่ใช้เวลาสำรวจดาวฤกษ์ดวงนี้นานกว่า 5 ปี ที่ตรวจดูการส่ายของดาว Barnard’s Star จากอิทธิพลแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์ที่โคจรอยู่รอบ เรียกว่าเทคนิคความเร็วแนวเล็ง หรือ Radial Velocity
Jonay González Hernández หัวหน้าคณะวิจัยที่ค้นพบดาวเคราะห์ดวงนี้ ระบุว่า “Barnard b เป็นหนึ่งในดาวเคราะห์ที่มีมวลน้อยที่สุดเท่าที่เรารู้จัก และเป็นเพียงไม่กี่ดวงเท่านั้นที่มีมวลน้อยกว่าโลก”
อย่างไรก็ตาม ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงนี้โคจรอยู่ห่างจากดาว Barnard’s Star ไปประมาณ 2.8 ล้านกิโลเมตร โดยใช้เวลาเพียง 3 วันบนโลกในการโคจรครบหนึ่งรอบ โดย González Hernández อธิบายเพิ่มเติมว่า “มันอยู่ใกล้กับดาวฤกษ์เกินไป ต่อให้ดาวฤกษ์ดวงนี้จะมีอุณหภูมิเย็นกว่าดวงอาทิตย์ 2,500 องศาเซลเซียส แต่ก็ยังร้อนเกินกว่าจะพบน้ำในรูปของเหลวบนพื้นผิว” โดย Barnard b มีอุณหภูมิบนพื้นผิวประมาณ 125 องศาเซลเซียส
นอกจากการค้นพบดาว Barnard b นักดาราศาสตร์ยังพบข้อมูลบ่งชี้ถึงการมีอยู่ของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะอีก 3 ดวง ที่ต้องรอการสำรวจเพิ่มเติมผ่านอุปกรณ์ต่างๆ ของกล้อง Very Large Telescope เพื่อยืนยันการค้นพบในภายหลัง
ในปัจจุบันนักดาราศาสตร์ยืนยันการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะอย่างน้อย 5,759 ดวง ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงอื่น หรือลอยล่องอย่างโดดเดี่ยวในห้วงอวกาศอันแสนอ้างว้างและกว้างใหญ่
ข้อมูลการค้นพบครั้งนี้ได้รับการตีพิมพ์ใน Astronomy & Astrophysics เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2024
ภาพ: ESO / M. Kornmesser
อ้างอิง: