บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ร่วมกับพาร์ตเนอร์ บริษัท ดูราเพาเวอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ ผลิต และติดตั้งระบบแบตเตอรี่จัดเก็บพลังงานแบบลิเธียมไอออน (LiB) สำหรับรถยนต์และระบบไฟฟ้าสำรอง
เปิดตัวโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนมาตรฐานโลกในเมืองซูโจว ประเทศจีน อย่างเป็นทางการ เพื่อขยายกำลังผลิตให้สูงสุดในอาเซียนที่สามารถรองรับการผลิตได้ถึง 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง
โรงผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแห่งนี้ของบ้านปูจะสามารถรองรับแผนเชิงรุกในการขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นในยุโรป จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ไทย และภูมิภาคอาเซียนที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันกว่า 20 ประเทศ เพื่อตอบโจทย์ทิศทางตลาดแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะความนิยมที่เพิ่มขึ้นสูงของยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ทั้งประเภทรถบัส รถบรรทุก ระบบการกักเก็บพลังงานสำหรับบ้านพักอาศัย และโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ในระบบการกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System)
สมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงแผนการเปิดโรงแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแห่งใหม่ในจีนนี้ว่าบ้านปูต้องการขยายธุรกิจที่ตอบโจทย์เทรนด์ความยั่งยืนและสร้างการเติบโตให้กับกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน โดยนอกจากนี้ยังได้เข้าถือหุ้น 47% ของบริษัท ดูราเพาเวอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด อีกด้วย
“การลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่ที่มีมาตรฐานระดับโลกเช่นนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองการเสริมศักยภาพ สร้างความแข็งแกร่ง และสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดดให้กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน ตลอดจนขับเคลื่อนการใช้พลังงานทดแทนในประเทศไทยและในระดับสากลให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง”
บ้านปูและดูราเพาเวอร์มุ่งพัฒนาโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนในเมืองซูโจว ประเทศจีน ให้มีระบบการดำเนินงานและการผลิตที่มีศักยภาพมากขึ้น โดยนำเทคโนโลยีขั้นสูงในระบบออโตเมชันมาใช้ภายในโรงงาน พร้อมขยายกำลังการผลิตจากเมื่อปี 2561 ที่มีกำลังผลิตรวมสูงสุดต่อปีอยู่ที่ 80 เมกะวัตต์ชั่วโมงให้รองรับแผนการผลิตได้ถึง 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง ส่งผลให้โรงงานแห่งนี้มีกำลังผลิตสูงสุดในภูมิภาคอาเซียน
พร้อมกันนี้ยังมีการเปิดเผยอีกด้วยว่าบ้านปูยังมีแผนจะขยายกำลังการผลิตของโรงงานซูโจวให้เพิ่มขึ้นในอนาคต เพื่อรองรับแผนการบุกตลาดระบบกักเก็บพลังงานแบบติดตั้งอยู่กับที่ (Stationary Energy Storage System) ของบ้านปูในปี 2563
โดยโรงงานแห่งนี้ยังมีศักยภาพที่จะสามารถรองรับการขยายไลน์การผลิตได้สูงสุดถึง 3 กิกะวัตต์ชั่วโมง
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์