เมื่อวานนี้ (1 มิถุนายน) อดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา แนะวิธีที่จะเปลี่ยนให้ช่วงเวลานี้เป็นจุดเปลี่ยน นำไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงในสังคมอเมริกัน โดยพลเมืองจำนวนหลายล้านคนทั่วประเทศได้ออกมาร่วมชุมนุมประท้วงต่อต้านการเหยียดสีผิว หลังจากการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ ชายผู้ตกเป็นเหยื่อของการเลือกปฏิบัติ การใช้ความรุนแรงและความไม่เป็นธรรม คำถามสำคัญคือ เราจะทำให้ช่วงเวลานี้นำไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงได้อย่างไร
อดีตผู้นำสหรัฐฯ นำเสนอบทเรียนขั้นพื้นฐานบางประการ ที่จะช่วยทำให้เราเห็นทางออกของวิกฤตที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ อย่างแรกคือ กระแสของการประท้วงที่เกิดขึ้นทั่วสหรัฐฯ สะท้อนให้เห็นถึงภาพจริงของความไม่พอใจ และความผิดหวังในระบบกฎหมายที่ล้มเหลวมาเป็นระยะเวลานานหลายทศวรรษในการปฏิรูปวิธีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงการทำให้ระเบียบวิธีในการดำเนินคดีทางอาญาเป็นธรรม และครอบคลุมสหรัฐฯ มากยิ่งขึ้น
ผู้ชุมนุมประท้วงส่วนใหญ่ที่ยังคงออกมาเคลื่อนไหวอย่างสันติและกล้าหาญ พวกเขาทุกคนสมควรได้รับการเคารพและสนับสนุน ไม่ใช่การประณาม ในขณะที่ก็มีผู้คนส่วนน้อยบางส่วนฉวยโอกาสใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ทำให้พลเมืองผู้บริสุทธ์ิตกอยู่ในภาวะเสี่ยงอันตราย ทำลายทรัพย์สินของผู้อื่น ผมพึ่งเห็นหญิงสูงวัยคนหนึ่งร้องไห้ขณะให้สัมภาษณ์ว่า ร้านขายของชำเพียงร้านเดียวในละแวกบ้านของเธอพังเสียหายท้ังหมด ถ้าเราเรียนรู้จากประวัติศาสตร์เราจะทราบดีว่า ร้านค้านี้อาจจะใช้ระยะเวลานานหลายปีกว่าจะกลับมาถึงจุดที่เคยเป็นอยู่ก่อนหน้านี้ได้
ดังนั้น อย่าโทษความรุนแรง หรือพยายามหาเหตุผลที่ดีมารองรับการกระทำดังกล่าว หรือพยายามเข้าไปมีส่วนในการใช้ความรุนแรงนั้น ถ้าคุณต้องการระบบกฎหมายที่มีความยุติธรรมและถูกใช้ครอบคลุมทั่วสหรัฐฯ คุณจะต้องขับเคลื่อนมันด้วยหลักศีลธรรม จริยธรรม ออกแบบโมเดลนั้นด้วยตัวของพวกคุณเอง แสดงให้ทุกคนเห็นว่า คุณอยากให้สังคมเป็นอย่างไร ก็เริ่มปฏิบัติจากตัวของคุณเอง
อย่างที่สองคือ มีคนกล่าวว่า “ปัญหาการเลือกปฏิบัติและมีอคติในระบบการดำเนินคดีตามกฎหมายนั้นเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง มีเพียงการชุมนุมประท้วงและการเคลื่อนไหวในประเด็นนี้โดยตรงเท่านั้นที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ การเลือกตั้งและระบบผู้แทนเป็นเรื่องที่เสียเวลา”
ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งตรงจุดนี้ เป้าหมายหลักของการประท้วงคือ การทำให้สาธารณชนรับรู้และตระหนักรู้ถึงความไม่ยุติธรรม ความไม่เท่าเทียมกันที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้มีอำนาจรับรู้ถึงแรงกดดันที่เกิดขึ้นจนยอมรับฟังเสียงของเรา แต่เหนือสิ่งอื่นใด ท้ายที่สุดพลังความมุ่งมั่นเหล่านั้นควรจะต้องถูกแปรเปลี่ยนเป็นกฎหมาย และระเบียบวิธีการปฏิบัติขององค์การ/สถาบัน เพื่อเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหานั้นๆ อย่างแท้จริง และในระบอบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย สิ่งนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราเลือกรัฐบาลและผู้แทนที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของเราได้
ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่สำคัญสำหรับเราทุกคนคือ การทำความเข้าใจว่าการเมืองระดับใดที่มีอิทธิพลต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงในระบบกฎหมาย และวิธีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจมากที่สุด เมื่อพูดถึงการเมือง ทุกคนก็จะนึกถึงแต่การเมืองในภาพใหญ่ มองเห็นแต่ประธานาธิบดีและและรัฐบาลกลางสหรัฐฯ แต่เอาเข้าจริงแล้ว ผู้แทนที่จะมีส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงและปฏิรูประบบและวิธีการปฏิบัติดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นล้วนแล้วแต่อยู่ในระดับรัฐและระดับท้องถิ่นแทบทั้งสิ้น ทั้งนายกเทศมนตรีและผู้บริหารเขตเคาน์ตีต่างๆ ล้วนเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งนายตำรวจในพื้นที่ และมีอำนาจใกล้ชิดกับหน่วยงานยุติธรรมในพื้นที่ พวกเขาทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งแทบทั้งสิ้น แต่น่าเสียดายที่การเลือกตั้งท้องถิ่นแต่ละครั้ง มีคนที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่
ถ้าเราต้องการที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง ทางเลือกไม่ได้อยู่ระหว่างประท้วงหรือใช้วิธีทางการเมือง แต่เราจะต้องทำทั้งคู่ควบคู่กัน เราจะต้องขับเคลื่อนเพื่อสร้างการรับรู้ในสังคม และเราจะต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าเราได้เลือกผู้แทนที่พร้อมที่จะปฏิรูปและตรงกับความต้องการของเราเข้าไปทำหน้าที่ตรงนั้น
ท้ายที่สุด สิ่งที่เป็นความท้าทายสำหรับผู้แทนที่ได้รับเลือกคือ การปฏิรูปให้ระบอบกฎหมายและหน่วยงานยุติธรรมสอดคล้องและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้คนในแต่ละพื้นที่ให้มากที่สุด โอบามาได้แนบรายงานเกี่ยวกับ Public Safety ซึ่งเป็นหนึ่งในงานที่เขาได้ทำขณะที่ยังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีขณะนั้น พร้อมเปิดพื้นที่ให้ทุกคนเข้าถึงแหล่งข้อมูล และหน่วยงานที่ร่วมผลักดันในประเด็นนี้มาตลอดหลายปีที่ผ่านมา
อดีตผู้นำสหรัฐฯ ระบุทิ้งท้ายว่า ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากและอาจรู้สึกท้อแท้ เต็มไปด้วยความกลัว ความเศร้าเสียใจ ความไม่แน่นอน และความทุกข์ยากจากโรคระบาดที่เกิดขึ้น ประกอบกับโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นนี้ที่ช่วยย้ำเตือนเราว่า อคติและความไม่เท่าเทียมกันยังคงมีผลอย่างมากในชีวิตของพลเมืองอเมริกัน แต่การได้เห็นกลุ่มคนรุ่นใหม่จากทุกเชื้อชาติ จากทุกกลุ่มก้อนออกมาเคลื่อนไหวเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผมมีความหวัง ถ้าเราสามารถเปลี่ยนให้กระแสความโกรธเคืองเหล่านี้ กลายเป็นการกระทำที่สันติ ช่วยค้ำจุนกันและกันได้ นี่อาจเป็นช่วงเวลาที่เป็นจุดเปลี่ยนที่แท้จริงในการเดินทางที่ยาวนานของชาติเรา ที่จะยกระดับให้มันไปถึงจุดสูงสุดที่เราคาดหวังไว้
ภาพ: Getty Images
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: