×

ปัญหาละเอียดอ่อนของการแบนหลอดพลาสติก

10.09.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • มีรายงานว่า ในปี 1950 มีการผลิตหลอดพลาสติกออกมาราว 1.5 ล้านตัน และในปี 2015 การผลิตหลอดพลาสติกเพิ่มปริมาณขึ้นเป็น 322 ล้านตัน ทำให้หลอดพลาสติกกลายเป็นผู้ร้ายตัวเอ้ของการสร้างขยะพลาสติกในทะเล
  • ปัจจุบันหลายเมืองทั่วอเมริกาสั่งห้ามการใช้หลอดพลาสติกในร้านอาหาร และการแบนหลอดพลาสติกกำลังกลายเป็นเทรนด์ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็มีบางเสียงท้วงติงจากอีกหลายมุมคิดว่าด้วยพลาสติกที่น่ารับฟัง
  • การแบนหลอดพลาสติกแม้จะเป็นเรื่องดี แต่โปรดอย่าลืมว่ายังมีเรื่องอื่นๆ อีกมากที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมในระดับมหึมามหาศาล เช่น การปล่อยคาร์บอนของจีนหรือของสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงการใช้ผลิตภัณฑ์จากพลาสติกประเภทที่รีไซเคิลไม่ได้อื่นๆ ซึ่งยังมีอยู่อีกมากมาย แค่งดใช้หลอดเท่านั้นยังไม่พอ

พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว หรือ Single-Use Plastic คือสิ่งที่กำลังพ้นสมัยอย่างยิ่ง ใครๆ ก็รู้ว่ามันเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง เราจึงเห็นขบวนการต่อต้านการใช้หลอดพลาสติก รวมไปถึงการขับเคลื่อนขององค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมากมายทั่วโลก เพื่อผลักดันให้เกิดการเลิกใช้หลอดพลาสติก

 

ในพอดแคสต์ 99% Invisible มีอยู่ตอนหนึ่งชื่อ The First Straw เล่าถึง ‘ประวัติศาสตร์ของหลอด’ เอาไว้ โดยบอกว่า ที่จริงแล้วหลอดมีที่มาตั้งแต่ยุคโบราณ เท่าที่รู้กัน ยุคแรกสุดน่าจะเป็นหลอดของชาวสุเมเรียนที่เอาไว้ดูดเบียร์

 

แน่นอน หลอดยุคโบราณย่อมไม่ใช่หลอดพลาสติก แต่เท่าที่มีหลักฐานเหลือรอดมาจนถึงปัจจุบันก็ไม่ใช่หลอดไก่กานะครับ ทว่าหลอดของชาวสุเมเรียนที่มีอายุเก่าแก่ถึง 3,000 ปีก่อนคริสตกาลนั้นเป็นหลอดทองคำกันเลยทีเดียว (ถึงได้เหลือรอดมาได้ไงครับ)

 

อย่างไรก็ตาม หลอดที่เป็นที่นิยมกันมากและเชื่อว่าน่าจะเป็นต้นกำเนิดคำว่า Straw แบบเดียวกับฟาง ก็คือหลอดที่ทำจากฟางข้าวไรย์ ซึ่งฮิตกันมากในศตวรรษที่ 19 แล้วต่อมาก็มีวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ กลายเป็นหลอดที่ทำจากกระดาษจุ่มขี้ผึ้งเพื่อให้ทนทานต่อความเปียกชื้น

 

โดยคนแรกที่คิดค้นหลอดกระดาษจุ่มขี้ผึ้งขึ้นมาก็คือ มาร์วิน สโตน (Marvin Stone) เพราะเขาดื่มเครื่องดื่มอย่างมินต์จูเลปด้วยหลอดฟาง แล้วพบว่ารสชาติของฟางข้าวไรย์มันไปกวนรสชาติของเครื่องดื่ม เขาก็เลยคิดค้นวิธีใหม่ขึ้นมา โดยการเอากระดาษมาพันรอบดินสอ ทำให้เกิดเป็นท่อบางๆ แล้วติดกาวเคลือบขี้ผึ้ง ก็เลยได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และกลายเป็นต้นแบบของหลอดที่ต่อมามีคนทดลองใช้วัสดุต่างๆ แทนกระดาษ

 

วัสดุหนึ่งที่คนนิยมใช้กันมากก็คือพลาสติก

 

หลอดพลาสติกมีคุณสมบัติหลายอย่างที่เหมาะสมต่อการดูด เช่น มันมีความยืดหยุ่น ราคาถูก ใช้แล้วทิ้งได้ จึงไม่ต้องกลัวเรื่องสุขอนามัยที่เกิดจากการล้างหลอดไม่สะอาด

 

หลอดกระดาษนั้นครองตลาดมาได้จนถึงราวๆ ยุค 60s แต่หลังจากนั้นหลอดกระดาษก็ถูก Disrupt จากหลอดพลาสติก ทำให้หลอดกระดาษตายลงช้าๆ ในช่วง 10 ปีของยุค 60s เมื่อก้าวเข้าสู่ยุค 70s แล้ว ก็แทบเรียกได้ว่าหลอดพลาสติกนั้นครองโลก

 

มีรายงานว่า ในปี 1950 มีการผลิตหลอดพลาสติกออกมาราว 1.5 ล้านตัน และในปี 2015 การผลิตหลอดพลาสติกเพิ่มปริมาณขึ้นเป็น 322 ล้านตัน ซึ่งมหาศาลมาก และทำให้หลอดพลาสติกกลายเป็นผู้ร้ายตัวเอ้ของการสร้างขยะพลาสติกในทะเล

 

ปัจจุบันมีเมืองจำนวนมากทั่วอเมริกาที่สั่งห้ามการใช้หลอดพลาสติกในร้านอาหาร และดูเหมือนการไม่ใช้หลอดพลาสติกก็จะกลายเป็นเทรนด์ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่กระนั้นก็มีบางเสียงท้วงติงจากอีกหลายมุมคิดว่าด้วยพลาสติกที่น่ารับฟัง

 

กระทั่งในพอดแคสต์ของ 99% Invisible เอง ก็ยังมีผู้เสนอว่าการแบนหลอดพลาสติกแม้จะเป็นเรื่องดี แต่โปรดอย่าลืมว่ายังมีเรื่องอื่นๆ อีกมากที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมในระดับมหึมามหาศาล เช่น การปล่อยคาร์บอนของจีนหรือของสหรัฐอเมริกา ที่ยังไม่ได้ลดลงจนอยู่ในตัวเลขที่สบายใจได้ รวมไปถึงการใช้ผลิตภัณฑ์จากพลาสติกประเภทที่รีไซเคิลไม่ได้อื่นๆ ซึ่งยังมีอยู่อีกมากมาย แค่งดใช้หลอดเท่านั้นยังไม่พอ

 

นอกจากนี้ยังมีเสียงแย้งมาจากกลุ่มผู้พิการหรือช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อีกจำนวนหนึ่งด้วยว่า พวกเขาจำเป็นต้องใช้หลอดพลาสติก ซึ่งเรื่องนี้ถ้าย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ เราจะเห็นว่าในโรงพยาบาลมีการใช้หลอดเพื่อป้อนน้ำและอาหารให้กับผู้ป่วยมาตั้งแต่ยุค 30s แล้ว เนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถจิบน้ำจากแก้วได้ การใช้หลอดในโรงพยาบาลจึงเป็นเรื่องจำเป็น

 

บทความนี้ของ Vox ตั้งข้อสังเกตต่อกระแสต่อต้านการใช้หลอดพลาสติกว่า ร้อนแรงเกินไปหรือเปล่า โดยคนแรกๆ ที่ออกมาแสดงความกังวลเรื่องนี้ก็คือ คิม ซอว์เดอร์ (Kim Sauder) เธอใช้ทวิตเตอร์ @crippledsholar ซึ่งบ่งบอกไปถึงหน้าที่การงานของเธอ เพราะเธอเป็นนักวิชาการที่ทำงานด้านผู้พิการ (Disability Studies) เธอบอกว่า การแบนหลอดพลาสติกนั้นดีอยู่ แต่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่ามีคนที่จำเป็นต้องใช้หลอดพลาสติกอยู่จริงๆ ดังนั้น การแบนหลอดพลาสติกจึงไม่สามารถเป็นเรื่องสากล หรือแบนหมดทั้งจักรวาลได้

 

หลายคนแย้งว่า ผู้ป่วยหรือผู้พิการก็ใช้หลอดอื่นๆ ได้นี่นา เช่น หลอดซิลิโคน หลอดแก้ว หรือหลอดโลหะ ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่ปัญหาก็คือ หลอดเหล่านี้ทำความสะอาดยาก โดยเฉพาะเมื่อบุคลากรทางการแพทย์ในปัจจุบันมีไม่เพียงพอ และผู้ป่วยที่มีปัญหาถึงขั้นต้องใช้หลอดก็ไม่สามารถลุกขึ้นมาจัดการอะไรเหล่านี้ได้ หลอดเหล่านี้จึงเสี่ยงจะสร้างปัญหาเรื่องสุขอนามัย ดังนั้น การรักษาสิ่งแวดล้อมจึงต้องเกิดขึ้นโดยบาลานซ์กับความต้องการของผู้พิการด้วย

 

ปัจจุบันนี้ หลอดที่กลับมาได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นก็คือที่เรียกว่า PLA หรือ Polylactic Acid ซึ่งทำจากแป้งข้าวโพด จึงเป็นทรัพยากรแบบนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพราะคิดว่าดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าหลอดพลาสติก แต่บทความนี้  ได้ทดลองแยกย่อยดูว่า หลอดประเภทต่างๆ ที่ทำจากวัสดุต่างกัน เช่น หลอดจาก PLA หรือ Polylactic Acid ซึ่งเป็นวัสดุนำกลับมาใช้ใหม่ ผลิตจากแป้ง, หลอดกระดาษ กับหลอดโลหะ อย่างไหนดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่ากัน

 

พบว่าหลอด PLA นั้นไม่ได้ดีต่อสิ่งแวดล้อมเลย ในขณะเดียวกันหลอดกระดาษก็มีราคาแพงกว่า และหลอดอื่นๆ เช่น หลอดสเตนเลสสตีลและหลอดแก้ว ก็ต้องทำความสะอาดบ่อยๆ ซึ่งหากมีการใช้จริงอย่างยั่งยืนก็ดีไป แต่ก็อาจมีแนวโน้มว่าใช้ไปได้ไม่นาน เมื่อรู้สึกว่าสกปรกก็อาจจะทิ้งแล้วซื้อหลอดใหม่ ซึ่งก็ยิ่งสิ้นเปลืองต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

 

ที่สำคัญก็คือการแบนหลอดพลาสติกนั้น เมื่อเกิดเป็นกระแสขึ้นมาแล้วก็อาจเข้าข่าย Slaktivism หรือการโปรโมตกันในโซเชียลมีเดียอย่างครึกโครมแต่ไม่ได้ปฏิบัติจริง ทำให้เกิดภาพลวงว่าผู้คนหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้นแล้วด้วยการไม่ใช้หลอด แต่ที่จริงปัญหายังคงอยู่

 

แน่นอน หลอดพลาสติกมีปัญหา แต่วิธีรณรงค์และการหาวิธีบังคับใช้เพื่อลด ละ และเลิกการใช้หลอดพลาสติกนั้น ลึกๆ แล้วก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนเหมือนกันกับเรื่องอื่นๆ ทุกเรื่องนั่นแหละครับ

 

อย่าให้การแบนหลอดพลาสติกเป็นแค่กระแส แต่ต้องทำจริง และทำอย่างละเอียดอ่อนต่อคนทุกกลุ่มด้วย

 

ภาพประกอบ: Karin Foxx

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising