×

แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 3/63 ของกลุ่มแบงก์ยังไม่ฟื้นตัว จากการตั้งสำรองสูงและส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง

โดย SCB WEALTH
02.10.2020
  • LOADING...
ผลประกอบการ SCBS SETBANK SET Index

เกิดอะไรขึ้น:

SCBS ได้จัดทำบทวิเคราะห์พรีวิวผลประกอบการไตรมาส 3/63 ของหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มทยอยประกาศผลประกอบการในเดือนตุลาคมนี้

 

กระทบอย่างไร:

นับตั้งแต่ต้นไตรมาส 3/63 จนถึงปัจจุบัน (2 ตุลาคม) ราคาหุ้นธนาคาร (SETBANK) ปรับตัวลง 15.4% แย่กว่า SET Index ที่ปรับตัวลง 8.6% (ข้อมูลราคาปิด ณ เวลา 12.30 น.)

 

มุมมองระยะสั้น:

SCBS คาดว่ากำไรสุทธิไตรมาส 3/63 ของกลุ่มธนาคารโดยรวมจะลดลง 50%YoY และลดลง 10%QoQ โดยสาเหตุหลักๆ มาจากการสำรองจำนวนมากเพื่อรองรับผล NPL ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นหลังจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สิ้นสุดลง ด้านส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Net Interest Margin: NIM) จะลดลงราว 5-10 bps QoQ โดยถูกกดดันจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง 12.5-35 bps ในเดือนพฤษภาคม หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง นอกจาก NIM ยังถูกกันจากมาตรการรวมสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเข้ากับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยทำให้ธนาคารคิดดอกเบี้ยที่ระดับไม่เกิน MRR

 

นอกจากนี้รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย (Non-interest Income: Non-NII) จะลดลง โดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียมซึ่งเกิดจากการจัดชั้นค่าธรรมเนียม Upfront Fee ในการให้สินเชื่อใหม่เป็นรายได้ดอกเบี้ยที่ทยอยรับรู้ตามมาตรฐานบัญชี TFRS9 รวมถึงกำไรจากธุรกรรมเพื่อการค้าและเงินลงทุนมีแนวโน้มที่ลดลงเช่นกัน

 

แต่อย่างไรก็ดี มีเพียงธนาคารสองแห่งที่จะรายงานกำไรสุทธิไตรมาส 3/63 เพิ่มขึ้น QoQ คือ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เนื่องจากธนาคารสองแห่งนี้มีการเร่งตั้งสำรองไว้ค่อนข้างมากในครึ่งปีแรก 2563

 

มุมมองระยะยาว:

ในระยะยาว SCBS ยังคงมีมุมมองเหมือนเดิมว่าผลประกอบการของกลุ่มธนาคารจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในลักษณะ U-Shape โดยคาดว่ากำไรในปี 2563 จะหดตัวลง 35% เนื่องจากการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อซึมซับความเสี่ยงจากคุณภาพสินทรัพย์แย่ลง ขณะที่กำไรในปี 2564 จะยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับปี 2563 เนื่องจากการตั้งสำรองที่ยังคงอยู่ในระดับสูง

 

ในปี 2565 จะเริ่มเห็นการฟื้นตัวของกำไรจากการลดการตั้งสำรองลง แต่จะยังไม่ฟื้นตัวสู่ระดับก่อนโควิด-19 เนื่องจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) จะลดลงเพราะอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ จะปรับขึ้น จนถึงปี 2566 ที่ทิศทางกำไรจะสามารถฟื้นตัวสู่ระดับก่อนโควิด-19 (ปี 2562) โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการตั้งสำรองที่ลดลงอีกเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising