×

วิกฤตธนาคารส่อยืดเยื้อฉุดเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอ จับตาหน่วยงานกำกับ ‘ขันน็อต’ คุมความเสี่ยงแบงก์ไซส์กลางและ Non-Bank

28.03.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ปัญหาภาคธนาคารชาติตะวันตกยังมีแนวโน้มยืดเยื้อและมีโอกาสจะเกิดการล้มละลายเพิ่มเติม แต่การเข้ามาดูแลอย่างรวดเร็วของธนาคารกลาง ทำให้สถานการณ์จะไม่ลุกลามเป็นวิกฤตการเงินโลก
  • สหรัฐฯ อาจเพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลธนาคารขนาดกลาง รวมไปถึงกลุ่ม Non-Bank เช่น Hedge Fund, Private Equity, และ Venture Capital เพื่อป้องกันเหตุการณ์ซ้ำรอย
  • การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจของโลกอาจเข้ามามีส่วนผลักดันกฎระเบียบทางการเงินมากขึ้นเรื่อยๆ แบงก์ใหญ่ในยุโรปมีโอกาสควบรวมกิจการกันตามรอย UBS และ Credit Suisse
  • ปัญหาภาคธนาคารจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงมากกว่าเดิม และมีแนวโน้มสูงขึ้นที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยบางไตรมาสในช่วงครึ่งหลังของปี

ในเวลาเพียงแค่ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้เห็นปรากฏการณ์ที่ธนาคารขนาดกลางและเล็กในสหรัฐฯ ได้แก่ Silicon Valley Bank (SVB) และ Signature Bank รวมถึงสถาบันการเงินระดับยักษ์ใหญ่ของยุโรปที่มีอายุถึง 167 ปีอย่าง Credit Suisse เผชิญปัญหาวิกฤตความเชื่อมั่นจนนำไปสู่ภาวะ Bank Run ทำให้หน่วยงานกำกับต้องเข้ามาช่วยอุ้ม

 

วิกฤตส่อยืดเยื้อ แต่ไม่ลุกลาม

กรณีของสหรัฐฯ ดูเหมือนว่าปัญหาในขณะนี้ยังมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อ ไม่น่าจะจบลงง่ายๆ เนื่องจากมีธนาคารหลายแห่งที่ถูกจับตามองว่ายังไม่ได้แก้ไขปัญหางบดุล เช่น การกระจุกตัวของเงินฝาก หรือการบริหารความเสี่ยงอัตราดอกเบี้ย ซึ่งส่งผลให้ผู้ฝากเงินยังขาดความมั่นใจ 

 

นอกจากนี้การที่ทางการสหรัฐฯ มีเจตนาที่จะแก้ไขปัญหาโดยไม่ใช้เงินภาษีของประชาชน ทำให้การตัดสินใจอาจใช้เวลา อีกทั้งธนาคารที่จะเข้ามาซื้อกิจการในธนาคารที่ประสบปัญหาคงใช้เวลาในการตัดสินใจเช่นกัน สุดท้ายแล้วเราจึงยังน่าจะได้เห็นการล้มละลายของธนาคารขนาดเล็กจนไปถึงขนาดกลางในสหรัฐฯ เกิดขึ้นเพิ่มเติมได้อีก

 

ขณะที่ในกรณีของยุโรปหลังจากที่ธนาคารกลางสวิส (SNB) ได้คลุมถุงชนให้ 2 ธนาคารที่เป็นคู่แข่งกันมานานแต่งงานกัน โดยมีการให้สินเชื่อพิเศษและการันตีว่าจะช่วยแบกรับการขาดทุนที่อาจเกิดขึ้นจากดีลนี้ให้กับธนาคาร UBS ที่เป็นผู้เข้าไปซื้อกิจการของ Credit Suisse 

 

ขณะเดียวกัน SNB ก็มีการตัดสินใจที่สำคัญคือ การทำให้ตราสารหุ้นกู้แปลงสภาพ AT1 (ชื่อเล่นว่า Coco Bond) ถูก Write Off จากมูลค่าประมาณ 17,300 ล้านดอลลาร์กลายเป็นศูนย์ จนมีผลกระทบกับกองทุนหลายรายและที่สำคัญส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อตราสารประเภทนี้ทั้งหมดที่มีตลาดใหญ่มูลค่าถึง 275,000 ล้านดอลลาร์

 

ล่าสุดดูเหมือนว่าความกังวลต่อการติดเชื้อ (Contagion) ได้เริ่มลุกลามไปถึง Deutsche Bank ของเยอรมนี โดยในวันศุกร์ที่ผ่านมา (24 มีนาคม) ราคาหุ้นของ Deutsche Bank ร่วงลงมากถึง 15% สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน ทำให้ Market Value ของ Deutsche Bank ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของเยอรมนี หายไปราว 3 พันล้านดอลลาร์ภายในเวลาเพียงสัปดาห์เดียว

 

ข้อมูลจาก S&P Market Intelligence ระบุว่า Credit Default Swaps (CDS) ของ Deutsche Bank ซึ่งเป็นรูปแบบการประกันสำหรับผู้ถือหุ้นกู้ของธนาคาร เพื่อป้องกันความเสี่ยงจาการผิดนัดชำระหนี้ พุ่งขึ้นเหนือ 220 Basis Point (bps) สูงที่สุดนับตั้งแต่ปลายปี 2018 จาก 142 bps เมื่อ 2 วันก่อน

 

นอกจากนี้ CDS ของธนาคารรายใหญ่ๆ ในยุโรปก็ปรับตัวขึ้นทั่วกระดานในวันศุกร์ ซึ่งสะท้อนถึงความไม่เต็มใจแบกรับความเสี่ยงของนักลงทุนในพอร์ตการลงทุน

 

อย่างไรก็ดี การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางชั้นนำอีก 5 แห่ง ได้แก่ธนาคารกลางแคนาดา (BOC), ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE), ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ), ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และ SNB เข้ามาดูแลสภาพคล่องของระบบอย่างรวดเร็วผ่าน Swap Line รวมถึงการตื่นตัวของธนาคารกลางยุโรป ทำให้มุมมองส่วนใหญ่ในตลาดยังเชื่อว่า สถานการณ์จะไม่ลุกลามจนกลายเป็นวิกฤตการเงินโลก

 

เล็ง ‘ขันน็อต’ คุมความเสี่ยง

สิ่งที่ตลาดเริ่มให้ความสนใจในเวลานี้คือ บรรดาธนาคารกลางของชาติต่างๆ ที่ประสบปัญหารวมถึงได้รับผลกระทบในครั้งนี้จะมีการปรับปรุงกฎหมายการกำกับดูแลภาคธนาคารของตัวเองอย่างไร เพราะเมื่อย้อนกลับไปในอดีตจะพบว่า ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินครั้งใหญ่ๆ สิ่งที่มักจะตามมาเสมอคือ มาตรการกำกับดูแลที่เข้มงวดขึ้น

 

เมื่อเร็วๆนี้ John Micklethwait บรรณาธิการบริหารของสำนักข่าว Bloomberg ได้เขียนบทความชวนคิดว่า วิกฤตภาคธนาคารของสหรัฐฯ ในรอบนี้อาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น ในกรณีของ SVB จะเห็นว่าเกณฑ์การกำกับดูแลธนาคารที่มีขนาดสินทรัพย์ต่ำกว่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์ของสหรัฐนั้นย่อหย่อนลงมาจากการผ่อนคลายกฎหมายของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ในปี 2018 ซึ่งลดจำนวนการทำ Stress Test และปรับลดเกณฑ์เงินกองทุน สภาพคล่อง และแผนรองรับกรณีที่มีปัญหาทางการเงินของธนาคารกลุ่มนี้ลงมา

 

หนึ่งในตัวอย่างที่ John Micklethwait ยกขึ้นมาให้เห็นภาพคือ การที่ SVB สามารถดำเนินธุรกิจโดยไม่มีประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความเสี่ยง หรือ Chief Risk Officer เป็นเวลาถึง 7 เดือน นอกจากนี้ยังไม่มีการตรวจสอบตลาดบอนด์ที่ตัวเองเข้าไปลงทุนไว้เป็นสัดส่วนสูง แต่กลับไปให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านความยั่งยืนที่กำลังเป็นกระแสแทน

 

อีกปัจจัยสำคัญที่ John Micklethwait มองว่าเป็นต้นตอของปัญหาในครั้งนี้คือ การที่บรรดาธนาคารกลางที่กดดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำยาวนานเกินไป และเมื่อจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยก็ปรับขึ้นอย่างรวดเร็วเกินไป โดยเขาระบุว่า การกดดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำยาวนานเกินไปมักจะนำมาซึ่งภาวะฟองสบู่ อย่างไรก็ดี เขาก็เข้าใจว่าหน้าที่ของธนาคารกลางคือการดูแลเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งโจทย์ใหญ่ในเวลานี้ยังเป็นเงินเฟ้อ ทำให้ไม่สามารถหยุดขึ้นดอกเบี้ย เพื่อช่วยเหลือธนาคารที่มีปัญหาเพียงไม่กี่แห่งได้

 

ทั้งนี้ บก.บห. ของ Bloomberg เชื่อว่า บทเรียนในครั้งนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์การกำกับดูแลภาคธนาคารของสหรัฐฯ อีกครั้ง โดยมีความเป็นไปได้ที่กลุ่มขนาดกลางที่มีขนาดสินทรัพย์ตั้งแต่ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ไปจนถึง 2.5 แสนล้านดอลลาร์ รวมถึงกลุ่ม Non-Bank เช่น Hedge Fund, Private Equity, และ Venture Capital อาจถูกกำกับดูแลมากขึ้น 

 

‘โลกแบ่งขั้ว’ สะเทือนถึง ‘ระเบียบการเงินโลก’

อย่างไรก็ดี John Micklethwait มองว่า การเปลี่ยนแปลงกฎในรอบนี้จะมีความแตกต่างจากในช่วงวิกฤตปี 2008 ที่ธนาคารกลางใหญ่ร่วมมือกันในระบบการเงินโลก เพราะเศรษฐกิจโลกปัจจุบันกำลังอยู่ในยุคแห่งการแบ่งขั้วออกเป็นหลายๆ กลุ่ม แต่ละประเทศมีแนวคิดที่จะกีดกันขั้วตรงข้ามออกจากห่วงโซ่อุปทานของตัวเอง และเร่งพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อครองความได้เปรียบ

 

ซึ่งผลประโยชน์ของชาติเหล่านี้นี่เองจะเข้ามามีส่วนผลักดันกฎระเบียบทางการเงินมากขึ้นเรื่อยๆ ยุคของการควบรวมและซื้อกิจการข้ามพรมแดนอาจสิ้นสุดลง ธนาคารขนาดใหญ่ทั่วโลกอาจต้องเผชิญแนวการกำกับดูแลที่แยกส่วนมากขึ้น โดยมีกฎและลำดับความสำคัญที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค และจะต้องปรับตัวให้เข้ากับความเป็นจริงใหม่ที่รัฐบาลมองว่าพวกเขาไม่ได้เป็นแค่ตัวแสดงทางเศรษฐกิจ แต่เป็นทรัพย์สินทางยุทธศาสตร์ในการแข่งขันระหว่างประเทศต่างๆ

 

John Micklethwait ยกตัวอย่างถึงกรณีของ SVB ที่แม้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะเป็นปัญหาเฉพาะตัวที่เกิดจากสภาพคล่อง ไม่ได้เกิดจากความเสี่ยงของระบบ แต่สหรัฐฯ ก็เลือกที่จะเข้าอุ้ม เนื่องจาก SVB เป็นธนาคารที่มีฐานลูกค้ากลุ่มเทคโนโลยีอยู่เป็นจำนวนมาก หากปล่อยให้ล้มไปก็จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีของตัวเอง ซึ่งจะสร้างความเสียหายใหญ่หลวง โดยเฉพาะในยามที่การแข่งขันกับจีนเข้มข้นขึ้นในปัจจุบัน

 

กรณี UBS เข้าซื้อกิจการ Credit Suisse ก็มีความคล้ายคลึงกัน เพราะโดยปกติการปล่อยให้ธนาคารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเข้าซื้อกิจการของคู่แข่งอันดับ 2 ย่อมเข้าข่ายการผูกขาดในตลาดเสรี แต่ในกรณีเห็นได้ชัดว่า ทางการสวิตเซอร์แลนด์ต้องการรักษาความยิ่งใหญ่ของธุรกิจการเงินการธนาคารของสวิสเอาไว้นั่นเอง

 

John Micklethwait คาดว่า การควบรวมกันของ UBS และ Credit Suisse จนมีขนาดใหญ่กว่าคู่แข่งรายอื่นๆ ในภูมิภาค อาจทำให้มีการควบรวมกิจการของธนาคารขนาดใหญ่ในยุโรปเคสอื่นๆ ตามมา 

 

โดยสรุป John Micklethwait เชื่อว่า “เรากำลังจะได้เห็นการถือกำเนิดของระบบทุนนิยมทางการเงินในรูปแบบใหม่ ที่ธนาคารเริ่มมีความเกี่ยวพันกับรัฐบาลมากขึ้น และรัฐบาลกำลังเลือกผู้ชนะและพยายามสนับสนุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งระบบนี้จะได้รับการตอบรับจากนักการเมืองเป็นอย่างดีอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะมันเพิ่มอำนาจการควบคุมเศรษฐกิจให้กับฝ่ายการเมือง” 

 

ห่วงวิกฤตแบงก์ฉุดเศรษฐกิจสหรัฐฯ

ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่ทางการสหรัฐฯ จะปรับปรุงกฎหมายการกำกับดูแลภาคธนาคารให้เข้มงวดขึ้นสำหรับธนาคารขนาดกลางและเล็ก โดยอาจย้อนกลับไปใช้กฎหมายที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับกฎหมาย Dodd-Frank ที่ออกมาในปี 2010 ในยุคของโอบามา ซึ่งหากมีการดำเนินการได้จริงในทางปฏิบัติ ก็อาจทำให้ธนาคารระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น กระทบผลประกอบการธนาคารกลุ่มดังกล่าวในระยะกลาง

 

“ต้องจับตาดูว่ากฎหมายใหม่นี้จะสามารถผ่านสภาได้หรือไม่ เพราะฝ่ายรีพับลิกันคงไม่อยากให้ตัวเองถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งในการก่อวิกฤตจากการแก้กฎหมายในปี 2018 ยิ่งจังหวะการเลือกตั้งใกล้เข้ามาด้วย” ธัญญลักษณ์กล่าว

 

ทั้งนี้ ธัญญลักษณ์คาดการณ์ว่า ปัญหาภาคธนาคารจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงมากกว่าเดิม และมีแนวโน้มสูงขึ้นที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยบางไตรมาสในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งภาพความกังวลข้างต้นสะท้อนผ่านโมเมนตัมการปรับดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ในการประชุมครั้งล่าสุดที่ผ่อนคันเร่งลงด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จากช่วงก่อนเกิดปัญหาภาคธนาคารสหรัฐฯ ที่ตลาดมองว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 0.50% 

 

“เราคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคในไตรมาส 2 นี้ ซึ่งเร็วขึ้นกว่าประมาณการเดิมที่คาดว่าจะเป็นช่วงต้นปีหน้า โดยตัวแปรสำคัญคือปัญหาในภาคการธนาคารที่จะส่งผลกระทบให้ธนาคารเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น นำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลง” ธัญญลักษณ์กล่าว

 

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า วิกฤตภาคธนาคารของสหรัฐฯ ในรอบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับธนาคารที่มีขนาดใหญ่ แต่เกิดจากช่องโหว่ในกลุ่มธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็ก ทำให้โดยส่วนตัวยังมองว่าทางการสหรัฐฯ ไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายใหม่ เพราะสามารถใช้วิธีเพิ่ม Macroprudential หรือนโยบายที่ใช้เพื่อดูแลและป้องกันความเสี่ยงเชิงระบบได้

 

“การขันน็อตให้แน่นขึ้นเป็นวิธีแก้ปัญหาในระยะยาว แต่ถ้าดูจากความแน่นอนที่ยังมีสูงอยู่ในขณะนี้อาจไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะทำ เพราะจะยิ่งทำให้ตลาดตกใจ ผู้ฝากเงินอาจย้ายเงินจากแบงก์เล็กไปแบงก์ใหญ่จนปั่นป่วนได้อีก นอกจากนี้การขันน็อตยังอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านเครดิต แบงก์ปล่อยสินเชื่อน้อยลง กระทบต่อภาพเศรษฐกิจใหญ่ของสหรัฐฯ ส่วนตัวจึงมองว่า ใช้วิธีดูแลเป็นเคสบายเคสจะเหมาะกว่า” อมรเทพกล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X