หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา มีการสังเกตว่าการส่งผ่านนโยบายการเงินรอบนี้ดูเหมือนจะชะลอตัวเมื่อเทียบกับ 2 รอบก่อนหน้า
โดยหลังผ่านไป 2 สัปดาห์พบว่ามีธนาคารพาณิชย์เพียง 2 แห่งเท่านั้นที่ประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากลง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และธนาคารกรุงไทย (KTB)
อย่างไรก็ดี รอบนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) เร่งลดอัตราดอกเบี้ยตามมติ กนง. ได้อย่างรวดเร็วกว่า
โดย EXIM BANK ถือเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐรายแรกที่ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ Prime Rate (เทียบเท่า MRR): 6.15% โดยลดลงจากเดิม 0.10% ให้มีผลวันที่ 14 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป
จากการรวบรวมข้อมูลของ THE STANDARD WEALTH พบว่า ปัจจุบันบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นธนาคารที่มีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ Prime Rate (เทียบเท่า MRR) ต่ำที่สุดในระบบธนาคารไทย โดยอยู่ที่ 5.85% ต่อปี
ผ่านไป 2 สัปดาห์ มีธนาคารพาณิชย์ลดดอกเบี้ยเพียง 2 แห่ง
โดยธนาคารกรุงเทพ (BBL) เป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกที่นำร่องปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.05-0.10% รวมถึงดอกเบี้ยเงินฝากลง ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา
ขณะที่ธนาคารกรุงไทย (KTB) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.15% ต่อปี และปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 0.075-0.20% ต่อปี โดยให้มีผลในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้
ดอกเบี้ยนโยบายยิ่งต่ำยิ่งเห็นผลน้อยลง
สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า หลังจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายรอบล่าสุดของ กนง. อาจจะยังเห็นการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Transmission) ได้ไม่เต็มที่
“โดยรอบนี้อาจจะมีธนาคารของรัฐและธนาคารขนาดใหญ่ที่ลด (อัตราดอกเบี้ยเงินกู้) ลงมา แต่ไม่ได้เยอะเท่าเดิม และลดน้อยลงกว่าช่วงที่ กนง. ลดดอกเบี้ย 2 ครั้งก่อนหน้า” สักกะภพกล่าวในงาน Monetary Policy Forum ครั้งที่ 1/2568
โดยสักกะภพยังอธิบายด้วยว่า จากผลการศึกษาทั่วโลกพบว่ายิ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายเริ่มต่ำ ประสิทธิภาพของนโยบายการเงินก็จะเริ่มลดลง นอกจากนี้ภาวะที่ความไม่แน่นอนสูงในปัจจุบัน ประสิทธิผลของของดอกเบี้ยก็จะลดลงด้วย
อย่างไรก็ดี สักกะภพย้ำว่า ธปท. จะคอยติดตามว่าผลการส่งผ่านจะเป็นอย่างไรต่อไป
ขณะที่ ปิติ ดิษยทัต รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวเสริมว่า การส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Transmission) สามารถทำได้ผ่านหลายช่องทาง
โดยอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ก็เป็นหนึ่งในช่องทางหลัก ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่และต้องใช้เวลาระดับหนึ่ง เนื่องจากในการตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ย ธนาคารพาณิชย์ไม่ได้พิจารณาแค่ดอกเบี้ยนโยบายเพียงอย่างเดียว แต่ต้องพิจารณาบริบทของธุรกิจและเศรษฐกิจโดยรวมด้วย
นอกจากนี้ปิติยังอธิบายด้วยว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังสามารถส่งผ่านได้ในช่องทางอื่นๆ อีก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นบรรทัดฐานของการกู้ยืมทั้งในตลาดทุนและอัตราแลกเปลี่ยนด้วย สะท้อนว่ามีผลในวงกว้าง
ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย