×

แม้รอดพ้นผลกระทบวิกฤตแบงก์ล่มได้ แต่ธนาคารในอาเซียนกำลังเผชิญความเสี่ยงด้านสินเชื่อ และปัญหารายได้จากดอกเบี้ยที่ลดลงแทน

05.05.2023
  • LOADING...
ธนาคารในอาเซียน

แม้ว่าธนาคารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ยังไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตในภาคธนาคารฝั่งตะวันตก อย่างไรก็ตาม ธนาคารหลายแห่งในอาเซียนกลับกำลังเผชิญกับความเสี่ยงด้านสินเชื่อ และส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยรับ-จ่ายสุทธิ (NIM) ที่จ่อลดลง ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน 

 

ขณะที่ธนาคารหลายแห่งในสหรัฐฯ และยุโรป กำลังประสบปัญหาการไหลออกของเงินฝาก หรือราคาหุ้นตกต่ำ หลังจากธนาคารกลางเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อสกัดการเพิ่มขึ้นอัตราเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ บรรดาธนาคารในอาเซียนยังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนว่ากำลังประสบปัญหาในลักษณะเดียวกันกับธนาคารฝั่งตะวันตก

 

กระนั้น ในรายงานของหน่วยวิจัยของ HSBC เมื่อเดือนที่แล้ว ยังระบุถึง ‘ช่องโหว่ความเปราะบาง’ ภายในภาคธนาคารในอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ

 

ตัวอย่างเช่น ในประเทศไทย คาดว่าจะเห็นสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) สำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) พุ่งขึ้นสู่ระดับวิกฤตการเงินโลก (Global Financial Crisis-Levels) ควบคู่ไปกับหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น

 

โดยรายงานยังระบุว่า ธนาคารในฟิลิปปินส์ NPL โดยรวมยังคงสูงที่สุดในบรรดาธนาคารในอาเซียน ขณะที่ธนาคารเวียดนามยังคงมีความล่าช้าในแง่ของการปฏิรูปภาคธนาคารอยู่

 

สิงคโปร์เตรียมเผชิญปัญหาส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ทรุด!

ขณะที่หลายธนาคารในสิงคโปร์ ไม่ว่าจะเป็น DBS Group Holdings และ United Overseas Bank (UOB) ซึ่งเป็นหนึ่งในธนาคารรายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ได้พลิกฟื้นผลกำไรเป็นประวัติการณ์เมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ก็ยังมีความกังวลต่ออนาคตข้างหน้า

 

DBS ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากพิจารณาจากสินทรัพย์ทั้งหมด เพิ่งรายงานเมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมว่า กำไรสุทธิในไตรมาสแรกของปีนี้ (มกราคม-มีนาคม) เพิ่มขึ้น 43% จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 2.57 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (หรือกว่า 6.5 หมื่นล้านบาท)

 

อย่างไรก็ตาม Piyush Gupta ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของ DBS กลับกล่าวเตือนว่า ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) เป็นเครื่องชี้ที่สะท้อนความสามารถในการหารายได้ของธนาคารพาณิชย์ จากส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยรับ (ซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ ปริมาณเงินกู้และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้) และดอกเบี้ยจ่าย อาจลดลงในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนเงินฝากคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

 

ทั้งนี้ โดยทั่วไปแล้วธนาคารในสิงคโปร์จะปฏิบัติตามนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในการกำหนดดอกเบี้ยเงินกู้

 

โดย UOB ดูเหมือนจะเผชิญปัญหา NIM ลดลงแล้ว หลังจากเมื่อเดือนที่แล้ว ธนาคารได้รายงานกำไรสุทธิ 1.51 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในไตรมาสแรก เพิ่มขึ้น 67% เมื่อเทียบจากปีก่อน อย่างไรก็ตาม NIM ของ UOB ลดลง 0.08% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยอยู่ที่ 2.14%

 

ขณะที่ธนาคารอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็กำลังกังวลเกี่ยวกับหนี้สูญ (Bad Debt) เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นกดดันผู้กู้ที่พยายามชำระคืนเงินกู้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X