×

ธปท. จับตาเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/63 อาจลบหนักกว่าวิกฤตปี 40 จับตาว่างงานยังแย่ลง

31.07.2020
  • LOADING...
ธปท. จับตาเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/63 อาจลบหนักกว่าวิกฤตปี 40 จับตาว่างงานยังแย่ลง

ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/63 ที่ผ่านมายังหดตัวต่อเนื่อง เบื้องต้นทาง ธปท. คาดว่า GDP จะติดลบที่ 12-13% (ต้องรอตัวเลขจากสภาพัฒน์ในอีก 2 สัปดาห์) ซึ่งอาจติดลบมากกว่า GDP ไตรมาส 2/41 ที่ติดลบ 12.5% ขณะที่เครื่องชี้ต่างๆ ในเดือนมิถุนายนถือว่าหดตัวน้อยลงกว่าเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา 

 

ทั้งนี้ ธปท. ยังคงมุมมองว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวเหมือนช่วงก่อนโควิด-19 ในปี 2565 กำลังซื้อภาคครัวเรือนอ่อน เพราะตลาดแรงงานที่ยังต้องใช้เวลาฟื้นตัวเป็นปี อาจจะปลายปีหน้าหรืออีกสองปีเพราะได้รับผลกระทบรุนแรง  

 

ในภาพรวมต้องติดตามเรื่องการว่างงานอย่างต่อเนื่อง โดยหลายหน่วยงานคาดว่าปีนี้การว่างงานจะเฉลี่ยที่ 5 ล้านคน จากจำนวนแรงงานในไทยกว่า 38 ล้านคน ถือว่าสูงมากและอาจจะหนักกว่าปี 2540 

 

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามตัวเลข GDP ของเดือนมิถุนายนที่จะออกมา หากออกมาดีกว่าที่ประเมินไว้ ทาง ธปท. อาจปรับคาดการณ์ทั้งปีให้หดตัวน้อยลง แต่หากเศรษฐกิจไตรมาส 2/63 ออกมาแย่กว่าที่คาดการณ์ไว้ก็ต้องปรับตัวเลขแย่กว่าเดิม ซึ่ง ในช่วงเดือนกันยายน ทาง ธปท. จะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563 อีกครั้ง โดยต้องจับตาการระบาดในประเทศต่างๆ และคาดว่าไตรมาส 3/63 เป็นจุดตัดสินในเดือนสิงหาคมและกันยายน

 

ทั้งนี้ เครื่องชี้สำคัญทางเศรษฐกิจอย่างการส่งออกรวมเดือนมิถุนายน 2563 อยู่ที่ -24.6% ขณะที่มูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำอยู่ที่ -18.4% หดตัวน้อยลงตามการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นตามภูมิภาค ซึ่งดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา 

 

ขณะที่การท่องเที่ยวเดือนมิถุนายน 2563 ยังไม่ฟื้นตัว เพราะได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ของไทยและต่างประเทศ ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 (นับจากเดือนเมษายน) โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีคาดว่าจะไม่ถึงสิบล้านคนจากปี 2562 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 39 ล้านคน

 

ด้านการบริโภคภาคเอกชนเดือนมิถุนายน 2563 -4.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือว่าหดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนหน้า โดยการใช้จ่ายปรับดีขึ้นในทุกหมวดเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ทำให้ประชาชนออกมาใช้จ่ายมากขึ้น โดยมูลค่าการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและเดบิตภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเมษายน 2563 ที่ติดลบเกือบ 50% 

 

อย่างไรก็ตามการบริโภคภาคเอกชนยังคงหดตัวสูงตามปัจจัยด้านรายได้และความเชื่อมั่นที่ยังคงอ่อนแอ โดยตลาดแรงงานยังเปราะบางเห็นได้จากดัชนีชั่วโมงการทำงานที่หายไปจากการปิดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75 เดือนมิถุนายน 2563 ยังเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจากเดือนเมษายน 2563 โดยเฉพาะหมวดยานยนต์ 

 

นอกจากนี้เครื่องชี้สำคัญของเศรษฐกิจไทยในเดือนมิถุนายน 2563 ได้แก่ 

  • การนำเข้าสินค้าหดตัว 18.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • การลงทุนภาคเอกชนหดตัวที่ 12.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 
  • รายได้เกษตรกรหดตัวที่ 1.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังติดลบต่อเนื่อง เพราะราคาน้ำมันดิบปรับสูงขึ้น ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อที่ติดลบเล็กน้อย มีโอกาสที่ระยะต่อไปจะติดลบน้อยลงและกลับเป็นบวกได้

 

ขณะที่การลงทุนของภาครัฐ ในด้านการใช้จ่ายของภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรายจ่ายประจำเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ส่วนรายจ่ายลงทุนเพิ่มขึ้นตามการเบิกจ่ายของรัฐบาลกลางเพื่อการซ่อมบำรุงถนนเป็นหลัก และการลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัว

 

ส่วนด้านเสถียรภาพด้านดุลบัญชีเดินสะพัดสมดุลเพราะอยู่ที่ -0.2% เพราะ Trade Balance ลดลง และการนำเข้าที่หดตัวน้อยลงมากกว่าการส่งออกที่หดตัวน้อยลงเช่นกัน โดยดุลบริการยังติดลบ ซึ่งปกติในไตรมาส 2 จะมีการส่งออกเงินปันผล และกำไรกลับต่างประเทศ โดยสถานการณ์ปัจจุบันไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา จึงส่งผลต่อดุลบริการไตรมาสให้แย่ลง ขณะที่เงินทุนเคลื่อนย้ายยังเห็นนักลงทุนไทยนำเงินกลับเข้าประเทศผ่านการลดเงินฝาก ลดตราสารในต่างประเทศ (เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเป็นเดือนแรกที่เห็นเม็ดเงินไหลกลับเข้ามาฝั่งตราสารหนี้ ขณะที่ตราสารทุนยังติดลบอยู่)

 

ขณะที่เงินบาทช่วงเดือนมิถุนายน 2563 เงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าเมื่อเทียบกับช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2563 ที่แข็งค่าขึ้น ครั้งนี้เงินบาทยังคงอ่อนค่ากว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาค แม้ว่าสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลง โดย 2 ปัจจัยที่เงินบาทอ่อนค่าลงมาจากข่าวความไม่แน่นอนของทีมเศรษฐกิจ และข่าวการระบาดของโควิด-19 ที่ระยอง 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X